เล่มที่ 23
การผลิตเบียร์
เล่นเสียงเล่มที่ 23 การผลิตเบียร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เบียร์ถือว่า เป็นเครื่องดื่มน้ำเมาชนิดหนึ่ง ที่ต่างจากเหล้าหรือสุรา เพราะว่า เบียร์เกิดจากการหมักส่า วิธีการหมัก จะคล้ายกับกะแช่ของไทย ที่ทำจากน้ำตาลสด หรืออุที่ใช้การหมักข้าวเหนียวกล้อง ส่วนเบียร์ใช้การหมักข้าวบาร์เลย์ (Barley) โดยเริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดข้าวบาร์เลย์ จนเริ่มงอก เกิดเอนไซม์ เปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลเรียกว่า เป็นข้าวมอลต์ (Malt) แล้วจึงนำไปต้มด้วยความร้อนต่ำกับน้ำที่ปรับสภาพจนได้ที่ แป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอีกขั้นหนึ่ง จากนั้นส่วนผสมที่ต้มแล้ว จะถูกส่งผ่านเข้าเครื่องกรอง เพื่อแยกกากข้าวมอลต์ออก เหลือส่วนที่เป็นของเหลว ที่มีน้ำตาลข้าวมอลต์ละลายอยู่ เรียกว่า เวิร์ท (Wort) ซึ่งจะถูกส่งเข้าหม้อต้ม แล้วจึงเติมฮ็อพ (Hop) ซึ่งเป็นดอกของพืชล้มลุก ที่ทำให้เบียร์มีรสขมกลมกล่อม ปลูกกันแพร่หลายมากในทวีปยุโรป

รวงข้าวบาร์เลย์

            เมื่อต้มต่อไปจนได้ที่ จึงนำไปทำให้เย็นลง แล้วกรองแยกกาก และส่วนที่เหลือของฮ็อพออก เพื่อเตรียมเข้าสู่การหมัก ซึ่งต้องอาศัยยีสต์ ที่เป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลข้าวมอลต์ส่วนใหญ่ ให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อหมักได้ที่แล้ว จะนำไปบ่มในถังเก็บ ที่ควบคุมความดัน ในห้องที่เย็นจัด เพื่อให้ยีสต์และโปรตีนจากข้าวมอลต์ ที่ไม่ละลายตกตะกอน

            เมื่อบ่มจนครบกำหนดอายุแล้ว ก็จะนำเบียร์ที่ได้มากรองเอาส่วนที่ตกตะกอนออก เมื่อกรองแล้ว เบียร์ที่ได้ในขั้นนี้ เรียกว่า "เบียร์สด" ส่วนหนึ่งจะบรรจุลงถัง เพื่อส่งไปบริการผู้นิยมเบียร์สด อีกส่วนหนึ่งจะนำไปบรรจุขวด แล้วผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรค หรือพาสเจอร์ไรเซชั่น (Pasteurization) เมื่อปิดฉลากแล้ว ก็พร้อมที่จะส่งให้ผู้บริโภค


เมล็ดข้าวมอลต์

            กรรมวิธีการผลิตเบียร์แต่ละชนิดจะแตกต่างกันที่ขั้นตอน ตัวอย่างเช่น เบียร์ที่เรียกว่า ลาเกอร์ (Lager) ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า "เก็บรักษา" นั้น เป็นเบียร์ที่เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการหมักแล้ว จะต้องเก็บรักษาไว้ในห้องที่มีความเย็นต่ำไว้อีกระยะหนึ่ง จึงจะนำมากรอง และสามารถดื่มได้อร่อย เบียร์ที่ขายกันทั่วโลก ประมาณ ๙๐% เป็นเบียร์ลาเกอร์ การผลิตเบียร์ลาเกอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์เพียง ๓-๕ เปอร์เซ็นต์ จะมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้ปรุงเบียร์ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า บรูมาสเตอร์ (Brewmaster) และความนิยมของท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้จึงมีเบียร์ประจำท้องถิ่น หรือประจำชาติเกิดขึ้น เช่น เบียร์ซานมิเกล (San Miguel) ของฟิลิปปินส์ เบียร์ซิงเตา (Tsingtao) ของจีน เบียร์ลาวของลาว เบียร์สิงห์ของไทย เป็นต้น ซึ่งเบียร์ของแต่ละชาติ จะมีรสแตกต่างกันไป


เมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่งอกแล้ว

            พระยาภิรมย์ภักดีเขียนไว้ในประวัติโรงเบียร์บุญรอดว่า "ด้วยการทำเบียร์เป็นเรื่องใหญ่ ข้าพเจ้ายังไม่เคยรู้เห็น จึงได้เที่ยวสืบสวนต่อไปอีก จนเป็นที่แน่ใจ วันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงได้ทำหนังสือขออนุญาต ตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์ ในพระนคร ยื่นต่อเสนาบดีกระทรวงพระคลัง..." พระยาภิรมย์ภักดีไม่ได้มีความรู้เรื่องการผลิตเบียร์มาก่อน จึงต้องศึกษาค้นคว้า จนแน่ใจว่า สามารถผลิตเบียร์ ในสภาพอากาศและน้ำอย่างในประเทศไทยได้ ท่านจึงดำเนินการขออนุญาต และซื้อเครื่องจักรต่อไป อุปสรรคในการสร้างโรงเบียร์มีนานัปการ แต่ท่านก็มีความอุตสาหะฟันฝ่ามา จนทำได้สำเร็จ และในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน มาทอดพระนครการลงเสาเข็มคอนกรีตตึกโรงเบียร์ ด้วยเครื่องจักร ทรงซักถามถึงกิจการต่างๆ จนทั่วถึง แล้วจึงเสด็จฯ กลับ


เมล็ดข้าวสาลี

            นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่พระยาภิรมย์ภักดี ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงเอาพระทัยใส่อย่างแท้จริง นอกเหนือจากพระราชดำรัส ที่ทรงให้ไว้ เมื่อพระยาภิรมย์ภักดีได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนตัว ณ พระราชวังสุโขทัย บ่ายวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่า "ทรงโปรดดื่มเบียร์เหมือนกัน ถ้าทำออกขายได้ จะเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ป้องกันเงินไว้ในประเทศได้ส่วนหนึ่ง จะทรงช่วยเหลือตามควร"



สัญลักษณ์สากลของผู้ผลิตเบียร์

            บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ทั่วราชอาณาจักรมานาน เป็นระยะเวลาประมาณ ๖๐ ปีแล้ว และยังคงครองส่วนใหญ่ของส่วนแบ่งตลาดอยู่ แม้ว่าจะมีผู้ผลินรายอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก ๔-๕ ราย นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ เป็นต้นมา


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมชมโรงเบียร์บุญรอด ที่สามเสน
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลา ๑๖.๐๐ น.

            อุตสาหกรรมเบียร์ในทวีปเอเชีย เมื่อพัฒนามาถึงจุดอิ่มตัว ในทศวรรษที่ผ่านมา ก็เริ่มหันเหจากเบียร์อุตสาหกรรม ที่มีรสดั้งเดิม มาสู่การปรุงเบียร์รสใหม่ๆ จากโรงเบียร์ขนาดเล็ก เรียกกันว่า ไมโครบริวเวอรี่ (MicroBrewery) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน นอกจากนี้ ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ยังรับเอาวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ของชาวเยอรมัน ที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ ๑๙ คือ ในวันที่มีอากาศดี ครอบครัวชาวเยอรมัน จะมานั่งดื่มเบียร์ในสวน แกล้มอาหารอร่อยๆ เคล้าเสียงเพลงเร้าใจ ซึ่งต่อมาวัฒนธรรมนี้ เป็นที่รู้จักกัน ในลักษณะของเบียร์การ์เด้น (Beer Garden) ซึ่งเบียร์การ์เด้นที่จัดได้ใหญ่ที่สุด และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก คือ เบียร์การ์เด้นในเทศกาลออคโทเบอร์เฟสต์ (Octoberfest) โดยจะจัดปลายเดือนกันยายนของทุกปี ที่เมืองมิวนิค (Munich) ประเทศเยอรมนี สำหรับในประเทศไทย เบียร์การ์เด้นมักนิยมจัดกันในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม คือ ในช่วงที่อากาศเริ่มเย็น และฝนไม่ค่อยตก


เบียร์การ์เด้นในประเทศไทย

            อย่างไรก็ตาม เบียร์ยังเป็นเครื่องดื่มที่เข้ากันได้ดีกับอาหารทุกชนิด ทุกฤดูกาล จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายตลอดมา และคาดว่า จะเป็นเครื่องดื่มที่ครองใจเหล่านักดื่มไปอีกนาน


เบียร์การ์เด้นในประเทศเยอรมนี