เล่มที่ 23
การละเล่นพื้นเมือง
เล่นเสียงเล่มที่ 23 การละเล่นพื้นเมือง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การละเล่นพื้นเมือง คือ การละเล่นที่แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ตามลักษณะพื้นที่ของประเทศ เป็นกิจกรรมบันเทิง ที่ประกอบด้วยการแสดง มหรสพ กีฬา และนันทนาการ


การฟ้อนเล็บของภาคเหนือ

            การแสดง คือ การละเล่น ทั้งที่เป็นแบบแผน และเป็นการแสดงทั่วไปของชาวบ้านในรูปของการร้อง การขับ การบรรเลง การฟ้อนรำ ประกอบด้วยเพลง ดนตรี และนาฏศิลป์

            มหรสพ คือ การแสดงที่จะต้องขออนุญาตจากฝ่ายบ้านเมืองก่อนจัดแสดง ซึ่งกำหนดเป็นพระราชบัญญัติไว้หลายอย่างคือ ละครไทย ละครชาตรี ละครแขก งิ้ว หุ่นไทย หุ่นจีน หุ่นต่างๆ หนังไทย หนังตะลุง หนังแขก หนังจีน หนังต่างๆ เพลงสักวา เสภา ลิเก กลองยาว ลาวแพน มอญรำ ทวายรำ พิณพาทย์ มโหรี กลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด

            ส่วนกีฬาและนันทนาการ คือ การละเล่นเพื่อความสนุกสนาน เล่นตามฤดูกาล อาจเป็นการแข่งขัน หรือกิจกรรม ที่ทำตามความสมัครใจ การละเล่นสามารถจำแนกออกได้ ๓ ลักษณะคือ การเล่นเพลงและระบำรำฟ้อน ๑ การเล่นเข้าผี ๑ กีฬาและนันทนาการ ๑ คือ


ฟ้อนภูไทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


การเล่นเพลงและการระบำรำฟ้อน

            เกิดขึ้นพร้อมกับสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทย สังคมไทยภาคกลาง มักจะช่วยเหลือเกื้อกูล ในการทำงานด้วยกัน เช่น การดำนา การเกี่ยวข้าว การนวดข้าวระหว่างช่วยกันทำงาน จะผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยด้วยการละเล่นต่างๆ ทั้งการร่ายรำ การเกี้ยวพาราสี และการโต้ตอบคารมในเชิงกลอน ทำให้เกิดการละเล่น เช่น การเล่นเพลง ได้แก่ เพลงนา เพลงสงฟาง เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงชักกระดาน เพลงพาดควาย เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงเหย่อย ฯลฯ การละเล่นในภาคเหนือจะเป็นเรื่องของการฟ้อน มักจะเล่นในงานบุญ ได้แก่ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง หรือการเล่นกลองสะบัดชัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นการฟ้อนและการรำ เช่น รำแคน ฟ้อนภูไท รำโทน ส่วนในภาคใต้ จะประกอบด้วยการละเล่น เช่น หนังตะลุง เพลงเรือ เพลงบอก เป็นต้น

การเล่นเข้าผี

            เป็นการเชื้อเชิญวิญญาณ สิ่งที่ประสงค์จะให้เข้าทรงผู้ใดผู้หนึ่งให้เป็นสื่อ เพื่อความสนุกสนานในรูปแบบต่างๆ เล่นกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชายมักเล่นในช่วงเวลาตรุษสงกรานต์ แต่ละภาคจะแตกต่างกันไปตามประเพณี และความเชื่อ

            ภาคกลาง ได้แก่ การเล่นแม่ศรี ลิงลม ผีกะลา ผีนางกวัก

            ภาคใต้ เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า เล่นเชื้อ โดยเชิญผีสัตว์เข้ามาร่วมสนุก ได้แก่ ผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดง

            ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นการฟ้อนเชิญผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย มาไหว้ตามประเพณี มีการเล่นผี เหมือนอย่างภาคกลาง

ส่วนกีฬาและนันทนาการ

            เป็นการละเล่นที่มีอยู่ทุกภาค ได้แก่ กระบี่กระบอง ว่าว วิ่งเปี้ยว สะบ้า ชนวัว วิ่งวัวคน