เล่มที่ 40
เห็ด
เล่นเสียงเล่มที่ 40 เห็ด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะทั่วไปของเห็ด

            ทุกคนคงเคยเห็นอาหารขึ้นราที่มีเส้นใยฟูๆ ลักษณะคล้ายสำลีเกาะอยู่บนผิวของอาหาร หรือรู้จักเห็ดบางชนิดกันบ้างแล้ว เส้นใยฟูๆ และเห็ดเหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกรา แต่เดิมราทุกชนิดถูกจัดไว้ในอาณาจักรฟังไจ (Fungi) ปัจจุบัน ราในอาณาจักรฟังไจเหลือเพียง ๕ ไฟลัม (phylum) เห็ดก็จัดอยู่ในอาณาจักรฟังไจเช่นกัน โดยอยู่ในไฟลัมเบซิดิโอไมโคตา (Basidiomycota) ซึ่งเป็นกลุ่มราที่ภายในเส้นใยมีผนังกั้นตามขวาง และสร้างสปอร์แบบอาศัยเพศที่มีชื่อเรียกว่า เบซิดิโอสปอร์ (basidiospore) ราในกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันดีตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๘ เนื่องจากเป็นกลุ่มราที่สร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น เห็ดชนิดต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ในป่า เห็ดที่เพาะเลี้ยงเพื่อนำมารับประทานเป็นอาหาร 


เห็ดป่าที่วางขายอยู่ริมถนนและในตลาด

            เห็ดและราหลายชนิดมีบทบาทสำคัญมากในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุคาร์บอนและแร่ธาตุอื่นๆ มีการประมาณว่าสามารถหมุนเวียนสารอินทรีย์ได้ถึงหนึ่งล้านตันต่อปี ในระบบนิเวศป่าไม้ เห็ดนอกจากจะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุแล้ว ยังมีเห็ดกลุ่มที่อยู่ร่วมกับรากของไม้ป่าที่มีชีวิตในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เรียกว่า เห็ดเอกโทไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal mushroom) เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมโดยเฉพาะในฤดูฝน เส้นใยของเห็ดที่อยู่ในดินจะมีการพัฒนาเติบโตเป็นดอกเห็ดชูขึ้นมาเหนือดิน ชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ป่า นิยมเก็บเห็ดป่า มารับประทาน ดังจะพบเห็นการนำเห็ดป่ามาวางขายอยู่ริมถนนและในตลาด แต่การรับประทานเห็ดป่าเหล่านี้มีความเสี่ยง เพราะอาจไปเก็บเอาเห็ดพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเห็ดที่รับประทานได้ปะปนมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงมีรายงานข่าว ตามสื่อต่างๆ เป็นประจำทุกปีว่า มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการรับประทานเห็ดพิษ



ข้าวสารที่เกิดเชื้อรา ทำให้เน่าเสีย

ประโยชน์และโทษของเห็ด

            การศึกษาเห็ดในธรรมชาติ เพื่อจำแนกชนิดตามหลักวิชาการมีผู้ศึกษากันมาก การถ่ายภาพเห็ดนอกจากในเชิงวิชาการแล้ว ยังมีผู้นิยมถ่ายภาพเห็ดเพื่อความสวยงามและเป็นกิจกรรมนันทนาการอย่างหนึ่ง มีการนำเห็ดที่รับประทานได้และมีรสชาติดี มาเพาะเลี้ยงจนเป็นเห็ดเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างรายได้อย่างมากมายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ด ราในอาณาจักรฟังไจไฟลัมอื่นๆ ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากเช่นกัน เป็นต้นว่า การค้นพบสารปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (penicillin) จากราเพนิซิลเลียม โนเทตัม (Penicillium notatum) การศึกษาทางพันธุกรรมโดยใช้รานิวโรสปอรา (Neurospora) เป็นเชื้อตัวอย่าง เนื่องจากเป็นราที่มีการสืบพันธุ์แบบสมบูรณ์เพศและมีวงจรชีวิตสั้น การผลิตเอนไซม์ชนิดต่างๆ ที่มีประโยชน์ทางอุตสาหกรรม และการผลิตสารที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากเห็ดและรา


ภาพเปรียบเทียบเปลือกส้มที่เกิดเชื้อรา ส้มจะเน่าเสีย (ซ้าย) และส้มที่ไม่เกิดเชื้อรา (ขวา)

            เห็ดและรานอกจากมีประโยชน์แล้ว เห็ดและราอีกหลายชนิดที่มีโทษ เช่น ทำให้อาหารเน่าเสีย ก่อให้เกิดโรคทั้งแก่พืชและสัตว์ โรคพืชที่เกิดจากราทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล สามารถเข้าทำลายพืชขณะที่กำลังเติบโตและทำลายผลิตผล หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ราในเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ นั้น นอกจากทำให้ผลผลิตเสียหายแล้ว ราบางชนิดยังสร้างสารพิษที่ร้ายแรง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) บางชนิดก่อให้เกิดโรคในคน ตั้งแต่โรคผิวหนังซึ่งไม่ร้ายแรง จนถึงโรคร้ายแรงที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่น ไข้สมองอักเสบจาก Cryptococcus neoforman