เล่มที่ 40
ไข้ออกผื่น
เล่นเสียงเล่มที่ 40 ไข้ออกผื่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ไข้ออกผื่นมีหลายชนิดและมีอาการเริ่มเป็นคล้ายกัน เชื้อโรคหรือไวรัสบางตัวก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยแล้วก็หายไป เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง บางตัวเป็นนานกว่า แต่เมื่อเป็นแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีกตลอดชีวิต แต่บางรายเมื่อเป็นแล้วจะเกิดอาการแทรกซ้อน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจถึงแก่ชีวิตได้

            ไข้ออกผื่นในอดีตที่ผู้คนเป็นกันมาก เพราะยังไม่มีการผลิตยาป้องกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากคือ ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ แต่เมื่อมีการผลิตวัคซีนและปลูกฝีป้องกันโรคซึ่งได้ผลดี ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดน้อยลงเรื่อยๆ ในประเทศไทย การปลูกฝี เริ่มในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งสามารถป้องกันได้มาก และมีการกวาดล้างจนโรคนี้หมดไปได้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศการกวาดล้างไข้ทรพิษทั่วโลกสำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๒๒

ชนิดของไข้ออกผื่น

            การรู้จักชื่อและอาการของไข้ออกผื่นไว้บ้าง จะทำให้เข้าใจโรค สาเหตุของการเป็นโรค อาการ และการติดต่อ เพื่อจะได้รู้จักระมัดระวังและป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคเหล่านี้ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา ตลอดจนผู้ดูแล จะช่วยให้อาการของโรคลดน้อยลงและหายเป็นปกติได้โดยเร็ว ทั้งยังช่วยไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรค


ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสมีผื่นเป็นตุ่มน้ำใส
กระจายทั่วตัวมากน้อยไม่เท่ากัน

๑. โรคอีสุกอีใส

            เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา ไวรัสชนิดนี้ ก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น แพร่ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน หรือห้องเดียวกัน การแพร่เชื้อจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้น ๑-๒ วัน ต่อมา ตุ่มจะแห้ง เป็นสะเก็ด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และเบื่ออาหาร จากนั้นตามผิวหนังจะมีตุ่มแดง แล้วกลายเป็นน้ำใส ต่อมา กลายเป็นหนองและแห้งดำเป็นสะเก็ด ผื่นจะขึ้นหนาแน่นบริเวณใบหน้า และลำตัว เด็กที่เป็นโรคนี้มักมีอาการไม่มาก ส่วนใหญ่ยังวิ่งเล่นได้ แม้กำลังมีตุ่มขึ้น ถ้าผู้ใหญ่เป็นอาจมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก เมื่อหายแล้ว จะเกิดภูมิคุ้มกันโรคนี้ตลอดไป

๒. โรคงูสวัด

            เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส อาการเริ่มเป็นจะไม่รุนแรง แต่บางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นผล ทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียบนผื่นที่ผิวหนังทำให้เป็นหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกอักเสบ หรือปอดอักเสบ และเชื้ออาจจะรุกรานเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่ปอด ตับ หรือเกิดสมองอักเสบได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ไวรัสบางส่วนหลบซ่อนตัวตามบริเวณปมประสาทของไขสันหลัง โดยไม่แสดงอาการ แต่หากร่างกายอ่อนแอจากเหตุใดก็ตาม เชื้อที่ซ่อนอยู่จะถูกกระตุ้นให้ก่อโรคงูสวัด ผื่นของโรคงูสวัดจะมีลักษณะคล้ายอีสุกอีใส แต่จะเกิดเฉพาะบริเวณที่เส้นประสาทของปมประสาทนั้นแผ่ไป และเนื่องจากปมประสาทที่สันหลังจะมี ๒ ข้าง โดยแต่ละข้าง จะมีเส้นประสาทแผ่ไปถึงเพียงกึ่งกลางของร่างกาย ผื่นจากโรคนี้ จึงมักเป็นเพียงซีกเดียวของร่างกาย การเกิดงูสวัด ของปมประสาทในระดับเดียวกันทั้ง ๒ ข้างในเวลาเดียวกันซึ่งทำให้ผื่นขึ้นรอบตัวมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก


ผื่นของโรคงูสวัดมีลักษณะคล้ายผื่นโรคอีสุกอีใส แต่เกิดเฉพาะบริเวณเส้นประสาทของปมประสาท

๓. โรคหัด

            เป็นเชื้อที่ก่อโรคเฉพาะกับมนุษย์ เชื้อนี้ปะปนอยู่ในน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และกระแสเลือด หลังจากรับเชื้อประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ตาแดง ตาสู้แสงสว่างไม่ได้ น้ำมูกไหล และไอ หลังจากมีไข้ ๒-๔ วัน จะเริ่มปรากฏผื่นที่ผิวหนังบริเวณไรผม หน้าผาก และหลังหู แล้วกระจายไปทั่วบริเวณคอ ลำตัว แขน และขา ผื่นจะขึ้นหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า คอ และกระจายห่างๆ ตามบริเวณแขนและขา เมื่อหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต เช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส




ผื่นโรคหัด

๔. โรคหัดเยอรมัน

            มีอาการไข้และมีผื่นขึ้นคล้ายโรคหัด แต่มีความรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อยกว่า แพทย์ชาวเยอรมันเป็นคนแรก ที่ให้คำอธิบายว่า เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากหัด จึงเรียกว่า โรคหัดเยอรมัน เพื่อเป็นการให้เกียรติ ในประเทศไทย มีชื่อเรียก อีกชื่อหนึ่งว่า "เหือด" ข้อสังเกตคือ จะเกิดผื่นขึ้นในวันเดียวกับที่มีไข้ และหายภายใน ๓-๖ วัน



ส่าไข้หรือไข้ผื่นกุหลาบ
มีผื่นเล็กๆ นูนเล็กน้อย

๕. ส่าไข้หรือผื่นกุหลาบ

            ติดต่อทางลมหายใจ และได้รับละอองเสมหะจากผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อ ประมาณ ๒ วันจะมีอาการไข้และเริ่มปรากฏผื่นเมื่อไข้ลด โรคนี้ มักเกิดกับทารกและเด็กเล็ก การติดต่ออีกทางหนึ่งคือ อาจผ่านทางของเล่น ที่ผู้ป่วยหยิบใส่ปาก หรือผ่านทางมือของผู้ดูแล ที่สัมผัสกับผู้ป่วย แล้วไปจับเด็กที่ไม่ได้เป็นโดยไม่ได้ล้างมือ มักจะติดต่อระหว่างเด็ก ที่อยู่บ้านเดียวกัน หรือเด็กที่เลี้ยงร่วมกัน

๖. ไข้อีดำอีแดง

            พบบ่อยในเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี เชื้อนี้อาศัยอยู่ในลำคอของผู้ป่วย ติดต่อทางการหายใจ หรือได้รับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรด หรือโดยการสัมผัสกับน้ำลายหรือเสมหะของผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ในลำคอ หลังรับเชื้อ ๑-๗ วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามตัว อาจมีการอาเจียนและปวดท้องร่วมด้วย ต่อมทอนซิลในลำคอ จะมีสีแดงช้ำ บวมและอาจมีหนอง ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ หลังจากนั้น ๑๒-๔๘ ชั่วโมง เริ่มมีผื่นแดงที่คอ อก รักแร้ ลำตัว และแขนขา ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ เมื่อคลำดูจะรู้สึกสากมือเหมือนกระดาษทราย ลิ้นมีฝ้าขาว และมีตุ่มแดงๆ กระจายตามลิ้นเหมือนลูกสตรอว์เบอร์รี




ผื่นโรคไข้อีดำอีแดงจะสากเหมือนกระดาษทราย

๗. โรคมือ เท้า ปาก

            พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อโดยการสัมผัสน้ำจากตุ่มใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย แพร่เชื้อผ่านของเล่นที่เด็กนำใส่ปาก เชื้อนี้ จะอยู่ในอุจจาระหลายสัปดาห์ แม้ว่าหายแล้ว เชื้อก็ยังคงขับถ่ายออกมา ผู้ดูแลเด็กที่ป่วยอาจสัมผัสเชื้อได้ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม เป็นกันมากในฤดูฝน ภายหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร เจ็บคอ หลังจากนั้น ๑-๒ วันจะเริ่มมีจุดแดงๆ ในปาก ต่อมาเป็นเม็ดพองใส ไม่คัน พบมากบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เด็กจะมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ประมาณ ๒-๓ วันก็จะหายเอง ผื่นจะค่อยๆ หายไปภายใน ๗-๑๐ วัน


โรคมือ เท้า ปาก มีจุดแดงๆ ในปาก และมีผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

๘. โรคไข้เลือดออก

            โรคนี้มียุงลายเป็นผู้นำเชื้อ (พาหะ) เมื่อถูกยุงกัด เด็กจะมีไข้ หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดกระบอกตา ประมาณ ๓-๕ วัน หากรัดที่ต้นแขนจะเห็นจุดเลือด ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะหายเองภายใน ๕-๗ วัน แต่หากมีโรคแทรกซ้อน อาจถึงตายได้ การรักษาและติดตามอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดความรุนแรงของโรคได้