กำเนิดนกเงือก
นกเงือกในโลกมี ๕๔ ชนิด พบในแถบทวีปแอฟริกาและเอเชียเท่านั้น นกเงือกแอฟริกันมีขนาดใหญ่มาก อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าสะวันนา เรียกว่า นกเงือกพื้นดิน ถือกำเนิดเมื่อ ๕๐ ล้านปี พบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) กลางสมัยไมโอซีน ที่ประเทศโมร็อกโก ส่วนนกเงือกเอเชียที่เรียกว่า นกชนหิน เป็นนกเงือกที่ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า ๔๕ ล้านปี ซึ่งพทางตอนใต้ ของประเทศไทย และจากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของนกชนหินที่พบในประเทศเวียดนาม อยู่ในยุคควอเทอร์นารี แสดงว่า นกชนหินเคยมีการกระจายขึ้นมาสูงถึงคาบสมุทรอินโดจีน ปัจจุบันนี้มีการแพร่กระจายจำกัดอยู่เพียงเขตซุนดาแลนด์ ได้แก่ เกาะสุมาตรา คาบสมุทรมลายู ซึ่งรวมถึงตอนใต้สุดของประเทศไทย เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว
นกเงือกในยุคปัจจุบัน
นกเงือกที่พบในโลกปัจจุบันแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑) นกเงือกพื้นดิน มี ๒ ชนิด อาศัยในทุ่งหญ้าสะวันนาของทวีปแอฟริกา กินสัตว์เป็นอาหาร ทำรังในโพรงไม้แต่ไม่ปิดโพรง
๒) นกเงือกทำรังปิด มีทั้งสิ้น ๕๒ ชนิด เมื่อทำรังจะปิดปากโพรง เหลือเพียงช่องแคบๆ พบในป่าดิบและทุ่งหญ้าสะวันนา เขตร้อน ของทวีปแอฟริกา ๒๑ ชนิด และในป่าดิบของทวีปเอเชีย ๓๑ ชนิด ซึ่งเป็นนกเงือกป่าเกือบทั้งสิ้น กลุ่มนี้ กินผลไม้เป็นส่วนใหญ่
ลักษณะเด่นของนกเงือก
๑. นกเงือกมีโหนกขนาดใหญ่โค้งอยู่เหนือจะงอยปาก โหนกมีรูปร่างและขนาดต่างๆ กัน โหนกของนกเงือกส่วนใหญ่เป็นโพรง ยกเว้นโหนกของนกชนหินที่ตันคล้ายงาช้าง
๒. นกเงือกไม่มีขนคลุมใต้ปีก เมื่อกระพือปีกติดต่อกันจึงเกิดเสียงดังมาก เกิดจากอากาศผ่านช่องโหว่ตรงโคนขนปีก
๓. เพศเมียทำรังอยู่ในโพรงไม้ แล้วปิดขังตัวเองอยู่ภายในโพรง ออกไข่ กกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกอยู่ข้างใน เพศเมียปิดปากโพรงเหลือเพียงช่องแคบๆ ให้เพศผู้ส่งอาหารผ่านเข้ามาได้เท่านั้น
สรีระภายนอกของนกเงือก
ส่วนต่างๆ ของร่างกายนกเงือกมีชื่อเรียกดังแสดงในภาพ
สรีระของนกเงือก
นกเงือกไทย
ประเทศไทยมีนกเงือก ๑๓ ชนิด ได้แก่ นกกก มีขนาดใหญ่ที่สุด วัดจากปลายปากถึงปลายหาง ๑๒๐-๑๕๐ เซนติเมตร นกเงือกหัวแรด นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกเงือกคอแดง นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกดำ นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกสีน้ำตาล และนกแก๊ก ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดคือ ๖๐-๖๕ เซนติเมตร แบ่งกลุ่มนกเงือกตามลักษณะของโหนกได้ดังนี้
ฤดูทำรังเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม-พฤษภาคม นกเงือกทำรังในโพรงไม้ โดยไม่สามารถเจาะเองได้ นกคู่ผัวเมียจะเสาะหาโพรงรังตามต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยโพรงรังอยู่สูงประมาณ ๒๐-๓๐ เมตรจากพื้นดิน เมื่อได้โพรงรังแล้ว เพศเมียจะเข้าไปทำความสะอาดแล้วปิดปากโพรง โดยใช้มูลของตัวเองผสมกับเศษอาหารที่ขย้อนออกซึ่งมีลักษณะเหนียว ใช้เวลาปิดปากโพรงประมาณ ๓-๗ วัน อีก ๑ สัปดาห์จึงออกไข่ ๒-๓ ฟอง ระยะเวลากกไข่ของนกเงือกขนาดเล็กใช้เวลา ๒๕-๒๗ วัน ขนาดใหญ่ ๔๐-๔๕ วัน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจะเลี้ยงลูกอยู่ในโพรงอีกประมาณ ๒-๒๑-๒ เดือน โดยเลี้ยงลูกได้ ๑-๓ ตัวแล้วแต่ชนิด และอยู่ในโพรงไม้ตลอด นกเงือกเพศผู้ต้องหาอาหารเลี้ยงครอบครัวนาน ๓-๔ เดือน ดังนั้น นกเงือกเพศเมียและลูกนกจึงมีชีวิตขึ้นกับนกเงือกเพศผู้ นกเงือกกินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร แต่กินผลไม้เป็นอาหารหลัก เกินร้อยละ ๕๐ เช่น ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นกเงือกกรามช้างกินผลไม้ร้อยละ ๙๕ เมื่อลูกนกโตพอที่จะออกจากโพรงรังได้ แม่นกจะกะเทาะปากโพรงออก และบินออกสู่โลกภายนอก เป็นการเริ่มฤดูรวมฝูงในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม การรวมฝูงนี้เป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะการช่วยกันหาแหล่งอาหาร การเฝ้าระวังศัตรู และอาจรวมไปถึงการจับคู่ด้วย ฝูงนกเงือกมีทั้งฝูงขนาดใหญ่และฝูงขนาดเล็ก นกเงือกกรามช้างรวมฝูงหลายร้อยตัว ส่วนนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวรวมฝูงไม่เกิน ๘๐ ตัว ศัตรูของนกเงือกคือ หมาไม้ และหมีขอ
วัฎจักรชีวิตของนกเงือก
นกเงือกนักปลูกป่า
นกเงือกมีปากขนาดใหญ่มาก สามารถเก็บกินผลไม้ได้หลายชนิดและหลายขนาด โดยเลือกเก็บเฉพาะผลสุกซึ่งมีเมล็ดที่สมบูรณ์ และยังกักตุนได้คราวละหลายผล ในขณะกำลังบินหรือเกาะพักตามต้นไม้ ก็จะขย้อนเมล็ดออกทิ้งทีละเมล็ดหรือสองเมล็ด นกเงือกบินเป็นระยะทางไกลครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก โดยเฉพาะนอกฤดูทำรัง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ไม้ ออกไป เสมือนเป็นการบริการเพาะกล้าไม้และปลูกป่า ที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ คือมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้
นกเงือกเลือกเก็บกินผลไม้เฉพาะผลสุก
การอนุรักษ์นกเงือก
ปัจจัยที่คุกคามนกเงือกนอกจากมนุษย์แล้ว นกเงือกยังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนโพรงรัง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะนกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงรังได้เอง ฉะนั้น โพรงรัง จึงเป็นปัจจัยที่จำกัดการขยายพันธุ์ของนกเงือก การขาดแคลนโพรงรังเนื่องจากการสูญเสียต้นไม้ที่มีโพรงรังจากพายุ ที่พัดต้นหัก มีอัตราสูง ถึงร้อยละ ๒๐ นอกจากนี้ยังมีโพรงรังที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งบ่งชี้ว่าโพรงรังเหล่านั้นหมดสภาพแล้ว มีอัตราสูงถึงร้อยละ ๗๐ คณะวิจัยพบสาเหตุจากพื้นโพรงทรุดร้อยละ ๕๐ ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการผุพังตลอดเวลา ทำให้พื้นโพรงทรุดลงไปเรื่อยๆ การแก้ปัญหาพื้นโพรงทรุดคือการถมดิน และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ปากโพรงปิดหรือแคบลงร้อยละ ๔๐ เพราะว่า ต้นไม้ที่มีโพรงรัง แม้ว่าจะมีไส้เน่าเปื่อยจากเชื้อรา แต่เนื้อไม้ส่วนเปลือกยังมีชีวิต เนื้อเยื่อยังเจริญเติบโต จึงต้องถากเปิดออก เมื่อโพรงรังสภาพดีมีอยู่น้อย ทำให้เกิดการแก่งแย่งโพรง ซึ่งพฤติกรรมนี้บ่งชี้ได้ว่า เกิดการขาดแคลนโพรงรัง เป็นอุปสรรคในการทำรังของนกเงือก การซ่อมแซมโพรงรังและปรับปรุงโพรงไม้ธรรมชาติ ให้สามารถใช้เป็นโพรงรัง ทำให้เพิ่มโพรงรังแก่นกเงือกได้อีกร้อยละ ๓๐ เป็นการเพิ่มโอกาสให้นกเงือกได้ขยายพันธุ์
การปรับปรุงโพรงไม้ธรรมชาติ เพื่อให้นกเงือกใช้เป็นโพรงรัง เป็นการอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่ป่า
นกเงือกมีบทบาทสำคัญในป่าคือ เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ที่ดี และทำให้มีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ป่ามาก อีกทั้งยังกินสัตว์ขนาดเล็ก จึงช่วยรักษาสมดุลของป่าทำให้ป่านั้นสมบูรณ์ นกเงือกบินครอบคลุมและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า กว้างมาก ดังนั้น หากอนุรักษ์นกเงือกไว้ในป่าที่กว้างขวางก็สามารถอนุรักษ์สัตว์และพืชอื่นๆ ได้อีกมาก นอกจากนี้ นกเงือก ยังเป็นสัตว์ที่ชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า และเป็นสัตว์ที่มีความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจของคนทั่วไป