การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพให้ได้ผลดี จำเป็นต้องทราบหลักการเกิดโรคพืชหรือสามเหลี่ยมโรคพืช และหลักการป้องกันกำจัดโรคพืชประกอบกัน เพื่อจะได้นำไปใช้สนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพและทำลายเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ความเสียหายของโรคลดลง จนไม่มีผลกระทบหรือมีผลเสียหายทางเศรษฐกิจ
หลักการเกิดโรคพืชหรือสามเหลี่ยมโรคพืช
ในธรรมชาติ การที่พืชหรือต้นไม้เป็นโรคเกิดจากปัจจัยสำคัญ ๓ ประการ ประกอบเข้าด้วยกัน คือ สาเหตุของโรค พืชที่อ่อนแอ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดโรค เมื่อใดที่มีปัจจัยดังกล่าวครบทั้ง ๓ ประการ พืชก็จะเป็นโรค กระบวนการนี้ จึงนิยมเรียกกันว่า สามเหลี่ยมโรคพืช
เราสามารถนำหลักการของสามเหลี่ยมโรคพืชมาใช้ในการจัดการหรือการควบคุม ไม่ให้พืชเป็นโรค โดยการควบคุมทั้ง ๓ ปัจจัย ได้แก่ ควบคุมไม่ให้มีสาเหตุของโรคพืช ควบคุมไม่ให้พืชอ่อนแอ และควบคุมสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะกับการเกิดโรค การควบคุมโรคมีหลายวิธี อาจใช้วิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกันก็ได้ หากใช้หลายวิธีร่วมกันเรียกว่า การควบคุมโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้วยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
ผลผลิตกะหล่ำปลีที่เสียหายจากการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียโรคเน่าเละ
โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตและพบบ่อยๆ คือ โรคขาดธาตุอาหารต่างๆ ทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง หากพืชขาดธาตุอาหารดังกล่าว จะทำให้พืชมีผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ การจัดการโรคพืชที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร กระทำได้ง่าย โดยการใส่ธาตุอาหารที่ขาดให้แก่พืชตามปริมาณที่พืชต้องการ พืชก็สามารถนำธาตุอาหารดังกล่าวไปใช้ และมีการเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตามปกติ แต่ถ้าเป็นโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต การจัดการโรคพืชจะทำได้ยากกว่า เนื่องจากเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคแต่ละชนิดทั้งที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และเชื้อไวรอยด์ ต่างมีวิธีการจัดการโรคที่แตกต่างกัน เราจึงต้องเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับเชื้อสาเหตุ ของโรคแต่ละชนิด นอกจากนี้โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตจะพบมาก และมีการแพร่ระบาดทำความเสียหายให้แก่พืชมากกว่าโรคพืช ที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เกษตรกรจึงต้องมีวิธีการจัดการโรคดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จ ในการผลิตพืชดังกล่าว แต่เกษตรกรไทยที่เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือชาวสวน ต่างมีปัญหาโรคเข้าทำลายพืชที่ปลูก ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดใด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจ ถึงวิธีการป้องกันกำจัดโรคพืช โดยวิธีการต่างๆ ที่เรียกรวมๆ ว่า หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช
หลักการป้องกันกำจัดโรคพืช
มี ๖ วิธีการ คือ
๑. การหลีกเลี่ยงโรค
หมายถึง การจัดการปลูกพืชโดยหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่มีสภาพแวดล้อมที่ง่ายต่อการเกิดโรค หรือช่วงที่มีโรคระบาด เช่น ปลูกในฤดูฝนที่มีความชื้นสูงเหมาะต่อการเกิดโรค ปลูกในพื้นที่ที่มีเชื้อโรคระบาดมาก่อน หรือปลูกในที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นหรือร้อนเหมาะต่อการเกิดโรค ตลอดจนไม่ปลูกพืชในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป หรือขาดธาตุอาหาร
การปลูกพืชในโรงเรือนตาข่าย เพื่อกันแมลงเข้าทำลายและนำโรคมาสู่พืช
๒. การกีดกัน
หมายถึง การจัดการไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาสู่บริเวณที่ปลูกพืชทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยใช้มาตรการทางกฎหมายจำกัดการนำวัสดุ หรือพันธุ์พืช ที่อาจมีเชื้อสาเหตุของโรคเข้าประเทศ หรือเข้ามาในพื้นที่ที่ไม่เคยมีเชื้อโรคพืชชนิดนั้นๆ ระบาดมาก่อน และเป็นโรคที่ระบาด ทำความเสียหายได้อย่างรุนแรง โดยการนำเข้าต้องมีใบรับรองว่า วัสดุหรือพันธุ์พืชนั้นปลอดเชื้อโรคจึงจะอนุญาตให้นำเข้ามาได้ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ มีการห้ามนำพืชตระกูลส้มที่มีโรคแคงเกอร์จากเชื้อแบคทีเรียเข้าประเทศ
การเผาต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค เพื่อเป็นการทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรค
๓. การป้องกัน
หมายถึง การป้องกันการเข้าทำลายพืชของเชื้อโรค โดยไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับพืชด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกพืชกันลม เป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคที่อาศัยลมเป็นตัวนำมาสู่พืช การปลูกพืชในโรงเรือนกระจก หรือโรงเรือนตาข่ายกันแมลง เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ป้องกันเชื้อโรคหรือแมลงพาหะไปสัมผัสกับพืช หรือการใช้สารเคมีในการป้องกันการเข้าทำลาย ของเชื้อโรค เช่น การใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพืชที่จะปลูก และการใช้สารเคมีทำลายเชื้อโรคในดินก่อนปลูกพืช
๔. การทำลายให้หมดไป
หมายถึง การกำจัดหรือการทำลายแหล่งสะสมเชื้อโรคให้หมดไป โดยการเผาทำลายพืชที่เป็นโรค เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเหลืออยู่ เมื่อตรวจพบเชื้อโรคในไร่หรือวัสดุอุปกรณ์และผลผลิตที่นำมาจำหน่าย วิธีการนี้ใช้กับเชื้อโรคที่มีการระบาดทำความเสียหายต่อพืชอย่างรุนแรง และเป็นโรคที่อยู่ในบัญชีกักกันโรคของแต่ละประเทศ