วัดจีนในประเทศไทยมีนิกายตามแบบอย่างจีน กล่าวคือ ในวัดหนึ่งๆ แม้จะเน้นนิกายสุขาวดี (จิ้งถู่จง) เป็นหลัก แต่วิธีปฏิบัติกิจของสงฆ์ยังให้ความสำคัญกับนิกายเซน (ฉานจง) อย่างมาก ส่วนในด้านพิธีกรรมก็ให้ความสำคัญกับนิกายวัชรยาน หรือตันตระ (มี่จง) บ้าง นอกจากนั้น ในประเทศจีน ตอนปลายสมัยราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ - ค.ศ. ๑๖๔๔) ความเชื่อซานเจี้ยว หรือสามศาสนา ของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นที่นิยมกันมากทางตอนใต้ของจีน ความเชื่อนี้เป็นการรวมพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อเข้าด้วยกัน (ความจริงศาสนาขงจื๊อยังไม่เป็นที่ยอมรับกันทั้งหมดว่า เป็นศาสนา เพราะเน้นไปในเรื่องปรัชญามากกว่า แต่ทางศาสนาเรียกว่า หรูเจี้ยว แปลว่า ศาสนาขงจื๊อ) วัดของความเชื่อซานเจี้ยวจะตั้งรูปเคารพ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เทพเจ้าทางศาสนาเต๋า เช่น ไท้ซั่งเหล่าจวิน พระเจ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ และเทพเจ้าทางศาสนาขงจื๊อ เช่น ปรมาจารย์ขงจื๊อ เทพกวนอู หรือเทพเหวินชาง
ศาสนสถานของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ ล้วนมีผังของสถาปัตยกรรมและอาคาร ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ผังแบบอาคาร ๔ หลังประกอบกัน (ซื่อเหอเอี้ยน) ของสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ และผังแบบอาคาร ๓ หลังประกอบกัน (ซานเหอเอี้ยน) ของสถาปัตยกรรมขนาดกลาง สำหรับสิ่งประดับหลังคาและส่วนต่างๆ ของอาคารก็แตกต่างกัน ตามความเชื่อเรื่องสิริมงคลในแต่ละศาสนา อาคารของศาสนสถานก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ผังของศาสนสถานก็อาจปรับเปลี่ยนไปตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นราบด้วย สำหรับอาคารของศาสนสถานของชาวจีน ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่อาคารหลักต้องประกอบไปด้วย
๑. อาคารหน้าหรืออาคารเทียนหวางเตี้ยน หรือวิหารเทพแห่งสวรรค์
๒. อาคารต้าสยงเป่าเตี้ยน หรือพระอุโบสถ เป็นอาคารหลักของวัดสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ องค์ (ต้าสยง แปลว่า ผู้มีบารมี เป่า แปลว่า ของวิเศษ รัตนะ) คือ วิหารประดิษฐานพระประธานของวัด
๓. อาคารหลัง หรือโฮ่วเตี้ยน บางแห่งสร้างเป็น ๒ ชั้น สำหรับจัดเป็นวิหารบูรพาจารย์ และวิหารพระโพธิสัตว์ต่างๆ
๔. อาคารประกอบด้านซ้ายและด้านขวาของวัด โดยจัดเป็นห้องสมุด ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องธุรการ และห้องอื่นๆ
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัดจีนและสำนักสงฆ์รวมทั้งสิ้น ๑๗ แห่ง ดังนี้
๑. วัดโพธิ์แมนคุณาราม (ถนนสาธุประดิษฐ์ กรุงเทพฯ)
๒. วัดมังกรกมลาวาส (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๓. วัดบำเพ็ญจีนพรต (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๔. วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม (จังหวัดเชียงราย)
๕. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ ๒) (จังหวัดนนทบุรี)
๖. วัดโพธิ์เย็น (จังหวัดกาญจนบุรี)
๗. วัดฉื่อฉาง (จังหวัดสงขลา)
๘. วัดโพธิทัตตาราม (จังหวัดชลบุรี)
๙. วัดเทพพุทธาราม (จังหวัดชลบุรี)
๑๐. วัดทิพยวารีวิหาร (ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ)
๑๑. วัดมังกรบุปผาราม (จังหวัดจันทบุรี)
๑๒. วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ (จังหวัดกาญจนบุรี)
๑๓. วัดจีนประชาสโมสร (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
๑๔. วัดเล่งจิ๋วเจงเสี่ย (เขตดินแดง กรุงเทพฯ)
๑๕. สำนักสงฆ์สุธรรม (เขตบางแค กรุงเทพฯ)
๑๖. สำนักสงฆ์กวงเม้งเจงเสี่ย (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)
๑๗. สำนักสงฆ์กั๊กฮึ้งเนี่ยมฮุกลิ้ม (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)