เล่มที่ 33
เพลงลูกทุ่ง
เล่นเสียงเล่มที่ 33 เพลงลูกทุ่ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เพลงลูกทุ่ง คือ เพลงไทยรูปแบบหนึ่งที่พัฒนามาจากเพลงพื้นบ้าน บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีสากล ใช้ภาษาง่ายๆ บรรยายเรื่องราวของชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเน้นวิถีชีวิตของชาวชนบท มีท่วงทำนอง คำร้อง ลีลาการร้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ให้บรรยากาศความเป็นลูกทุ่ง เนื้อเพลงมีความหลากหลาย ตามแต่ผู้ประพันธ์จะกำหนด ทั้งแนวรัก แนวเศร้า สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งเพลงลูกทุ่งจะบันทึกไว้ เช่น การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก็มีเพลง น้ำท่วม เนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า "น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้งให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา"

เวทีแสดงดนตรีลูกทุ่งจะมีขนาดใหญ่ เพื่อให้มีพื้นที่วางเครื่องดนตรี เครื่องแสง สี เสียง และมีที่พอให้นักร้องและหางเครื่องเต้นประกอบเพลง

            วงดนตรีลูกทุ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ ประกอบด้วย นักร้องนำ นักร้องประจำวง หางเครื่อง นักดนตรี เครื่องดนตรี เครื่องเสียง และเจ้าหน้าที่ประจำวงที่ช่วยขนอุปกรณ์ต่างๆ ของวงเรียกว่า "เด็กยกเครื่อง" การแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งอาจแสดงกลางแจ้ง หรือในโรงภาพยนตร์ ตามศูนย์การค้า แต่มักเดินทางไปแสดงตามสถานที่ ซึ่งมีผู้ว่าจ้างไปแสดง หรือเปิดแสดงเก็บเงินเอง การเดินทางไปแสดงที่จังหวัดต่างๆ นี้เรียกว่า การเดินสาย เวทีแสดงจะยกสูงจากพื้นแต่ไม่สูงมาก เนื่องจาก ต้องให้นักร้องสามารถก้มรับพวงมาลัย หรือรางวัลจากผู้ชมได้สะดวก เวทีของวงดนตรีลูกทุ่งใช้พื้นที่มากพอสมควร เพราะต้องวางเครื่องเสียง เครื่องดนตรี มีพื้นที่สำหรับนักดนตรี นักร้อง และหางเครื่อง หรือผู้เต้นประกอบจังหวะดนตรีด้วย ด้านหน้าเวทีติดไฟแสงสีตระการตา ฉากหลังมีชื่อวงดนตรี หรือชื่อนักร้องประดับไฟให้ดูเด่นชัดสวยงาม ด้านหลังเวทีมักจัดเป็นที่แต่งตัวของหางเครื่อง และเป็นที่เตรียมตัวของนักร้อง

            เพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมจากผู้ฟังมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย จังหวะของเพลงมีทั้งจังหวะช้า และจังหวะสนุกสนาน ท่วงทำนองของเพลงลูกทุ่งนั้น มีทั้งที่นำมาจากเพลงไทยเดิม เพลงพื้นบ้านต่างๆ ทั้งลำตัด หมอลำ ลิเก ฯลฯ แล้วแต่ผู้ประพันธ์เพลง เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูง ทำให้นักแต่งเพลงพยายามสร้างเอกลักษณ์ และจุดเด่นประจำตัวให้กับนักร้อง เพื่อเป็นที่จดจำ และสร้างจุดขาย เนื้อหาของเพลงเป็นที่สะดุดใจผู้ฟัง สำหรับสื่อที่ช่วยให้เพลงลูกทุ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ในสมัยก่อน คือ วิทยุทรานซิสเตอร์ ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีราคาถูก ขนาดกะทัดรัด ผู้ฟังสามารถนำไปฟังได้ทุกที่ จึงเป็นที่ถูกใจของชาวชนบท ซึ่งในสมัยก่อนนั้น อาจจะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งที่มีราคาแพง ต่อมาเมื่อโทรทัศน์มีราคาถูกลง และได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีทั้งภาพและเสียง จึงมีการเผยแพร่เพลงลูกทุ่งทั้งในรูปแบบการแสดงบนเวที มิวสิกวิดีโอ และระบบอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เพลงลูกทุ่งเข้าถึงผู้ฟังอย่างสมบูรณ์แบบ

            เพื่อแสดงตัวอย่างเพลงลูกทุ่งที่มีท่วงทำนองมาจากเพลงพื้นบ้าน ใช้ภาษาง่ายๆ บรรยายถึงการกินอยู่ของคนไทย จึงขออัญเชิญ เพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชื่อเพลง ส้มตำ มาเป็นตัวอย่าง


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงส้มตำ และทรงขับร้องเป็นครั้งแรกกับวง อ.ส. วันศุกร์

            เพลงพระราชนิพนธ์ ส้มตำ เป็นเพลงลูกทุ่ง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บรรเลงครั้งแรก โดยวง อ.ส. วันศุกร์ โดยทรงขับร้องด้วยพระองค์เอง ต่อมามีผู้ขอพระราชทานพระราชานุญาต นำเพลงนี้ ไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง ส้มตำ ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ ขับร้องโดย บุปผา  สายชล ต่อมานำไปขับร้องโดย พุ่มพวง  ดวงจันทร์ ในงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และขับร้องบันทึกเสียงโดย สุนารี  ราชสีมา อีกครั้ง

เนื้อร้องของเพลงมีดังนี้

                        ส้มตำ

            ต่อไปนี้จะเล่า ถึงอาหารอร่อย     คือส้มตำกินบ่อยๆ รสชาติแซบดี

            วิธีทำก็ง่าย จะบอกได้ต่อไปนี้     มันเป็นวิธี วิเศษเหลือหลาย

            ไปซื้อมะละกอ ลูกพอเหมาะเหมาะ    สับสับเฉาะเฉาะ ไม่ต้องมากมาย

            ตำพริกกับกระเทียม ยอดเยี่ยมกลิ่นอาย     น้ำปลามะนาวน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บถ้ามี

            ปรุงรสให้แซบหนอ ใส่มะละกอลงไป     อ้อ อย่าลืมใส่ กุ้งแห้งป่นของดี

            มะเขือเทศเร็วเข้า ถั่วฝักยาวใส่เร็วรี่     เสร็จสรรพแล้วซี ยกออกจากครัว

            กินกับข้าวเหนียว เที่ยวแจกให้ทั่ว     กลิ่นหอมยวนยั่ว น่าน้ำลายไหล

            จดตำราจำ ส้มตำลาวเอาตำรามา     ใครหม่ำเกินอัตรา ระวังท้องจะพัง

            ขอแถมอีกนิด แล้วจะติดใจใหญ่     ไก่ย่างด้วยเป็นไร อร่อยแน่จริงเอย