เล่มที่ 33
อาหารกับโรคเรื้อรัง
เล่นเสียงเล่มที่ 33 อาหารกับโรคเรื้อรัง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            อาหาร หมายถึง สิ่งที่เรากินทุกวันเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐาน ที่ขาดไม่ได้ของมนุษย์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก การกินอาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้สุขภาพอนามัยดี ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยอย่างได้สัดส่วน และมีภูมิต้านทานโรคด้วย

การกินอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูง ทำให้เป็นโรคอ้วน

            อาหาร แบ่งออกได้เป็น ๕ หมู่ ตามสารอาหารส่วนใหญ่ที่อาหารนั้นๆ จะให้แก่ร่างกาย เช่น

            หมู่ที่ ๑ ให้โปรตีนเป็นหลัก แต่นอกจากโปรตีนแล้วก็ยังให้สารอื่นๆ ด้วย เช่น ไข่ ยังให้ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุหลายชนิด ปลาก็เช่นกันขึ้นอยู่กับชนิดของปลา

            หมู่ที่ ๒ ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ให้ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไขมัน โปรตีน กากใยอาหาร และคาร์โบไฮเดรต

            หมู่ที่ ๓ ไขมันจากพืชและสัตว์ ให้สารอาหารประเภทไขมัน ซึ่งมีไขมันชนิดต่างๆ และบางชนิดก็ให้สารอาหารอื่นด้วย เช่น วิตามิน

            หมู่ที่ ๔ ผักต่างๆ ให้สารอาหารประเภทวิตามิน และแร่ธาตุเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีใยอาหาร ผักบางชนิด เช่น ฟักทอง ยังมีคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างมากด้วย

            ส่วนหมู่ที่ ๕ ผลไม้ ให้วิตามินและแร่ธาตุมาก รวมทั้งยังให้คาร์โบไฮเดรตคือ น้ำตาล มากน้อยตามชนิดของผลไม้ ที่หวานมากหวานน้อย และใยอาหาร ผลไม้บางชนิดมีไขมันมาก เช่น ทุเรียน บางชนิดให้น้ำมาก เช่น ชมพู่ แตงโม


อาหารบางชนิดที่มีส่วนผสมของแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูงมาก จัดเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

            การที่คนเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีได้นั้น จะต้องวางรากฐานมาตั้งแต่ยังเล็ก โดยขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากินเป็นสำคัญ เด็กต้องกินอาหารวันละ ๓ มื้อ มีชนิดของอาหารคละกันให้ครบทั้ง ๕ หมู่ เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็น ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ ซึ่งมีอยู่ในอาหารชนิดต่างๆ นอกจากนี้ ต้องมีน้ำและใยอาหารด้วย โดยควรสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่ม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบส่วน นอกจากช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีพัฒนาการที่ดีแล้ว ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง เมื่อยามเติบโตขึ้นด้วย

            โรคเรื้อรัง คือ โรคที่เมื่อเป็นแล้วมักไม่หายขาด ผู้ป่วยจะเป็นๆ หายๆ ต้องรักษาหรือกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเหล่านี้ทางการแพทย์ถือว่า เกี่ยวพันเป็นสาเหตุซึ่งกันและกัน และการดูแลรักษาต้องทำไปพร้อมๆ กัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องป้องกันมิให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้ขึ้นในประชากร เพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่จะเกิดตามมา คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนไทย


เพื่อช่วยในด้านการเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

            โรคเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของคนเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงชีวิตและการกินอาหาร ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาจากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง และอิทธิพลที่ได้รับจากวัฒนธรรมภายนอก ในยุคโลกไร้พรมแดน ตัวอย่างเช่น คนไทยซึ่งแต่เดิมกินอาหารหลัก คือ ข้าว ผัก และปลา และดำเนินชีวิตอยู่ในเรือกสวนไร่นา ใช้กำลังแรงงานในการประกอบอาชีพ มีความสุขกายสบายใจในความเป็นอยู่แบบพอเพียงในชนบท เมื่อพลิกผันมาอยู่ในสังคมเมือง ต้องมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะปรุงอาหารประจำวันจากผลผลิตธรรมชาติ และใช้ชีวิตในวิถีธรรมชาติ นอกจากนี้ ระบบการค้าเสรีในสังคมยุคใหม่ทำให้มีการระดมผลิต และโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อจูงใจผู้บริโภค ทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่อย่างมากมาย เช่น อาหารจานด่วนที่มีสารอาหารไม่ครบหมู่ มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาล มากเกินไป เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง มีสารปรุงแต่งที่มีพิษภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งของกินเล่นแบบกรุบกรอบ ชวนให้กินจนเกินความต้องการของร่างกาย

            ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบและผลจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารปรุงแต่ง ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีพฤติกรรมการกินอาหาร ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกินอาหารไม่ครบ ๕ หมู่ อาหารมีส่วนผสมของไขมัน แป้ง น้ำตาล สูงเกินความต้องการ และไม่เป็นไปตามหลักโภชนาการ นอกจากนี้คนยุคใหม่ยังมีความเครียดจากการแข่งขันสูง และขาดการออกกำลังกาย ที่จะช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ผลสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการ รวมทั้งการศึกษาวิจัยของหลายสถาบันจึงพบว่า ความชุกของโรคอ้วนยังเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังในคนไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง แม้แต่เด็ก ถ้ากินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ก็จะมีน้ำหนักเกินเกณฑ์และเป็นโรคอ้วนได้ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๒ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพบว่า โรคอ้วนในเด็กมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงมาก และเด็กอ้วนเหล่านี้ มีประวัติการป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร จากการศึกษาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ พบว่า ร้อยละ ๑๐.๒ ของนักเรียนชาย และร้อยละ ๑๓.๒ ของนักเรียนหญิง เป็นโรคอ้วน


            เด็กที่เป็นโรคอ้วนจะเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ตับ ผิวหนัง กระดูกและข้อ ระบบการหายใจ นอกจากนี้อาจทำให้เป็นที่ล้อเลียนของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง มีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังกล่าวมาแล้วด้วย

            ดังนั้น เด็กๆ จึงควรสร้างหรือปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการกินอาหารให้ถูกต้อง โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบหมู่ และในปริมาณที่พอเหมาะ ดื่มนมและน้ำสะอาดให้เพียงพอ จากที่เคยดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าแทน ซึ่งจะให้ผลดีต่อสุขภาพ งดขนมหวาน ของทอด ของมัน ขนมกรุบกรอบ งดการกินจุบจิบ หรือการกินจนอิ่มเกิน เพื่อมิให้มีไขมันสะสมในร่างกายเกินความจำเป็น กินผักและผลไม้ให้มากและหลากหลายชนิด เพราะผักผลไม้อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และกากใยอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรง ของร่างกาย