เล่มที่ 33
การแพทย์แผนไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 33 การแพทย์แผนไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การแพทย์แผนไทย เป็นระบบการแพทย์แบบดั้งเดิมของไทย เดิมเคยเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ในการบำบัดความเจ็บป่วย ที่ได้สร้างสมจากการลองผิดลองถูก ผสมผสานกับความรู้ทางการแพทย์ร่วมสมัยที่ได้รับจากชาวต่างชาติ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมา ร่วมกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ในพระไตรปิฎกแห่งพระพุทธศาสนา หล่อหลอม จนกลายเป็นระบบการแพทย์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตัวอย่างเช่น ความรู้ในการบริหารร่างกาย แก้ปวดเมื่อย หรือแก้โรคบางอย่าง ผสมผสานกับศาสตร์โยคะของอินเดีย หล่อหลอม และประยุกต์ เป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน หรือการประยุกต์เอาสมุนไพรตัวยาดีๆ ของต่างชาติ ที่ไม่มีในราชอาณาจักรไทย มาใช้ในตำรับยาไทย จนปัจจุบันแทบจะไม่รู้ว่า สมุนไพรชนิดใดเป็นของไทย ชนิดใดเป็นของต่างชาติ เช่น ยาดำ (จากแอฟริกา) มหาหิงคุ์ (จากเปอร์เซีย) เทียนเยาวพานี (จากอินเดีย) โกฐเชียง (จากจีน)  



คนไทยสมัยก่อนมักให้บุคคลในครอบครัวบีบนวดได้

            หลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยที่ยังคงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญ ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ ระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นกรมต่างๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรมและตำแหน่งข้าราชการระดับอื่นๆ ลดหลั่นกันไป หลักฐานสำคัญอีกเล่มหนึ่งคือ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์ จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพร หรือคำราชาศัพท์บางคำที่ผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น ตำราเล่มนี้ น่าจะรวบรวมขึ้นในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๑ - ๒๒๗๕) หรืออย่างช้าก็ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. ๒๒๗๕- ๒๓๐๑) ได้สรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทย และบอกตำรับยาแก้โรค ที่เคยนำไปปรุงถวายพระเจ้าแผ่นดินแล้วหลายขนาน นอกจากนี้ ยังมีศิลาจารึกตำรายาที่วัดราชโอรสาราม (ในรัชกาลที่ ๒) ศิลาจารึก ตำรายาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ในรัชกาลที่ ๓) และตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ซึ่งหลักฐานเอกสาร และศิลาจารึกเหล่านี้ เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย ที่เป็นต้นแบบสืบทอดกันอยู่ในปัจจุบัน

            แพทย์แผนไทย ตั้งแต่สมัยโบราณให้ความเคารพนับถือ "ฤๅษีทั้ง ๘" และ "หมอชีวกโกมารภัจจ์" เป็นปฐมครู ในบ้านมักปั้นรูปฤๅษีตนหนึ่งไว้บูชาในฐานะครูแพทย์ แต่มิได้หมายเฉพาะเจาะจงว่า เป็นฤๅษีตนใดตนหนึ่งเท่านั้น ส่วนหมอชีวกโกมารภัจจ์นั้น เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร (พระราชาแห่งแคว้นมคธ) และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ ผู้เป็นพุทธสาวกทั้งหลาย ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นเรื่องราวประวัติการแพทย์สมัยพุทธกาล ที่ยังคงทิ้งร่องรอยอย่างมีชีวิตชีวา ในพระไตรปิฎก แพทย์แผนไทยยกย่อง และนับถือหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นครูแพทย์ จึงมักจัดทำเป็นรูปเคารพไว้ สำหรับสักการบูชา เช่นเดียวกับรูปภาพฤๅษี


หนังสือ "คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์"
ซึ่งรวบรวมชื่อสมุนไพรต่างๆ โดยสืบทอดจากต้นแบบของตำรา พระโอสถพระนารายณ์ ได้เกือบสมบูรณ์

            การแพทย์แผนไทย เป็นศาสตร์แห่งภูมิปัญญาสาขาใหญ่สาขาหนึ่ง อาจแบ่งออกเป็น ๔ แขนง ได้แก่ เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย

เวชกรรมไทย

            เป็นหมวดวิชาความรู้เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย และบำบัดโรค รวมถึงการป้องกันโรค ด้วยวิธีการแบบแผนไทย ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์แผนไทย ต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรค รู้จักชื่อโรค รู้จักยาสำหรับแก้โรค และรู้ว่า ยาใด สำหรับแก้โรคใด ในทางการแพทย์แผนไทยเชื่อว่า สาเหตุของโรค (หรือสมุฏฐานของโรค) ที่สำคัญนั้น คือ ความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ อันเป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของร่างกาย ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และช่วงเวลาในแต่ละวัน รวมทั้งอายุ หรือวัยที่เปลี่ยนแปลงไป  ตลอดจนที่เกิด และที่อยู่ที่อาศัย เมื่อแพทย์รู้สาเหตุของโรค ก็จะปรุงยา สำหรับบำบัดโรคได้ถูกต้อง


รูปปั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่แพทย์แผนไทยมักจัดทำไว้สำหรับสักการบูชา เช่นเดียวกับรูปภาพฤๅษี

เภสัชกรรมไทย

            หรือเภสัชกรรมแผนโบราณ เป็นหมวดวิชาเกี่ยวกับการทำยาด้วยวิธีการแบบแผนไทย หมอแผนไทยจะปรุงยาที่มีคุณภาพดี ใช้รักษาผู้ป่วย หรือบำบัดโรคได้ผล ต้องมีหลักความรู้ ๔ ประการ ได้แก่ รู้จักเภสัชวัตถุ (ตัวยาสมุนไพรนานาชนิด ทั้งที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ) รู้จักสรรพคุณเภสัช (รสและฤทธิ์ของตัวยาแต่ละชนิด) รู้จักคณาเภสัช (กลุ่มหรือหมู่ยาที่แพทย์แผนไทย จัดแบ่งไว้เป็นพวกๆ เพื่อให้สะดวกในการตั้งตำรับยา) และรู้จักหลักเภสัชกรรม (วิธีการปรุงยาแบบโบราณ)

การผดุงครรภ์ไทย

            หรือการผดุงครรภ์แผนโบราณ เป็นหมวดวิชาความรู้เกี่ยวกับการดูแลมารดา และทารก ตั้งแต่ระยะเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด ดังนั้น แพทย์ผดุงครรภ์แผนโบราณ (หมอตำแย) มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล บำบัด และป้องกันอาการต่างๆ ของผู้หญิง ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอด มีหน้าที่ทำคลอด ตลอดจนดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดและทารกแรกเกิดด้วย กรรมวิธีการแพทย์แผนไทย ความโดดเด่นของหลักวิชาการผดุงครรภ์ไทย ประการหนึ่งก็คือ การดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด เช่น การอยู่ไฟ การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การอาบสมุนไพร การอบสมุนไพร


เภสัชวัตถุนานาชนิด ทั้งจาก พืช สัตว์ และแร่ธาตุ ซึ่งใช้ประกอบการปรุงยา

การนวดไทย

            หรือหัตถเวชกรรมไทย เป็นหมวดวิชาการแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด และป้องกันโรค รวมถึงการส่งเสริม และการฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิธีการกด การคลึง การบีบ การดัด การดึง การประคบ และการอบ ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้น ร่างกายคนเราประกอบด้วย "เส้น" หรือ "เอ็น" หรือ "เส้นเอ็น" จำนวนมาก โดยมีเส้นหลัก ๑๐ เส้น ซึ่งสำคัญกว่าเส้นอื่นๆ เรียก เส้นสิบ หรือ เส้นประธานสิบ ภายในเส้นเหล่านี้เป็นทางไหลเวียนของ "เลือด" และ "ลม" ซึ่งในภาวะปกติจะไหลเวียนอย่างสมดุล หากมีการอุดกั้น หรือขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และลมดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดเมื่อย มึนงง ท้องอืดเฟ้อ แพทย์แผนไทยก็จะบำบัดความเจ็บป่วย หรืออาการต่างๆ ด้วยการใช้ยา หรือด้วยการนวดตามจุด และเส้นที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เลือด และลม ไหลเวียนเป็นปกติ

            การนวดไทยอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ การนวดเพื่อผ่อนคลาย เป็นการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และการนวดเพื่อบำบัดรักษา เป็นการนวดเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการบำบัดโรค หรือรักษาผู้ป่วย เช่น นวดแก้สะบักจม นวดแก้คอเคล็ด นอกจากนี้ การนวดไทยยังอาจมีลีลาวิธีการนวดแตกต่างกันไป ๒ แบบ คือ การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์ แต่เดิมการนวดแบบราชสำนักเป็นการนวดถวายพระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก จึงเน้นที่จรรยามารยาทในการนวด ปัจจุบันการนวดแบบนี้ ใช้สำหรับบำบัดโรคระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ส่วนการนวดแบบเชลยศักดิ์หรือแบบทั่วไปนั้น เป็นการนวดแบบสามัญชน มีแบบแผนการนวดตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับประสบการณ์ ที่สั่งสมของครูนวด การถ่ายทอดศาสตร์การนวดไทยแบบนี้ เดิมมักสอน และเรียนกันตามบ้านครูนวด แต่ปัจจุบัน มีการเรียนการสอนกันทั่วไป ตามสถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย