เล่มที่ 33
สุนทรภู่
เล่นเสียงเล่มที่ 33 สุนทรภู่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            กวีไทยที่มีชื่อเสียง และสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมไทยที่มีคุณค่าให้แก่ชาติไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก นับแต่สมัยสุโขทัย เป็นต้นมา หนึ่งในกวีเหล่านี้ ได้แก่ สุนทรภู่ ผู้เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สุนทรภู่ ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้เป็นกวีเอก ของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม และเป็นกวีของประชาชนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิดของสุนทรภู่


พระอภัยมณี ตัวละครในเรื่อง "พระอภัยมณี" มีความสามารถในการเป่าปี่จนผู้ที่ได้ยินเสียงปี่จะหลับไหลอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง

            คำว่า สุนทรภู่ ไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นนามแฝงที่เกิดจากการนำคำว่า สุนทร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาศักดิ์ ขุนสุนทรโวหาร ที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ รวมกับชื่อจริงว่า ภู่ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีข้าราชการอื่นได้รับบรรดาศักดิ์ สุนทรโวหาร ด้วย เช่น พระสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวังในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การระบุชื่อจริงจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการจำแนกบุคคล ที่ต้องการกล่าวถึง

            สุนทรภู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ และถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุได้ ๖๙ ปี

            สุนทรภู่ มีอายุยืนยาวถึง ๔ รัชกาล คือ เกิดและเริ่มแต่งวรรณกรรมเรื่อง โคบุตร นิราศเมืองแกลง และนิราศพระบาท ในรัชกาลที่ ๑ เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และตามเสด็จรับใช้อย่างใกล้ชิด จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนสุนทรโวหาร ในรัชกาลที่ ๒ ออกจากราชการ และตกยาก ในรัชกาลที่ ๓ กลับเข้ารับราชการ และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ในตำแหน่ง เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวังในรัชกาลที่ ๔

            สุนทรภู่ เป็นที่โปรดปรานของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะเป็นปฏิภาณกวี ที่สามารถต่อบทพระราชนิพนธ์ได้เป็นที่พอพระราชหฤทัยหลายครั้ง ความสามารถดังกล่าวเกิดจากพรสวรรค์ในการแต่งกลอน ของสุนทรภู่ เช่น ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทชมม้าว่า ม้าเอยม้าเทศ แล้วทรงต่อกลอน ของพระองค์เองไม่ได้ จึงขอให้กวีอื่นช่วยต่อบทพระราชนิพนธ์ ปรากฏว่า ไม่มีใครทำได้ ยกเว้นสุนทรภู่ ที่แต่งต่อว่า สูงสามศอกเศษสีสังข์

            นอกจากนี้ สุนทรภู่ ยังพัฒนากลอนของโบราณให้มีลักษณะการเล่นสัมผัสในของกลอนแต่ละวรรคอย่างเป็นระบบ สัมผัสในดังกล่าว มีทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ ทำให้กลอนของสุนทรภู่ มีสัมผัสแพรวพราวอย่างไพเราะ และกลายเป็นกลอนแบบของสุนทรภู่ ที่มีผู้นิยมอ่านและฟัง รวมทั้งนิยมแต่งในสมัยต่อมาอย่างกว้างขวาง มีข้อน่าสังเกตว่า พระอภัยมณี ซึ่งเป็นตัวเอกในเรื่อง ไม่มีความรู้เรื่องเวทมนตร์คาถาอย่างตัวเอกอื่นๆ ในนิทานประเภทจักรๆ วงศ์ๆ วิชาความรู้ ที่พระอภัยมณีมีเพียงอย่างเดียว คือ วิชาเป่าปี่ แต่ก็สามารถใช้ความรู้ดังกล่าวสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเอง ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมว่า พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน แม้แต่พูดกับศัตรูก็พูดอย่างไพเราะ เป็นแบบอย่างในเรื่องของการใช้วาทศิลป์ได้เป็นอย่างดี นอกจากเรื่องพระอภัยมณีแล้ว ผลงานเรื่องอื่นที่แต่งเป็นกลอนมีอีกมาก เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า กลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เฉพาะตอนกำเนิดพลายงาม นิทานคำกลอนเรื่องสิงหไกรภพ

            เรื่องที่แต่งเป็นโคลง มีเพียงเรื่องเดียว คือ นิราศสุพรรณ ซึ่งนับเป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดของสุนทรภู่

            ส่วนเรื่องที่แต่งเป็นกาพย์ มี ๒ เรื่อง คือ กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา ซึ่งแต่งเป็นกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ บทเห่กล่อมพระบรรทมแต่งเป็นกาพย์ยานี

            สุนทรภู่ ได้แต่งวรรณกรรมรวม ๒๓ เรื่อง แบ่งออกได้เป็น ๖ ประเภท ได้แก่ ประเภทนิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร บทเสภา และบทเห่กล่อม

            ผลงานประเภทนิราศ มี ๙ เรื่อง ทุกเรื่อง (ยกเว้นนิราศสุพรรณที่แต่งเป็นโคลง) แต่งด้วยกลอนเพลงยาว คือ ขึ้นต้นเรื่องด้วย กลอนวรรคที่ ๒ และลงท้ายเรื่องด้วยคำว่า เอย นิราศที่แต่งได้ดีที่สุด คือ นิราศภูเขาทอง ในเรื่องนี้ สุนทรภู่ ได้รำพันถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยความอาลัยรัก และภักดี

            ผลงานประเภทนิทาน มี ๖ เรื่อง เป็นนิทานคำกลอน ๔ เรื่อง คือ โคบุตร ลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ และพระอภัยมณี เป็นนิทาน ที่แต่งเป็นกาพย์ ๑ เรื่อง คือ กาพย์พระไชยสุริยา และเป็นกลอนบทละคร ๑ เรื่อง คือ อภัยนุราช

            ในจำนวนนี้นิทานเรื่องแรก ที่สุนทรภู่ แต่ง คือ โคบุตร แต่งในรัชกาลที่ ๑ ส่วนนิทานเรื่องสุดท้ายที่แต่ง คือ อภัยนุราช แต่งในรัชกาลที่ ๔ สันนิษฐานว่า แต่งถวาย พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงประภา ซึ่งเป็นพระธิดาใน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

            ส่วนเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ เริ่มแต่งขณะติดคุก เพราะทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของแม่จัน ในรัชกาลที่ ๒ แต่แต่งค้างไว้ และมาแต่งต่ออีกหลายครั้ง ในรัชกาลที่ ๓ แต่งจบในรัชกาลเดียวกัน จบตอนพระอภัยมณีออกบวช

            ผลงานประเภทสุภาษิต มี ๒ เรื่อง คือ สวัสดิรักษา ที่แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ และเพลงยาวถวายโอวาท ที่แต่งถวายเจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าอาภรณ์ ที่ร่วมพระมารดาเดียวกัน คือ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

            ผลงานประเภทบทละคร มีเพียงเรื่องเดียว คือ อภัยนุราช ที่แต่งได้ไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ

            ผลงานประเภทเสภา มี ๒ เรื่อง คือ เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เฉพาะตอนกำเนิดพลายงาม และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยตอนเสียกรุงศรีอยุธยา

            ส่วนผลงานประเภทบทเห่กล่อม มี ๔ เรื่อง คือ บทเห่กล่อมเรื่อง จับระบำ กากี พระอภัยมณี และโคบุตร พระอภัยมณีเป็นบทเห่กล่อมพระบรรทม ที่มีความยาวมากที่สุด
ในบรรดาผลงานเหล่านี้ ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สุนทรภู่ มากที่สุด คือ นิทานคำกลอนเรื่อง พระอภัยมณี ผู้อ่านมักจดจำคำกลอนในเรื่องนี้ไว้ได้มาก เพราะมีความไพเราะคมคาย มีคติสอนใจ และมีลีลากลอนเหมาะสมแก่อารมณ์ ของตัวละครในแต่ละตอน เช่น บทเกี้ยวพาราสี มีลีลากลอนที่อ่อนหวาน บทโต้เถียงจะมีลีลาร้อนแรง หรือกล่าววาจากระทบกระเทียบ ให้ตัวละครอีกฝ่ายร้าวรานใจ บทผรุสวาท ก็จะมีลีลาดุเดือดเผ็ดร้อน จะขอยกตัวอย่างลีลากลอนที่อ่อนหวาน ในตอนที่พระอภัยมณี ให้สัญญาแก่นางละเวงว่า จะจงรักภักดีต่อนางทุกชาติตลอดชั่วนิรันดร์ ดังนี้

                        ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร            ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
                        แม้เกิดในใต้หล้าสุธาธาร            ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
                        แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
                        แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา            เชยผกาโกสุมปทุมทอง
                        เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่            เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
                        จะติดตามทรามสงวนนวลละออง        เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

            นิทานคำกลอน เรื่องพระอภัยมณีประทับใจคนอ่านที่มีชีวิตร่วมสมัยกับสุนทรภู่ และเป็นที่นิยมอ่านของคนสมัยหลังต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่หมอสมิทนำนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ออกพิมพ์เผยแพร่ ในลักษณะนิทานเล่มละหนึ่งสลึง ทำให้คนอ่านพากันคลั่งไคล้เรื่องพระอภัยมณีกันอย่างกว้างขวาง  และมีผลให้เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ นี้ เป็นต้นแบบให้แก่ผู้แต่งนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ในสมัยหลัง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่เต็มไปด้วยจินตนาการแปลกใหม่ ตัวละครแปลกๆ ที่เกิดจากพ่อแม่ต่างชาติพันธุ์ ตัวละครหญิงที่เก่งกล้าสามารถ และมีความฉลาดหลักแหลม ฉากทะเล ซึ่งเป็นฉากสำคัญในเรื่อง การใช้ถ้อยคำ และโวหาร เลียนแบบสุนทรภู่

            ในปัจจุบัน ความนิยมเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ก็ยังไม่เสื่อมคลาย มีการนำเนื้อหาไปดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูน ละคร และภาพยนตร์ นับเป็นการเผยแพร่เรื่องพระอภัยมณีในสังคมไทยสมัยใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
อนึ่ง ผลงานเรื่องอื่นๆ แม้จะได้รับความนิยมน้อยกว่านิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี แต่ก็อยู่ในความสนใจของผู้อ่านมิใช่น้อย ดังเห็นได้ว่า มีการนำนิทานคำกลอนเรื่อง สิงหไกรภพ มาสร้างเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ มีการศึกษางานนิราศเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่ และมีการวิจัยผลงานเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่ ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังมีการสอนวิชางานสุนทรภู่ กันอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันคุณค่าของผลงานเรื่องต่างๆ ที่สุนทรภู่ ได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้เป็นอย่างดี