ความหมายของ "คลอง" ในประเทศไทย หมายถึง ทางน้ำหรือลำน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่คนขุดขึ้น แต่ถ้าเป็นคลองที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า canal แล้ว หมายถึง ทางน้ำหรือลำน้ำที่คนขุดขึ้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
คลองสุเอซ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของทวีปแอฟริกา
ประเทศต่างๆ ในโลกมีคลองที่คนขุดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่คลองที่มีชื่อเสียงมากมีอยู่ ๓ แห่ง คือ คลองสุเอซ (Suez Canal) คลองปานามา (Panama Canal) และคลองหยวนเหอ หรือคลองแกรนด์ (Grand Canal)
คลองสุเอซ
ตั้งอยู่ในประเทศอียิปต์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของทวีปแอฟริกา ขุดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๒ - ๒๔๑๒ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาออกทะเลแดงในมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องอ้อมตอนใต้สุด ของทวีปแอฟริกา จึงย่นระยะทางเดินเรือจากทวีปยุโรปมายังทวีปเอเชียได้ถึงประมาณ ๖,๔๐๐ กิโลเมตร
คลองปานามา ตั้งอยู่ที่คอคอดปานามาซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติก กับมหาสมุทรแปซิฟิก
คลองปานามา
ตั้งอยู่ในประเทศปานามา ที่คอคอดปานามาในอเมริกากลาง เริ่มขุดใน พ.ศ. ๒๔๒๒ แต่เกิดปัญหา ทำให้การขุด ต้องหยุดชะงักไป และมาขุดต่อใน พ.ศ. ๒๔๔๖ จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๗ การเปิดใช้คลองนี้ ทำให้เรือเดินสมุทรสามารถเดินทางจากทะเลแคริบเบียนในมหาสมุทรแอตแลนติก ไปออกมหาสมุทรแปซิฟิกได้ โดยไม่ต้องไปอ้อมตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ จึงช่วยย่นระยะทางเดินเรือได้ถึงประมาณ ๙,๐๐๐ กิโลเมตร ประเทศที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการใช้คลองนี้คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถย่นระยะทางเดินเรือติดต่อ ระหว่างชายฝั่งตะวันออกกับชายฝั่งตะวันตกของประเทศ และต่อมายังทวีปเอเชียได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
คลองหยวนเหอ
เป็นคลองที่ขุดขึ้นในประเทศจีน ถือได้ว่า เป็นคลองที่ยาวที่สุด และเก่าแก่ที่สุดของโลก โดยมีความยาว ๑,๖๐๙ กิโลเมตร เริ่มขุดขึ้นตั้งแต่เมื่อ ๓๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช และมีการขุดเพิ่มเติมในเวลาต่อมาอีกหลายครั้ง
คลองลัดที่ขุดขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยา จาก จ.ปทุมธานี ถึง จ.สมุทรปราการ ในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในกรณีของประเทศไทย มีการขุดคลองเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่คลองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจาก ราชธานีทั้งกรุงศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำขนาดใหญ่หลายสายไหลผ่าน เหมาะแก่การขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเหล่านั้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำ ส่วนสมัยธนบุรี ซึ่งมีราชธานีตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ไม่มีการขุดคลองสำคัญ เนื่องจาก สมัยธนบุรีมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง ๑๕ ปี เท่านั้น อีกทั้งต้องทำสงครามสู้รบกับพม่า และสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยา
คลอง ที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยา นอกจากภายในตัวเกาะเมือง ซึ่งมีคลองเป็นจำนวนมาก เชื่อมแม่น้ำ ๓ สาย ที่ไหลโอบล้อมกรุงศรีอยุธยา คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรีแล้ว ยังมีคลองที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา โปรดให้ขุดขึ้นอีกหลายแห่ง ในบริเวณลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คลองเหล่านี้ เรียกว่า "คลองลัด" เพราะเป็นคลองที่ขุดขึ้น เพื่อให้ลำน้ำเจ้าพระยาตอนที่ไหลคดเคี้ยวมากให้ตัดตรงไป เป็นการย่นระยะทางเดินเรือให้สั้นเข้า คลองลัดในลำน้ำเจ้าพระยาที่ขุดขึ้นในสมัยอยุธยา ได้แก่ คลองลัดเกร็ดใหญ่ ในจังหวัดปทุมธานี คลองลัดเกร็ดน้อย คลองลัดเมืองนนท์ ในจังหวัดนนทบุรี คลองลัดบางกอก ในกรุงเทพฯ คลองลัดโพธิ์ และคลองลัดหลวง ในจังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ยังมีคลองที่ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำใกล้เคียงอีก ๒ คลอง คือ คลองสำโรง ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง และคลองพระพุทธเจ้าหลวง - มหาไชยชลมารค (ปัจจุบันเรียกคลองมหาชัย) ซึ่งเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน
คลองมหาสวัสดิ์ ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำของประชาชนในแถบ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม และ กรุงเทพฯ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ การขุดคลองมีเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในกรุงเทพฯ และในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง การขุดคลองภายในกรุงเทพฯ ในระยะแรกมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นคลองคูเมืองป้องกันการโจมตีของข้าศึกศัตรู การสัญจรทางน้ำ และการระบายน้ำเวลาฝนตกหนัก ในระยะต่อมา เมื่อมีการสร้างถนนเป็นทางให้รถวิ่ง ก็มีการขุดคลอง เพื่อนำดินมาถมเป็นถนน ให้สูงขึ้น ถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ สมัยก่อน จึงมักมีคลองขนานไปกับแนวถนน การที่กรุงเทพฯ มีคลองเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวต่างประเทศขนานนามว่า เป็น เวนิสตะวันออก โดยเปรียบเทียบกับเมืองเวนิส ในประเทศอิตาลี ซึ่งมีคลองเป็นจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากสร้างอยู่บนหมู่เกาะ ในอ่าวเวนิสทางตอนเหนือของประเทศนั้น
นอกจากคลองในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคลองสายยาวๆ ที่ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำสายอื่นๆ ในบริเวณภาคกลางตอนล่าง คลองเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการสัญจรทางน้ำ และการนำผลผลิตจากไร่นาในต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อการบริโภคภายในประเทศ หรือเพื่อส่งเป็นสินค้าออก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในรัชกาลที่ ๔ สนธิสัญญาฉบับนี้ประเทศไทยทำกับประเทศอังกฤษ มีใจความสำคัญคือ ให้มีการค้าขายติดต่อกันโดยเสรี ยกเลิกระบบการค้าผูกขาด ยกเว้นสินค้าบางอย่าง ที่ประเทศไทยอาจห้ามมิให้ส่งออกนอกประเทศ หากเกิดการขาดแคลน หรือเกิดทุพภิกขภัย ได้แก่ ข้าว เกลือ และปลา นอกจากนี้ยังมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้าขาเข้าในอัตราที่แน่นอนร้อยละ ๓ ส่วนสินค้าขาออก เก็บตามพิกัดที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญา ต่อมาภายหลัง ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญากับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย
ถนนพระรามที่ ๔ ซึ่งเดิมมีคลองถนนตรง เป็นแนวขนานไปกับถนน ปัจจุบันไม่มีคลองนี้แล้ว เนื่องมาจากการถมคลอง เพื่อขยายถนนให้กว้างขึ้น
การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงมีผลต่อการขุดคลองต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายสาย เพื่อบุกเบิกที่ดินที่ยังว่างเปล่าให้เป็นไร่นา และเพื่อขนส่งผลิตผลทางการเกษตร จากเขตชนบทเข้ามาในกรุงเทพฯ มีคลองสายสำคัญที่ขุดขึ้น เช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองสวัสดิ์เปรมประชากร คลองประเวศบุรีรมย์ คลองทวีวัฒนา คลองรังสิตประยุรศักดิ์ คลองดำเนินสะดวก คลองที่กล่าวมานี้ ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมกรุงเทพฯ กับเมืองต่างๆ
ภายหลังรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา การพัฒนาเส้นทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ ทำให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ลดความสำคัญลงตามลำดับ เนื่องจากต้องเสียเวลาในการเดินทางมาก แต่ถึงกระนั้น คลองก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ ในด้านการสัญจรทางน้ำภายในท้องถิ่น การส่งน้ำเข้าไปในแหล่งเพาะปลูก การระบายน้ำเวลามีฝนตกหนัก รวมทั้งการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลอง แม้แต่ในกรุงเทพฯ การใช้คลองประปาเป็นเส้นทางนำน้ำ จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดปทุมธานี เข้ามาทำเป็นน้ำสะอาด เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ใช้กันอย่างทั่วถึง ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่จนถึงปัจจุบัน
การขยายตัวของกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็วหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้มีการถมคลองขนาดเล็กหลายแห่ง เพื่อขยายพื้นที่ของถนนให้กว้างขึ้น นอกจากนี้คลองหลายแห่งเกิดการเน่าเสียของน้ำ เนื่องจากการทิ้งขยะ และสิ่งสกปรก ลงในคลอง รวมทั้งการปล่อยน้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมลงในคลอง โดยไม่ผ่านการบำบัด ให้เป็นน้ำดีเสียก่อน สาเหตุเหล่านี้ทำให้สภาพของคลองเปลี่ยนไป จากคลองที่มีน้ำใสสะอาด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด เช่น ปลา กุ้ง กลายเป็นแหล่งน้ำสกปรก บางแห่งส่งกลิ่นเหม็น ประชาชนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป
การปล่อยน้ำทิ้งและสิ่งสกปรกลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย และสัตว์น้ำตายได้
สิ่งที่คนไทยทุกคนควรจะช่วยกันอนุรักษ์คลอง ให้อยู่ในสภาพที่ดี คือ ต้องไม่ทิ้งขยะ หรือสิ่งสกปรก ลงไปในคลอง และไม่ปลูกอาคารบ้านเรือนรุกล้ำคลอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ก็ต้องหมั่นควบคุม ดูแลรักษา น้ำในคลองให้ใสสะอาด โดยการตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ตามจุดต่างๆ และการควบคุมดูแล ไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรม ปล่อยน้ำเสียลงในคลองโดยตรง หากทุกคน และทุกหน่วยงานทางราชการ ร่วมมือกันทำเช่นนี้ได้ คลองในประเทศไทยก็คงจะอยู่ในสภาพที่ดีตลอดไป