ในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนเมือง เรามักพบเห็นร้านขายทองคำแท่ง และทองรูปพรรณอยู่ทั่วไป และมักเห็นคนเดินเข้าออกร้านทองอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่า ทองคำเป็นของมีราคา และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป
แร่ทองคำ
ทองคำเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในจำพวกโลหะที่มีเนื้ออ่อน สีเหลืองสุกปลั่ง คุณสมบัติทั่วไปของทองคำคือ มีสีเหลืองมันวาว ไม่เป็นสนิม ไม่หมอง ไม่มีคราบไคล สูตรทางเคมีคือ Au เป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีปริมาณน้อย
ลักษณะที่พบโดยทั่วไปเป็นเกล็ด หรือเป็นเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ มักเกิดผสมกับแร่เงิน (Ag) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) และเทลลูเรียม (Te) ดังนั้น จึงต้องนำมาถลุงเพื่อแยกเอาเนื้อทองคำแท้ออก ในอดีต ประเทศไทยเคยมีการทำเหมืองทองคำมาแล้วหลายแห่ง เช่น ในภาคเหนือมีที่จังหวัดเชียงราย และลำพูน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีที่จังหวัดเลย ในภาคตะวันออกมีที่จังหวัดปราจีนบุรี ในภาคตะวันตกมีที่จังหวัดกาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และในภาคใต้มีที่จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันมีเหมืองทองคำขนาดใหญ่อยู่ที่จังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์
ทองคำที่ผสมกับแร่ธาตุต่างๆ จะมีลักษณะของเนื้อทองแตกต่างกันด้วย ทำให้มีคุณภาพ และราคาที่แตกต่างกัน ความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำคิดเป็น กะรัต (carat) โดยกำหนดให้ทองคำ ๒๔ กะรัต เป็นทองคำบริสุทธิ์
เมื่อได้เนื้อทองคำมาแล้ว จำเป็นต้องนำมาแปรรูป เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ รูปลักษณ์ของทองคำ ที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ ทองคำเปลว ทองรูปพรรณ และทองแท่ง