เล่มที่ 29
เงินตรา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
มนุษย์ใช้เงินตราเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ ที่ต้องการ โดยได้มีการพัฒนาเงินตรามาเป็นลำดับ ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน

            เงินตราที่ทำจากโลหะในระยะแรกๆ ทำจากเงิน ทองคำ และทองแดง ซึ่งเป็นโลหะ ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ได้ ก่อนโลหะอื่น สามารถหลอมให้เป็นก้อนใหญ่ หรือตัดแบ่งเป็นก้อนขนาดต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังสามารถทำลวดลาย หรือเครื่องหมายต่างๆ ลงบนก้อนหรือแผ่นโลหะนั้นได้ด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า เงินตราที่เรียกต่อมาว่า เงินเหรียญ หรือเหรียญกษาปณ์ โดยมีราคาแตกต่างกันตามน้ำหนักของโลหะ ที่ใช้ในการทำเหรียญแต่ละอันนั้น การทำเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้มีมานานไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และในประเทศจีน แล้วได้แพร่หลายไปในดินแดนอื่นๆ เมื่อการค้าขายระหว่างอาณาจักรต่างๆ ขยายตัวขึ้น


เงินตราหรือเหรียญกษาปณ์ในสมัยโบราณ ทำขึ้นจากโลหะมีค่าหลายชนิด จึงมีน้ำหนักมาก

            เนื่องจากเงินตราที่เป็นเหรียญกษาปณ์มีน้ำหนักมาก ทำให้พกพาไปในระยะทางไกลๆ ไม่สะดวก ต่อมาจึงเกิดมีเงินตราที่เรียกว่า บัตรธนาคาร หรือธนบัตรซึ่งมีน้ำหนักเบา และสามารถกำหนดราคาสูงต่ำได้ตามที่ต้องการ การผลิตเหรียญกษาปณ์จากโลหะมีค่าคือ เงิน และทองคำ จึงค่อยๆ ลดน้อยลง แต่เปลี่ยนไปผลิตเหรียญกษาปณ์จากโลหะชนิดอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่า เช่น ดีบุก นิกเกิล สังกะสี ทองแดง และทองเหลือง เพื่อใช้หมุนเวียนเป็นเงินปลีกในการซื้อขาย


            ในประเทศไทย การใช้เงินตรามีพัฒนาการมาโดยลำดับคือ ในสมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการใช้เบี้ยและเงินพดด้วง เบี้ยเป็นเปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่งซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ใช้เป็นเงินปลีก มีราคา ๑๐๐ เบี้ย เท่ากับ ๑ อัฐ (มีค่าเท่ากับ ๑๑_๒ สตางค์) ส่วนเงินพดด้วงทำจากโลหะเงินตัดแบ่งเป็นก้อนขนาดต่างๆ ตามน้ำหนักที่กำหนดไว้ แล้วทำเป็นรูปขดกลมคล้ายตัวด้วง มีราคาเป็นเฟื้อง สลึง บาท ตำลึง และชั่งตามน้ำหนักของโลหะเงิน ที่ผลิตเหรียญนั้นๆ นอกจากเงินพดด้วงที่ผลิตจากโลหะเงินแล้ว ยังมีเงินพดด้วงที่ผลิตจากทองคำด้วย ซึ่งมีราคาสูงกว่ามาก

            ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ได้เริ่มมีการใช้เหรียญกษาปณ์ที่ประทับตราจากแบบพิมพ์โดยใช้เครื่องจักร มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน เช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ในปัจจุบัน ในการผลิตใช้โลหะต่างชนิดกันตามราคาของเหรียญ คือ เหรียญบาท สลึง และเฟื้องใช้โลหะเงิน เหรียญซีกและเสี้ยวใช้โลหะทองเหลืองและทองแดง เหรียญอัฐและโสฬสใช้โลหะดีบุก นอกจากนี้ ยังมีการผลิตธนบัตรขึ้นใช้ด้วย โดยในรัชกาลที่ ๔ เรียกว่า "หมาย" และในรัชกาลที่ ๕ เรียกว่า "ธนบัตร"


เงินเจียง

            การเปลี่ยนมาตราเงินตราจากระบบน้ำหนักเป็นระบบทศนิยม โดยกำหนดให้ ๑ บาท แบ่งเป็น ๑๐๐ สตางค์ และยกเลิกวิธีการเรียกชื่อมาตราเงินตราแบบเดิม เช่น เฟื้อง สลึง บาท ตำลึง ได้ทดลองทำในรัชกาลที่ ๕ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในตอนต้นรัชกาลที่ ๗ จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

            นอกจากระบบเงินตราที่มีการพัฒนามาเป็นลำดับดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย สมัยที่ยังแบ่งออกเป็นอาณาจักร และแว่นแคว้นต่างๆ ก็มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ของตนเองขึ้นใช้ด้วย และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น ในภาคเหนือมีเงินปลา เงินกีบ เงินท้อก เงินดอกไม้ เงินเจียง เงินกำไล เงินมุ่น เงินไซซี เงินแถบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเงินลาด เงินลาดฮ้อย เงินฮ้อย เงินตู้ เงินฮาง ในภาคกลางมีเงินตราฟูนัน เงินตราทวารวดี เงินตราลวปุระ และในภาคใต้มีเงินดอกจันทน์ เงินนะโม เงินตราเมืองนครฯ เงินตราปัตตานี เงินอีแปะพัทลุง สงขลา ภูเก็ต และเงินเชี้ยม ชื่อเงินเหล่านี้อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยในปัจจุบันเพราะเลิกใช้ไปแล้ว แต่ก็น่าสนใจในด้านของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม