เล่มที่ 12
การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัญหาเรื่องฝิ่น

ฝิ่นต้องการอากาศเย็น และในประเทศไทยต้องปลูกบนที่สูงอย่างน้อย ๑,๐๐๐ เมตร

            ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๒ แม้ว เย้า มูเซอ และ อีก้อ ปลูกฝิ่นเพียงอย่างเดียวเอาไว้ขาย เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตขึ้นไปซื้อ เพื่อนำไปขายให้โรงยาฝิ่น สำหรับให้ผู้ติดฝิ่นที่มีใบอนุญาตเท่านั้น เข้าไปสูบ สมัยนั้น มีผู้ติดฝิ่นน้อยมาก เพราะผู้สูบผอมแห้ง แรงน้อย และถูกประณามว่า เป็น "ขี้ยา"
ไร่ฝิ่น
ไร่ฝิ่น
            พ.ศ. ๒๕๐๒ รัฐบาลออกกฎหมายห้าม ปลูกและค้าฝิ่น จวบจนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๕) เราทราบว่า กฎหมายนั้นทำให้ฝิ่น ซึ่งยังคงมีอยู่บนดอย กลายสภาพเป็นเฮโรอีนบนพื้นราบ สาเหตุเพราะรัฐบาลไม่ได้จัดการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
บ๊วย ไม้ผลชนิดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกแทนฝิ่น
บ๊วย ไม้ผลชนิดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกแทนฝิ่น
รัฐบาลเพียงแต่ตั้งกองสงเคราะห์ขาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยขึ้น เพื่อช่วยชาวเขาที่จะไม่มีรายได้ ถ้าไม่ปลูกฝิ่น

            กองสงเคราะห์ชาวเขาขาดพืชที่จะให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่น เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านการเกษตร ทำการทดลองค้นคว้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ขึ้นไปทำงานบนที่สูงนั้น ในขณะที่ชาวเขาต้องมีรายได้ จึงยังคงปลูกฝิ่นอยู่จนทุกวันนี้

สามเหลี่ยมยากจน

            ชาวต่างประเทศริเริ่ม (และคนไทยเอาอย่าง) เรียกบริเวณที่ปลูกฝิ่นในประเทศพม่า ลาว และไทยว่า "สามเหลี่ยมทองคำ" ซึ่งหมายความว่า ประชาชนในแถบนั้นร่ำรวย เพราะรายได้จากฝิ่นสูงมาก
ภูมิทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมยากจน
ภูมิทัศน์บริเวณสามเหลี่ยมยากจน
            แต่ผู้ที่พบปะชาวเขาบนดอยทราบดีว่า ชาวเขายากจน ขาดแคลนเสื้อผ้า อนามัยไม่ดี อาหารไม่เพียงพอ คุณภาพชีวิตต่ำ รายได้จากฝิ่นน่าจะน้อยกว่าที่ทุกคนคิด และสามเหลี่ยมเห็นจะไม่ใช่เป็นทองคำเสียแล้ว
            เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่า ชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่าๆ กับที่ได้จากท้อพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งโดยวิธีติดตาต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง ก็ควรจะได้ผลใหญ่ หวานฉ่ำ ทำรายได้สูงกว่าฝิ่นเป็นแน่ ดังนั้น จึงทรงตั้งโครงการหลวงขึ้น เป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อดำเนินการ ซึ่งก็กลายเป็นโครงการแรกของโลก ที่กำจัดฝิ่น โดยปลูกพืชที่มีรายได้ดีกว่าแทน