เล่มที่ 12
การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ศูนย์พัฒนา

            ในการที่จะนำพืชใหม่ๆ ไปให้ชาวเขาปลูก นั้น โครงการหลวงตั้งศูนย์พัฒนาขึ้น ๒๖ ศูนย์ ดูแลหมู่บ้าน ๒๑๙ หมู่บ้าน ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และลำพูน

            ศูนย์แต่ละแห่งมีหัวหน้าคุณวุฒิปริญญาตรี ทางเกษตรกรรม พร้อมด้วยผู้ช่วยและคนงานศูนย์ มีหน้าที่ส่งเสริมและจัดส่งผลิตผล ไปโรงคัดบรรจุ ที่เชียงใหม่ งานย่อยคือระงับทุกข์บำรุงสุขแก่ ชาวบ้าน

            โดยที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของศูนย์ไม่อาจจะรอบรู้วิธีปลูกพืชทุกชนิด โครงการหลวงจึงมีหน้าที่เฉพาะพืช เช่น ดอกไม้ ผลไม้ และผัก แยกกันช่วยพนักงานส่งเสริมอีกต่อหนึ่ง เจ้าหน้าที่เฉพาะพืชเหล่านี้ถึงแม้จะทำงานส่งเสริมเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็เป็นบุคลากร ของโครงการวิจัย จึงสามารถเอาผลงานของการวิจัยไปถ่ายทอดให้ ชาวเขาได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้ ก็อาจจะเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบนดอย ไปพิจารณาในวงการวิจัย ในการส่งเสริม กรมส่งเสริมการเกษตรได้ช่วยเหลือโครงการเป็นอย่างมาก โดยให้เจ้าหน้าที่มาช่วยงาน และดูแลศูนย์สำคัญด้วยหนึ่งศูนย์
การให้น้ำหยดแก่พืชบนที่สูง
การให้น้ำหยดแก่พืชบนที่สูง
หน่วยปราบศัตรูพืช

            หน่วยที่สำคัญของโครงการหลวงคือหน่วย ปราบศัตรูพืช ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ด้านแมลงและโรคพืช ไปเยี่ยมตรวจศูนย์พัฒนาอยู่เสมอ ถ้าไม่ถูกเรียกตัว โครงการส่วนมากจะปลูกผักและไม้ดอกในหน้าฝน จึงลำบากเรื่องโรครามาก อนึ่ง โครงการหลวงมีนโยบายไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็น หน่วยปราบศัตรูพืชจะไปควบคุมให้ใช้ยาอย่างถูกต้อง โดยเคร่งครัด

ฝ่ายขนส่ง

            ที่ศูนย์พัฒนาทุกแห่งการคมนาคมลำบาก ไม่มากก็น้อย รถขนส่งส่วนใหญ่จะต้องเป็นรถ ขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งชาวเขายังไม่ค่อยจะมีกัน โครงการหลวงจึงต้องรับภาระขนผลิตผลไปยังโรงคัดบรรจุที่เชียงใหม่ หรือโรงงานอาหารสำเร็จรูปของโครงการ และจัดส่งต่อไปยังกรุงเทพฯ อีกด้วย
การขนส่งผลิตภัณฑ์ไปยังโรงคัดบรรจุ
การขนส่งผลิตภัณฑ์ไปยังโรงคัดบรรจุ
ฝ่ายคัดบรรจุและจัดส่ง

            โรงคัดบรรจุของโครงการหลวงตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นจุดรวมของผลิตผลต่างๆ มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานของผลิตผล บรรจุหีบห่อ แล้วจัดส่งไปร้านค้า หรือหน่วยการตลาดที่กรุงเทพฯ
การเก็บเกี่ยวลินิน
การเก็บเกี่ยวลินิน
            ภาระสำคัญของฝ่ายคัดบรรจุคือ พยายามลดการสูญเสียของพืชผล ตั้งแต่หลังเก็บเกี่ยว ไปจนถึงร้านค้า ในฤดูที่ของราคาแพง การสูญเสียก็จะมากขึ้นด้วย
            การสูญเสียจะลดลงได้มากถ้าบรรทุกรถที่มีเครื่องทำความเย็นและความชื้น รถเช่นนี้โครงการหลวงมีหนึ่งคัน ถ้าพิสูจน์แล้วว่า ได้ผลดี จึงจะจัดหาเพิ่มขึ้น

โรงงานอาหารสำเร็จรูป

            โรงงานอาหารสำเร็จรูปมีหน้าที่เพิ่มค่าของผลิตผล เช่น สตรอว์เบอร์รีส่วนหนึ่งจะมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะที่จะขายสำหรับรับประทานสดๆ จึงต้องเอาไปทำแยมหรือลอยแก้วที่โรงงานในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ทำน้ำเสาวรสอีกด้วย

            โครงการหลวงมีโรงงานอีก ๒ แห่ง ที่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และแม่จัน จังหวัดเชียงราย ผลิตบ๊วยดอง ท้อลอยแก้ว ลิ้นจี่กระป๋อง ข้าวโพดอ่อนกระป๋อง มะเขือเทศข้นกระป๋อง และแป้งถั่วเหลือง เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ดอยคำ
ผลิตภัณฑ์ดอยคำ
หน่วยตลาด

            ผลิตผลของชาวเขานั้น โครงการหลวงจัดจำหน่ายให้ โดยคิดค่าใช้จ่าย ๒๐% ของราคาที่ขายได้แต่ละครั้ง หน่วยตลาดมีที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ส่งผลิตผลไปจำหน่ายที่ซุเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม และตลาดขายส่ง ลูกค้าขายส่งที่สำคัญ คือ อ.ต.ก. เครื่องกระป๋องและแยม บริษัทบอร์เนียวเป็นผู้แทนจำหน่าย ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงใช้ชื่อจดทะเบียนการค้าว่า "ดอยคำ"

งานพัฒนาสังคม

๑. ธนาคารข้าว

            พระราชทานข้าวเพื่อตั้งธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย ที่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง เพราะชาวลัวะที่นั่น บางปีขาดแคลนข้าว ต้องยืมเงินซื้อโดยเสียดอกเบี้ยสูงมาก จนไม่มีทางจะชำระหนี้ได้หมด ธนาคารข้าวที่ตั้งขึ้นนี้ คิดดอกเบี้ยต่ำ ขนาดชาวบ้านสามารถใช้คืนได้ในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป หลักเกณฑ์ของธนาคารมีอยู่ว่า ชาวบ้านต้องช่วยกันสร้างยุ้งข้าว และรวมกลุ่มกันดูแลการจ่ายออก และทวงคืน มีธนาคารข้าวหลายแห่งที่สามารถสะสมข้าวได้จนเหลือใช้ จึงทูลเกล้าฯ ถวายคืน เพื่อพระราชทานธนาคารอื่นต่อไป

๒. โรงเรียน

            ที่ใดไม่มีโรงเรียน โครงการ หลวงจะตั้งขึ้น แล้วทางการประถมศึกษาแห่ง ชาติรับไปดูแลต่อไป

๓. ห้องสมุดเคลื่อนที่

            มีวัตถุประสงค์ให้ เด็กรักที่จะอ่านหนังสือ นอกจากนี้ ยังสอนให้ เด็กร้อง รำ และเล่นตามแบบไทยอีกด้วย

๔. ศูนย์ศิลปหัตถกรรม

            สอนวิธีจักสาน และเย็บผ้า เป็นต้น

๕. กลุ่มเฉพาะกิจ

            เพื่อสร้างถนน ประปา โดยชาวเขาร่วมกันออกเงินและแรง โครงการหลวงช่วยด้านทุนทรัพย์โดยได้รับจากการกุศลเฉพาะราย
นาข้าวสาลี
นาข้าวสาลี
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการพัฒนาที่สูง

            การพัฒนาที่สูงจำเป็นต้องกระทำ เพื่อลดความเสียหายแก่ประเทศ จากต้นน้ำลำธาร จากฝิ่น และจากการที่มีคนอดอยากยากจน นอกจากนี้ ยังจะทำประโยชน์อย่างมากแก่เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย การพัฒนามีดังนี้

            ๑. โดยการส่งผลิตผลออกนอกประเทศ เพื่อได้เงินตราต่างประเทศ ผลิตผล เช่น สตรอว์เบอร์รีและผัก ซึ่งได้ส่งออกแล้ว ดอกไม้ และองุ่น ไม่มีเมล็ด มีทีท่าว่าจะสำเร็จ

            ๒. ลดการนำเข้าของข้าวสาลี กาแฟภูเขา ดอกไม้ และผลไม้

            ๓. มีผลิตผลใหม่ๆ สำหรับบริโภคภายในประเทศ