เล่มที่ 12
การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัญหาการเกษตรของชาวเขา

            ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตภูเขา หรือที่สูงที่เรียกกันว่า ชาวเขานั้น มีอาชีพเพาะปลูกพืชไร่บางชนิด และปลูกฝิ่น

            ชาวเขารู้จักปลูกฝิ่นกันมาเป็นเวลานานแล้ว เข้าใจว่า มีการนำเมล็ดพันธุ์มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ฝิ่นสามารถขึ้นได้ดีในที่สูงทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นไป แต่ก่อนนี้ ชาวเขารู้จักเพาะปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่ว และฝ้าย เป็นต้น พืชดังกล่าวนี้ใช้เป็นอาหาร เลี้ยงสัตว์ และใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ส่วนฝิ่นนั้นจะปลูก เพื่อบริโภค และขายเป็นเงินไปซื้ออาหาร และของที่จำเป็นต่อการครองชีพเพิ่มเติม

            การทำการเกษตรของชาวเขาดังกล่าวนี้ จะมีลักษณะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย คือ ย้ายที่ไปเรื่อยๆ หลังจากที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีวัชพืชเกิดขึ้นมาก ทำให้มีการทำลายป่า เพื่อการเพาะปลูกกันมากขึ้นทุกปี นอกจากต้นไม้ในป่าจะถูกตัดฟัน และเผาทำลายไป โดยไร้ประโยชน์แล้ว ต้นน้ำลำธารก็ถูกกระทบกระเทือนเป็นอันตรายไปด้วย

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงปัญหาในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทรงเห็นว่าการที่จะขับไล่ หรือเคลื่อนย้ายชาวเขาให้ไปอยู่ในที่ที่กำหนดให้นั้น จะทำได้ยาก แต่ถ้าสามารถช่วยให้ชาวเขามีความรู้ความสามารถทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ชาวเขาตั้งหลักแหล่งอยู่ในที่ถาวรได้ โดยไม่เคลื่อนย้ายทำไร่เลื่อนลอยดังแต่ก่อน และจะก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวมในที่สุด

            พระราชดำริในเรื่องนี้ทำให้เกิดโครงการส่วนพระองค์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ มีชื่อว่า "โครงการหลวง" มีวัตถุประสงค์ที่จะหาพืชทดแทนฝิ่น อันเป็นพืชสำคัญของชาวเขา ซึ่งถ้าหากทำได้เป็น ผลสำเร็จก็จะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ปัญหาเรื่องต้นน้ำลำธาร และปัญหายาเสพติด เป็นต้น

            โครงการหลวงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด ดังได้กล่าวแล้ว โดยละเอียดในภาคต้น ต้นเหตุคือ "ชาวเขา" และ "ฝิ่น" จึงทำให้เกิดการค้นคว้าวิจัยทางเกษตรสาขาใหม่ขึ้น ในประเทศไทย นั่นคือ "การเกษตรที่สูง"