เล่มที่ 12
การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โครงการหลวงกับการพัฒนาที่สูง

            ประเทศไทยทางตอนเหนือ เช่น จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และแม่ฮ่องสอนนั้น จะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและหุบเขา เป็นส่วนมาก โดยจะมีทิวเขาเป็นแนวยาวขนานกัน จากเหนือมาใต้ เริ่มตั้งแต่ทิวเขาแดนลาวทางทิศตะวันตก ถัดมาเป็นทิวเขาขุนตาล ทิวเขาผีปันน้ำ และทิวเขาหลวงพระบางทางทิศตะวันออก จากทิวเขาแดนลาว จะมีทิวเขาถนนธงชัยทอดตัวลงมาทางใต้ และมีทิวเขาจอมทองเป็นสาขาอีกด้วย ที่ราบระหว่างหุบเขา เช่น ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่นั้น จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ ๓๐๐ ถึง ๕๐๐ เมตร ส่วนภูเขาต่างๆ จะมีความสูงแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่จะสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ถึง ๒,๕๐๐ เมตร ยอดเขา หรือดอยที่สูงที่สุดคือ ดอยอินทนนท์ ของทิวเขาจอมทอง ซึ่งสูงถึง ๒,๕๖๕ เมตร

            จากลักษณะของภูมิประเทศดังกล่าวนี้ ได้มีการนิยามว่า พื้นที่ในระดับความสูง ๗๐๐ เมตร ขึ้นไปนั้นจะเรียกว่า "ที่สูง" ซึ่งจะหมายถึง พื้นที่เชิงเขาขึ้นไป จนถึงยอดเขานั่นเอง พื้นที่สูงนี้ มีลักษณะอากาศแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นคือ จะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่า และในที่สูงบางแห่งจะมีอากาศหนาวเย็นมากในฤดูหนาว จนกระทั่งน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง ที่สูงของไทยมีเนื้อที่มากถึง ๓๖ ล้านไร่

ความสำคัญของที่สูง

            ที่สูงมีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย และได้แผ่ขยายความสำคัญ ไปยังส่วนอื่นทั่วประเทศด้วย ดังเหตุผลต่อไปนี้

๑. ที่สูงเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ

            ฝนที่ตกลงบนพื้นที่ส่วนบนจะไหลลง กลายเป็นห้วย ลำธาร และแม่น้ำน้อยๆ เป็นกิ่งก้านสาขาไปสมทบกันกลายเป็นแม่น้ำใหญ่ สำหรับที่สูงในภาคเหนือนี้ ปันน้ำลงเป็นสามทาง คือ ทางใต้ปันน้ำ ส่วนใหญ่ลงสู่แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นสาขาสำคัญ ของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือ เป็นต้นแม่น้ำอิง กก ฝาง และจัน ไหลลงแม่น้ำโขง และทางทิศตะวันตกเป็นแม่น้ำปาย และขุนยวม ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน

            เมื่อฝนตกลงบนที่สูง เราไม่ต้องการให้ น้ำไหลบ่าอย่างรุนแรงไปท่วมทำลายไร่นาและ บ้านช่องบนพื้นราบ และเมื่อฝนหยุดตก เราก็ ไม่ต้องการให้ห้วยลำธารเหล่านั้นเหือดแห้งไปโดย ทันที ทำให้พืชผลเหี่ยวแห้งเสียหาย
สภาพป่าบนที่สูงถูกบุกรุกทำลายเพื่อการทำไร่เลื่อนลอย
สภาพป่าบนที่สูงถูกบุกรุกทำลายเพื่อการทำไร่เลื่อนลอย
๒. ที่สูงเป็นที่ที่มีอากาศเย็น

            สามารถปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งมีค่าสูงทางเศรษฐกิจ

๓. ที่สูงมีหน้าดินอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุที่พืชต้องการใช้เป็นอาหาร

            ฉะนั้นที่สูงจึงเป็น บริเวณป่าที่สมบูรณ์กว่าส่วนอื่นของประเทศ ป่านี้มีคุณค่าโดยตรง คือ เมื่อตัดฟันต้นไม้แล้ว ก็ลากเอาไปทำบ้านเรือน และเครื่องใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ทางอ้อม เช่น ช่วยลดความรุนแรงของน้ำที่ไหลบ่าลงจากที่สูง และเป็นแหล่งที่มีหน้าดินที่สมบูรณ์ เนื่องจากใบไม้ที่ร่วงลงเน่าเปื่อยสะสมกัน

๔. ที่สูงเป็นที่ปลูกฝิ่นโดยชาวเขา


            แม้ฝิ่นจะมีคุณค่าทางยาอยู่บ้าง แต่ก็มีโทษมหันต์ สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ได้ทั้งในและนอกประเทศ
ที่สูงต้องมีการพัฒนา

            ถ้าที่สูงถูกปล่อยไว้เฉยๆ ความเสียหายจะเพิ่มขึ้น โดยทวีคูณ และคุณประโยชน์ที่อาจจะกระทำให้เกิดขึ้นได้ ก็จะไม่ปรากฏ

ชาวเขา

            เป็นเวลานานแล้ว ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตภูเขา หรือ "ที่สูง" จนเรารู้จักกันดีในชื่อของ "ชาวเขา" ซึ่งภาษาราชการเรียกว่า "ชาวไทยภูเขา" ชนชาวเขานี้มีอยู่มากมายหลายเผ่า และอาศัยอยู่ในที่สูงทางภาคเหนือเป็นจำนวนมาก มีชาวเขาหลายเผ่า ที่ชอบอาศัยอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก คือ ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป และในพื้นที่เช่นนี้ พืชที่ชอบอากาศเย็นจะมีการเจริญ เติบโตได้ดีมาก

ชาวเขาในประเทศไทยมีประมาณ ๑๐ เผ่า ๕๐๐,๐๐๐ คน คือ ลัวะ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มูเซอ อีก้อ ถิ่น ว้า และปะหล่อง
 ชาวเขาเผ่าอีก้อ
ชาวเขาเผ่าอีก้อ
            ยกเว้นเผ่าลัวะและกะเหรี่ยง ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย กล่าวคือ เมื่อเพาะปลูกซ้ำที่จนกระทั่ง ผลิตผลต่ำ เพราะดินหมดความอุดมสมบูรณ์ และหญ้าขึ้นรกแล้วก็จะย้ายไร่ เคลื่อนหมู่บ้านไปตัดฟันป่า เพื่อทำไร่ในบริเวณอื่น การเคลื่อนย้ายเช่นนี้ เริ่มต้นที่จีน พม่า ลาว จนถึงประเทศไทย ซึ่งถัดไปก็เป็นทะเล

เผ่าลัวะและกะเหรี่ยงผิดแปลกจากเผ่าอื่น ๓ ประการ คือ

            ๑. ตามธรรมดาไม่ปลูกฝิ่น
            ๒. ตั้งภูมิลำเนาในประเทศไทยมาก่อนคนไทยเอง
            ๓. ตั้งหมู่บ้านอยู่อย่างถาวร เพราะใช้ระบบทำไร่หมุนเวียน

ไร่หมุนเวียน

            ลัวะและกะเหรี่ยงจะแบ่งเนื้อที่เพาะปลูก ออกเป็น ๘ แปลง (บางทีอาจถึง ๑๐ แปลง) ซึ่งแต่ละแปลงจะใช้เพาะปลูกเพียงปีเดียว แล้วย้ายไปแปลงที่ ๒ ต่อไป ดังนั้นแต่ละแปลงจะได้พัก คือ เว้นการเพาะปลูก ๗ ปี

            ระหว่างที่พัก แต่ละแปลงจะมีเมล็ดของต้นไม้ป่า ที่ขึ้นอยู่โดยรอบปลิวลงมา เมื่อฝนตก เมล็ดเหล่านี้ก็จะงอก และโดยที่ชาวบ้านคอยระวังเป็นอย่างมาก ไม่ให้เกิดไฟไหม้ ต้นไม้เล็กๆ เหล่านี้ก็จะเติบโต จนกระทั่งกลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ ในปีที่ ๘

            ในปีที่จะใช้พื้นที่เพาะปลูก ต้นไม้จะถูกโค่นล้มและเผา เถ้าถ่านของต้นไม้ที่ดูดแร่ธาตุ จากใต้ดินจะเป็นปุ๋ยที่ดีของพืชที่จะปลูก การปลูกใช้วิธีเอาไม้จิ้มดินให้เป็นหลุม แล้วหยอดเมล็ดลงไป

            การที่ไร่ถูกใช้ครั้งเดียว และไม่มีการไถพรวน หน้าดินจึงไม่ถูกชะล้าง ความอุดมสมบูรณ์จะคงอยู่ตลอดไป กับทั้งจะป้องกันไม่ให้วัชพืช เช่น หญ้า ขึ้นรกจนปราบไม่ไหว แต่ระบบหมุนเวียนมีข้อเสียที่ว่า จะต้องมีเนื้อที่ถึง ๘ เท่า ของไร่ที่จะใช้แต่ละปี ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหา เพราะมีที่ดินไม่เพียงพอ