ลักษณะอาการของที่สูง
ที่สูงของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือนั้น นอกจากจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากแล้ว (๗๐๐ - ๒,๕๐๐ เมตร) ยังอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากกว่าส่วนอื่นของประเทศอีกด้วย (ละติจูด ๑๘ - ๒๐ องศาเหนือ) ทำให้มีลักษณะเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือ อากาศจะหนาวเย็นกว่าในพื้นที่อื่น โดยทั่วไปการที่ให้ความสำคัญแก่ลักษณะอากาศมากกว่าปัจจัยอื่นๆ ก็เพราะว่า ลักษณะของดิน สภาวะของฝนและเรื่องอื่นๆ เช่น ลมพายุนั้น เป็นเรื่องที่จะป้องกันแก้ไข หรือปรับปรุงได้พอสมควร แต่เรื่องของลักษณะอากาศนั้น ยากต่อการเปลี่ยนแปลง
ที่สูงบางแห่ง เช่น ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่นั้น จะมีอุณหภูมิในฤดูหนาว ต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสทุกปี และในบางปีอุณหภูมิอาจลดต่ำถึง -๖ องศาเซลเซียสทีเดียว ระยะที่มีอากาศหนาว จนถึงหนาวจัดนั้น จะเริ่มประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน และจะหนาวไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างน้อย และถึงแม้จะเป็นฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมก็ตาม อากาศในตอนกลางคืนก็จะยังเย็นจนถึงหนาว
ลักษณะภูมิประเทศของที่สูง
บนที่สูงหรือตามดอยต่างๆ นั้น เนื่องจาก ภูมิประเทศเป็นภูเขาและหุบเขาซึ่งมีลักษณะไม่ เหมือนกัน บางแห่งจะเป็นภูเขาซับซ้อน บางแห่งจะมีลักษณะเป็นกระทะหรือชามอ่าง มีภูเขาสูงล้อมรอบ บางแห่งมีลำธารไหลผ่านมาก บางแห่งอยู่ในทิศทางของลมแรง และบางแห่งมีป่าเหลืออยู่มาก เป็นต้น ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ลักษณะอากาศ ของพื้นที่แต่ละแห่งแตกต่างกันไป ถึงแม้จะมีระดับความสูงใกล้เคียงกันก็ตาม ในที่ลาดชันนั้น อากาศเย็นซึ่งหนักกว่าอากาศอุ่นจะไหลจากยอดเขาลงมาสู่หุบเขา ข้างล่าง ทำให้พื้นที่ในหุบเขานั้นเย็นหรือหนาวจัด กว่าด้านบนของความลาดชัน ยิ่งถ้าเป็นหุบเขา แบบก้นกระทะ หรือเป็นชามอ่างด้วยแล้ว อากาศเย็นจะไหลลงมารวมกันอยู่ที่ก้นอ่าง หรือก้นกระทะ ทำให้หนาวมากยิ่งขึ้น ในบางแห่งจะทำให้อุณหภูมิในฤดูหนาวลดต่ำลง ถึงขนาดที่เกิดน้ำค้างแข็งได้ และทำให้ใบไม้ของพืชหลายชนิดไหม้เกรียม และอาจถึงตายได้ด้วย ต้นไม้ที่จะปลูกในที่เช่นนี้ จึงควรเป็นต้นไม้ที่ชอบอากาศหนาว และมีความทนทานต่ออุณหภูมิต่ำได้ดี
ที่สูงบางแห่งจะมีเมฆหมอกมาก เมฆ หมอกเหล่านี้อาจเกิดจากการที่มีแหล่งน้ำ หรือมีป่าใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง หรือเป็นพื้นที่สูงมาก เช่น ยอดดอยอินทนนท์ เป็นต้น ที่สูงดังกล่าว นี้จะมีลักษณะอากาศเย็นชื้น เหมาะสำหรับการเจริญเติบโต ของพืช ประเภทเฟินและมอสส์ต่างๆ แต่ไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับพืชที่ต้องการแสงแดดมาก เช่น ไม้ผลต่างๆ
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นจะต้องศึกษาลักษณะอากาศของพื้นที่ให้ทราบแน่นอน ก่อนที่จะพิจารณาชนิดของพืชที่จะปลูกในที่นั้นๆ โดยคำนึงถึงเรื่อง สำคัญ ๓ เรื่องคือ
๑. ความหนาวเย็นในเดือนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว
๒. อันตรายจากน้ำค้างแข็ง
๓. แสงแดด และเมฆหมอก