ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ส่วนใหญ่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการที่ราษฎรบุกรุกเข้าแผ้วถางป่า เพื่อนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตร หรือบุกเบิกพื้นที่ เพื่อการทำไร่เลื่อนลอย เป็นเหตุให้น้ำไหลบ่ากัดเซาะดินและอินทรียวัตถุในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จนดินเสื่อมคุณภาพ และน้ำฝนที่เคยไหลซึมลงไปเก็บสะสมอยู่ในดินได้มาก จะมีปริมาณลดลงกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อมีฝนตกหนักในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ น้ำจะไหลบ่าท่วมพื้นที่เพาะปลูก และที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ตอนล่างอย่างฉับพลัน แต่ในฤดูแล้งลำธาร และลำห้วยดังกล่าวไม่มีน้ำไหล จึงเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของประชาชน ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นนั้นเสมอมา | |
พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อการทำไร่เลื่อนลอย | |
สาเหตุสำคัญ ซึ่งทำให้พื้นที่ต้นน้ำลำธารทั่วไปมีความเสื่อมโทรมนั้น เกิดจากการกระทำของมนุษย์และธรรมชาติ ๑. การกระทำของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พื้นที่ต้นน้ำลำธารจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย เกิดความเสื่อมโทรม ได้แก่ ๑.๑ การโค่นถางป่า เพื่อนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตร เช่นการทำไร่เลื่อนลอย และการเพาะปลูกอย่างถาวร ๑.๒ การเผาป่าด้วยสาเหตุต่างๆ กัน เช่น เผาป่า เพื่อบุกเบิกที่ดิน มาใช้ทำการเกษตร หรือเนื่องจากผู้คนที่เข้าไปหาของป่า ทำไม้ และเที่ยวป่า เมื่อก่อไฟ เพื่อหุงหาอาหาร หรือเพื่อไล่สัตว์ร้ายแล้ว มิได้ดูแลดับไฟให้เรียบร้อย จึงเกิดไฟไหม้ป่าขึ้น ๑.๓ การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เช่น ถนน สิ่งก่อสร้างต่างๆ หมู่บ้าน และ ฯลฯ โดยมิได้ควบคุมน้ำที่ไหลบ่าลงมาตามร่องน้ำ หรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างให้ดีพอ จึงเกิดน้ำไหลกัดเซาะพื้นที่บริเวณข้างเคียง ๑.๔ การใช้ที่ดินไม่เหมาะสม ตามสมรรถนะของที่ดิน เช่น การทำเกษตรกรรมบน พื้นที่ลาดชันในบริเวณต้นน้ำลำธาร โดยการโค่นล้มแผ้วถางป่า หรือใช้ไฟเผา การกระทำใน ลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดการกัดเซาะหน้าดิน และทำลายพื้นที่ดินในบริเวณต้นน้ำลำธาร ดังกล่าวมาแล้ว | |
พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารถูกเผาทำลายเพื่อใช้ทำการเกษตร | |
๒. ความเป็นไปของธรรมชาติ ช่วยเสริมการกระทำของมนุษย์ ทำให้พื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารเสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ๒.๑ ฝนตกหนัก แล้วเกิดน้ำไหลบนผิวดินมีปริมาณมากเกินกว่าปกติ ๒.๒ ลมพัดแรง หรือพายุพัดพาดินให้เคลื่อนที่ หรือสึกกร่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท้องที่ ซึ่งเป็นดินร่วน และดินทรายที่ไม่มีพืชปกคลุมเพียงพอ ๒.๓ พื้นดินตามบริเวณที่มีความลาดชัน หรือชายเนิน ได้เลื่อนทลายลงสู่เบื้องล่าง เนื่องจากเป็นดินร่วน หรือดินทราย และเป็นบริเวณที่มีน้ำในดินไหลออกมามาก จนดินขาดการทรงตัวอยู่ได้ตามธรรมชาติ |