เล่มที่ 12
การพัฒนาแหล่งน้ำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันและบรรเทาน้ำท่วม

            น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมีปริมาณมาก และตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิดน้ำไหลบ่าเหนือผิวดิน ลงสู่ร่องน้ำลำธาร และในแม่น้ำมากกว่าปกติ ซึ่งในขณะที่น้ำจำนวนมากไหลไปตามร่องน้ำ ลำธาร และแม่น้ำนั้น หากลำน้ำตอนใด ไม่สามารถรับปริมาณน้ำทั้งหมดให้ไหลอยู่เฉพาะภายในตัวลำน้ำได้ ก็จะทำให้น้ำมีระดับท้นสูงกว่าตลิ่ง แล้วไหลล้นฝั่งบ่าไปท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำ หรืออาจไหลไปท่วมขังตามที่ลุ่มต่ำ ไกลออกไป เป็นบริเวณกว้างด้วย นอกจากนั้นตามพื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ในเขตชุมชน ซึ่งไม่มีระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ เมื่อเกิดฝนตกหนัก เป็นเวลานานๆ ในแต่ละครั้ง มักเป็นปัญหา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นที่ แล้วทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก และทรัพย์สินต่างๆ ได้เสมอเช่นกัน
สภาพน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก
สภาพน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก
            ในกรณีเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตชุมชน หรือน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร อาจทำให้ทรัพย์สิน และพืชผลจำนวนมาก ของประชาชน ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสียหายอันเนื่องมาจากการเกิดน้ำท่วม ในลักษณะดังกล่าว เราเรียกว่า "อุทกภัย" เช่น อุทกภัยเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ในบริเวณภาคกลาง ซึ่งได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการบรรเทาน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๖
            งานป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมเป็นงาน พัฒนาแหล่งน้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง มีจุดมุ่งหมาย เพื่อการแก้ไข หรือบรรเทา ปัญหาน้ำจากแม่น้ำลำคลองมีระดับสูงในฤดูน้ำหลาก แล้วไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่และทำความ เสียหายให้กับพืชที่ปลูก หรือท่วมพื้นที่ในเขตชุมชนจนได้รับความเสียหาย ด้วยวิธีการที่พิจารณาแล้วว่า มีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ ไม่มีผลกระทบ ในการทำลายสภาวะแวดล้อมและธรรมชาติ ตลอดจนเสียค่าใช้จ่ายน้อย และได้รับประโยชน์คุ้มต่อการลงทุน

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยต่องานป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วม เช่นเดียวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่น โครงการป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วม ตามพระราชดำริ ได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในคราวเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรบ้านปาดังยอ ตำบลมูโนะ อำเภอ สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยความทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ในฤดูมรสุมน้ำในแม่น้ำโกลก ซึ่งกั้นแนวชายแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียนั้น มีระดับสูงล้นตลิ่ง บ่าไปท่วมไร่นาของราษฎรเสียหายทุกปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างคลอง สำหรับผันและแบ่งน้ำ จากแม่น้ำโกลก ในเวลาน้ำไหลหลากมามากออกสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง จึงช่วยบรรเทาอุทกภัย ในเขตพื้นที่ไร่นาได้เป็นบริเวณพื้นที่กว้าง หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับงานป้องกัน และบรรเทาน้ำท่วมแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาดำเนินการเป็นลำดับตลอดมา เป็นต้นว่า ในการพิจารณาวางโครงการอ่างเก็บน้ำ เพื่อการเกษตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ อย่างสอดคล้องกับหลักวิชาการว่า สมควรพิจารณากำหนดขนาดของอ่างเก็บน้ำ ให้มีความจุมากเท่าที่สภาพภูมิประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถอำนวยให้ดำเนินการได้ และคุ้มกับค่าลงทุน เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์แก่พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้นแล้ว อ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ ย่อมช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ด้านล่างได้ดีอีกด้วย  นอกจากนั้น เมื่อเกิดน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลหลายคราวที่ผ่านมา ก็ทรงห่วงใย และพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาดำเนินการได้อย่างเหมาะสม