เล่มที่ 12
การพัฒนาแหล่งน้ำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

            การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นการจัดหา และนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในด้านการเกษตร ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ที่สำคัญได้แก่ น้ำใช้ เพื่อการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์
คูส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกช่วยทำให้ไร่นาได้รับน้ำอย่างทั่วถึง
คูส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกช่วยทำให้ไร่นาได้รับน้ำอย่างทั่วถึง
            ในบรรดางานพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อ นำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในกิจการด้านต่างๆ นั้น งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรจัดว่า เป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากอย่างยิ่ง ในการช่วยให้เกษตรกร สามารถทำการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ให้ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบัน มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมากตามภาคต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงอาศัยน้ำฝนและใช้น้ำจากแม่น้ำ ลำธารตามที่มีเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีงานพัฒนา แหล่งน้ำช่วยเหลือ ปีใดที่มีฝนตกโดยเฉลี่ยดีตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ก็จะทำให้การเพาะปลูกในปี นั้นได้รับผลดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากปีใดมีฝนตก น้อยหรือไม่มีฝนตกในเวลาที่พืชต้องการ การ เพาะปลูกในปีนั้นก็จะได้รับความเสียหายหรือ ไม่ได้รับผลิตผลดีเท่าที่ควร เป็นเหตุให้เกษตรกร ในหลายท้องที่ต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะไม่มี น้ำสำหรับทำนา ปลูกพืชไร่ และใช้เลี้ยงสัตว์ อยู่เสมอทุกปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในถิ่นทุรกันดาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในถิ่นทุรกันดาร
            ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรท้องที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกปีนั้น ทำให้ทรงทราบถึงสาเหตุแห่งความยากจนของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำมาหากิน ในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญว่า ราษฎรส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนามักประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำกิน และน้ำใช้ เพื่อการเกษตร จึงไม่สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้ได้ผลตามที่มุ่งหมาย ทำให้ราษฎร ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลเหล่านั้น มีแต่ความยากจน และขาดแคลนอาหารสำหรับบริโภค

            ด้วยเหตุนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมราษฎรตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงสอบถามข้อมูล จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ถึงเรื่องเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ สภาพการทำนา และการเพาะปลูกอย่างอื่น สภาพฝน และแหล่งน้ำธรรมชาติ ในบริเวณนั้น มีเพียงพอใช้ หรือขาดแคลน เป็นประการใดบ้าง เพื่อประกอบพระราชดำริ เมื่อทรงศึกษาข้อมูลจากราษฎรอย่างละเอียดแล้ว ถ้าปรากฏว่า สภาพภูมิประเทศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ของบริเวณหมู่บ้าน และตำบลใด พอมีลู่ทางก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรที่เหมาะสมขึ้นได้ ก็จะพระราชทานแนวพระราชดำริ กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ให้นำไปพิจารณาความเหมาะสม ก่อนวางโครงการ ในขั้นรายละเอียด และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนถึงการก่อสร้างต่อไป