เล่มที่ 12
การพัฒนาแหล่งน้ำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดำเนินงานสนองพระราชดำริ

            ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรม มีหลายหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ด้วยวิธีการต่างๆ กัน ได้แก่ การอนุรักษ์ป่าไม้ การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยทางพืช ร่วมกับการก่อสร้างคันดิน หรือสร้างขั้นบันได รวมทั้ง วิธีการก่อสร้างฝายปิดกั้นทางน้ำ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารดัง ต่อไปนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯทอดพระเนตรฝายเก็บกักน้ำในบริเวณต้นน้ำลำธาร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่
            กรมป่าไม้ได้จัดตั้ง และดำเนินงานโครงการพัฒนาต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำริหลายหน่วย กระจายอยู่ตามท้องที่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ มีการปลูกเสริมป่า เพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ในบริเวณที่เสื่อมโทรม และสนองพระราชดำริ ในการจัดให้ชาวไทยภูเขา ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพัฒนาชาวเขา โดยมีที่ดินถาวร สำหรับทำมาหากิน เพื่อป้องกัน และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อใช้พื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย ในพื้นที่จัดสรรให้เพาะปลูกเหล่านี้ มีการปรับพื้นที่เป็นนาขั้นบันได เพื่อปลูกข้าว หรือก่อสร้างคันดินชะลอความเร็วของน้ำ ที่ไหลบ่ามาตามผิวดิน แล้วใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ อันเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารอย่างถูกต้อง ตามหลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น โครงการพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ ๑ ห้วยทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ ๒๗ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โครงการพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ ๒๙ แม่ตาช้าง อำ เภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โครงการพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ ๓๒ ดอยมูเซอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และโครงการพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ ๓๔ ขุนงาว อำ เภองาว จังหวัดลำปาง เป็นต้น

พื้นที่ลาดเนินที่ปรับเป็นขั้นบันไดเพื่อการเพาะปลูก
            กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินงานโครงการหลวง พัฒนาที่ดินในบริเวณพื้นที่โครงการหลวงทุกแห่ง เพื่อจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขา ให้สามารถทำการเพาะปลูกดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่ง โดยวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำขั้น บันไดดินและจัดระบบชลประทานในไร่นา อีก ทั้งแนะนำและสาธิตการใช้ที่ดิน ในเขตพื้นที่โครงการหลวงให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ใน ด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารอีกด้วย

            สำหรับการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยวิธีการก่อสร้างฝายปิดกั้นทางน้ำนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ สร้างฝายเก็บกักน้ำตามร่องน้ำลำธารในพื้นที่ต่างๆ เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ตามพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พื้นที่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เชิงดอยอินทนนท์ในเขตโครงการหลวง อำเภอจอมทอง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นใกล้เคียง สร้างเป็นฝายแบบง่ายๆ ที่มีราคาถูก ตามวิธีการที่ได้กล่าวข้างต้น แล้วผันน้ำจากด้านเหนือฝาย กระจายไปตามร่องที่ขุด ซึ่งน้ำจะซึมลงไปในดิน และเกิดความชุ่มชื้นแก่พืชที่ต้นน้ำลำธารบริเวณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี