เล่มที่ 12
การพัฒนาปัจจัยการผลิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมายของการพัฒนาฝีมือแรงงาน

            คำว่า "ฝีมือ" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นความเชี่ยวชาญในการใช้มือ การช่างทำด้วยมือ ส่วนคำว่า "แรงงาน" ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นความสามารถในการทำงาน เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์ ดังนั้น "ฝีมือแรงงาน" จึงหมายถึง ความเชี่ยวชาญในการ ลงมือลงแรงทำงาน เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

นักศึกษาวิชาชีพ
กำลังศึกษาภาคปฏิบัติ

            สังคมไทยปัจจุบัน กำลังก้าวสู่ยุคแห่งการถ่ายทอดกำลังแรงงาน จากภาคเกษตรกรรมในชนบท เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในเมือง ประกอบกับการเพิ่มตัวของประชากร เป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่ดินเพื่อการเกษตรมีจำนวนจำกัด ทรัพยากรผิวดินของเรา ที่เคยอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ เริ่มขาดแคลนลง จะต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น เช่น พัฒนาการบำรุงดิน การใช้ปุ๋ย การใช้ยาปราบศัตรูพืช การคัดเลือกพันธุ์ การปลูกพืชในพื้นที่น้อยๆ แต่ใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ได้ผลิตผลมาก ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน เรามีความจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน ในด้านต่างๆ เช่น ช่างโลหะ ช่างกล ช่างไม้ และช่างอื่นๆ ให้ทันความต้องการของตลาด ตลอดจนมีคุณภาพ ประณีต สวยงาม เพื่อให้สามารถผลิตผลงานให้ทัดเทียมประเทศอื่น เพื่อการแข่งขันในตลาดโลก คนที่เคยประกอบ อาชีพอยู่อย่างไร ถ้ายังทำอยู่อย่างนั้น ไม่พัฒนางานอาชีพ ไม่พัฒนาฝีมือของตนเอง หนทางการทำมาหากิน เพื่อให้มีการดำรงชีวิตที่ดี ก็จะยากขึ้นทุกที
ปัจจุบันอิทธิพล และค่านิยมเดิมยังทำให้โรงเรียนเป็นจำนวนมาก มุ่งเน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีเป็นสำคัญ การฝึกทักษะอาชีพ ที่จัดขึ้นในโรงเรียน ยังไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ และการเรียนการสอน ยังไม่ทำให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในชีวิตได้ ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรเท่าที่ควร ประกอบกับประชากรจำนวนกว่าร้อยละ ๗๐ ของประเทศไทย เป็นประชากรภาคชนบท ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือยกระดับทักษะ ให้สอดคล้องกับอาชีพ เพื่อให้ประชากรมีประสิทธิภาพในการทำงาน และดำรงชีวิตด้วยดียิ่งขึ้น