เล่มที่ 12
การพัฒนาปัจจัยการผลิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ธนาคาร

            ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเกษตรโดยตรงได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้ว่าหน่วยงานนี้ จะมีหน่วยงานที่แยกย่อยออกไปทำหน้าที่ต่างๆ มากมายแล้วก็ตาม ปัญหาในทางการเกษตรที่เกิดขึ้น ได้เกิดเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขให้สิ้นสุดได้ เช่น ปัญหาเกษตรกรขาดแคลนเงินทุน เมื่อต้องการซื้อพันธุ์พืช โค หรือกระบือ เกษตรกรจะแก้ปัญหาด้วยการกู้เงิน ผู้ให้กู้ ซึ่งมักคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง โดยเกษตรกรมีความหวังว่า จะแบ่งรายได้จากผลิตผลของตนที่เก็บเกี่ยวได้ ไปใช้หนี้ในภายหลัง แต่การเกษตรของไทยส่วนใหญ่ มักขึ้นอยู่กับสภาวะทางธรรมชาติ ในปีใดที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ หรือฝนแล้ง เกษตรกรก็จะสูญเสียผลิตผลในปีนั้นทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด หนี้สินของปีนั้น ก็ไม่อาจชำระให้ผู้ให้กู้ได้ การลงทุนในปีต่อไป เกษตรกรจึงต้องพึ่งพาทุนจาก ผู้ให้กู้อีก และหากเกิดภัยทางธรรมชาติอีก หนี้สินที่มีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งพอกพูนขึ้น แม้หากมีผลิตผล เช่น ข้าว ชาวนาก็จะถูกกดราคาในการรับซื้อ แต่เมื่อชาวนาซื้อข้าว เพื่อบริโภค ชาวนากลับต้องซื้อข้าวในราคาแพง ดังนั้นเกษตรกรของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตพืชผลด้วยตนเอง จึงไม่อาจมีสภาพ ที่เรียกได้ว่า "กินดี อยู่ดี" ในการแก้ปัญหาที่เป็นวงจรนั้น เพียงแก้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ให้วงจรปัญหานั้นขาดตอนไป ปัญหาอื่นๆ ในวงจรก็จะคลี่คลายตัวลง
โค-กระบือ ปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง
โค-กระบือ ปัจจัยในการผลิตอย่างหนึ่ง
            ปัญหาที่มองเห็นอย่างเด่นชัด และถูกเพ่งเล็งว่า เป็นสาเหตุของปัญหาทั้งปวง ได้แก่ ปัญหาความยากจน ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว ปัญหาทุกปัญหาในวงจร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สิน ปัญหาผลิตผลถูกกดราคา และปัญหาข้าวบริโภคมีราคาแพง ล้วนเป็นเหตุ และเป็นผล ในตัวเองทั้งสิ้น การประกอบการผลิตสิ่งใดที่มุ่งหมายไปสู่ความสำเร็จ นั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ทุน ซึ่งหมายถึง เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในการผลิต "ทุน" ในทางการเกษตรได้แก่ เครื่องจักรกล โค กระบือ และพันธุ์พืช เป็นต้น ทุนในที่นี้จึงเป็นผลที่ได้มาจากกระบวนการทางเศรษฐกิจ คือ จากเงินทุนนั่นเอง
ข้าว สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย
ข้าว สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย
            การแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ในเรื่องการขาดแคลนทุนที่จะประกอบการนั้น ได้มีการดำริแก้ไขปัญหากันในจุดต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และการให้สินเชื่อทางการเกษตร ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง เงินทุน การจัดตั้งธนาคารข้าว เพื่อแก้ปัญหา ราคาข้าวและการขาดแคลนข้าวในการบริโภค และการจัดตั้งธนาคารโค-กระบือ เพื่อแก้ปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่นำมาใช้ไถนา

            การจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ มิได้ตั้งขึ้นอย่างทันทีทันใด หากมีพัฒนาการมาจากจุดเล็กๆ ที่ได้มีการพยายามแก้ปัญหา ที่มีมาแต่เดิม เช่น การจัดตั้งธนาคารข้าว เริ่มจัดตั้งขึ้น ด้วยการปรับปรุงโครงการ "กลุ่มออมข้าว ช่วยเหลือคนจน" ของบ้านท่าส้มป่อย จังหวัดลำปาง เป็นต้น หน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นนี้ มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหา ในทางการเกษตรเป็นอย่างมาก ความเป็นมา และการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวมีดังต่อไปนี้