เล่มที่ 12
การพัฒนาปัจจัยการผลิต
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดำเนินงานพัฒนาฝีมือแรงงาน

            หน่วยงานต่างๆ ของทั้งภาครัฐบาล และเอกชน ตระหนักดีในปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการฝึกอบรม เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานกันอยู่หลายหน่วยงาน โดยกระจายการให้บริการ ทั้งในเมืองและชนบท และให้บริการในหลายๆ สาขา วิชาชีพ ตลอดจนมีการให้บริการที่ต่อเนื่องกัน การกำหนดหลักสูตรฝึกอบรม แต่ละหน่วยงานเป็นผู้กำหนดหลักสูตรเอง โดยคำนึงถึงความต้องการของประชากร กลุ่มเป้าหมาย และความต้องการด้านฝีมือแรงงานเป็นสำคัญ สำหรับค่าใช้จ่าย ในการอบรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรมให้เปล่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานเอกชนประเภทโรงเรียนอาชีพ จะเก็บค่าเข้ารับการฝึกอบรมบ้าง แต่ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล  หน่วยงาน ฝึกอบรมที่สำคัญๆ เช่น

หน่วยงานภาครัฐบาล

๑. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สังกัด กรมแรงงาน


            จัดฝึกอบรมช่างฝีมือประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นการฝึกคนใหม่ ฝึกยกระดับฝีมือช่าง ฝึก อบรมครูฝึก และฝึกอบรมผู้จัดการการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่มิใช่ ช่าง เช่น วิชาเลขานุการ พนักงานต้อนรับ ฯลฯ

๒. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

จัดฝึก อบรมเป็น ๒ ลักษณะคือ

            ๑) หลักสูตรที่เน้น ด้านการพัฒนา การจัดการ การเพิ่มผลิตผลใน อุตสาหกรรม การตลาด เทคนิคการปรับปรุงโรงงาน ฯลฯ โดยฝึกอบรมให้แก่ผู้จัดการ หัวหน้าคนงาน ช่างและพนักงาน

            ๒) หลักสูตรที่เน้นการผลิต หัตถกรรมไทยที่ทันสมัย การออกแบบ และการ ฝึกอุตสาหกรรมในครอบครัว สำหรับบุคคลทั่วไป ที่สนใจ

๓. กรมการพัฒนาชุมชน


            จัดฝึกอบรม ในลักษณะที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบ- ครัว โครงการอาชีพตามพระราชดำริ งานช่าง ประเภทต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ และการเพาะปลูก เป็นต้น
การฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
การฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
 ๔. สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท

            จัดบริการฝึกอบรมอาชีพ โดยแบ่งเป็น ๒ งานคือ งานพัฒนานิคมและส่งเสริมอาชีพ สำหรับประชาชนทั่วไปในชนบท และงานส่งเสริมอาชีพสำหรับเยาวชนในชนบท โดยหลักสูตรจะเน้นวิชาชีพ ด้านหัตถกรรมและกสิกรรม

๕. กรุงเทพมหานคร

จัดบริการฝึกอบรม อาชีพ แยกเป็น ๓ โครงการใหญ่ๆ คือ

            ๑) โครงการส่งเสริมอาชีพประชาชน สวนลุมพินี เปิด อบรมในวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเปิดสอนสาขา ช่างอุตสาหกรรมและบริการ ประมาณ ๒๔ วิชา

            ๒) โครงการฝึกอาชีพเคลื่อนที่สี่มุมเมือง จัดการ ฝึกอบรมให้แก่เยาวชนนอกโรงเรียนและประชาชน ทั่วไปในเขตกรุงเทพฯ โดยเคลื่อนย้ายไปตาม สถานที่ต่างๆ หลักสูตรที่เปิดสอนคือ ช่างอุต- สาหกรรม ช่างเสริมสวย ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และ

            ๓) โครงการพัฒนาอาชีพประชาชนในชุมชนแออัด จัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไปในชุมชนแออัด ของกรุงเทพฯ โดยเปิดสอนวิชาช่างอุตสาหกรรม ช่างเสริมสวย และช่างตัดเย็บเสื้อผ้า
การฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
การฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
๖. กรมการศึกษานอกโรงเรียน

            จัดฝึก อบรมอาชีพเป็น ๓ ลักษณะคือ งานการศึกษา สายอาชีพระยะสั้น ดำเนินการในรูปแบบเคลื่อนที่ ออกสู่ชนบท และรูปแบบประจำ ที่ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค มีงานกลุ่มสนใจโดยจัดร่วม กับผู้นำท้องถิ่น รวมกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจ ในเรื่องเดียวกัน และจัดวิทยากรให้ และงานฝึก อบรมในเขตหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ใน ๕๒ จังหวัด เน้นการฝึกในหมู่บ้านเขตชนบท

๗. กรมอาชีวศึกษา

            จัดฝึกอบรมเป็น ๒ ลักษณะคือ โรงเรียนสารพัดช่าง และศูนย์ฝึก อาชีพ เน้นการฝึกอาชีพช่างต่างๆ

หน่วยงานภาคเอกชน


            ภาคเอกชนจัดบริการการฝึกฝีมือแรงงาน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาครัฐบาล การดำเนินงาน แบ่งได้เป็น ๓ ลักษณะ คือ

๑. การฝึกอบรมภายในกิจการ


            การฝึกอบรมนี้ เจ้าของกิจการจะเป็นผู้จัดการฝึกอบรม มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกระดับ ตั้งแต่คนงานขึ้นไป จนถึงผู้จัดการ บางกิจการจะมีศูนย์ฝึกอบรมของตนเอง มีเครื่องมืออุปกรณ์การฝึกอย่างครบ ครัน มีทรัพยากรบุคคลผู้ให้การฝึกที่ชำนาญงาน มีงบประมาณการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนมากๆ บางกิจการลงทุนการฝึกปีละหลายล้านบาท

๒. การฝึกอบรมที่จัดโดยองค์การที่ไม่หวังผลกำไร


            องค์กรดังกล่าวเหล่านี้ ได้แก่ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ฯลฯ จะจัดการฝึกอบรมที่เน้นหนักทางด้านการจัดการ คือ มุ่งพัฒนาการจัดการ โดยพัฒนาฝ่ายจัดการให้มีประสิทธิภาพ และมีการฝึกอบรมลูกจ้างของกิจการต่างๆ ด้วยบางระดับ นอกจากนี้ ยังมีสมาคมและมูลนิธิต่างๆ เช่น สภาสตรีแห่งชาติ สภาสตรีอุดมศึกษา สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ จัดฝึกอบรมสตรีและแม่บ้าน เน้นหนักด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มพูนเศรษฐทรัพย์ของครอบครัว
การสอนตัดเย็บเสื้อผ้า โรงเรียนสารพัดช่างสี่พระยา
การสอนตัดเย็บเสื้อผ้า
โรงเรียนสารพัดช่างสี่พระยา
๓. การฝึกอบรมที่จัดในรูปของธุรกิจ

            ปัจจุบันนี้มีการฝึกอบรมที่จัดในรูปของธุรกิจมากมาย ส่วนใหญ่จะจัดตั้งขึ้น เป็นโรงเรียนเอกชน บริษัท เช่น โรงเรียนสอนตัดเสื้อ โรงเรียนสอนออกแบบทรงผม และเสริมสวย และโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ จะจัดการฝึกอบรมอาชีพใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด และรับจ้างจัดการฝึกอบรมลูกจ้าง และฝ่ายจัดการ ในกิจการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์การฝึกช่างฝีมือด้วย โดยเฉพาะบริษัทที่จัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศบางแห่ง จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นศูนย์ทดสอบฝีมือ หรือศูนย์ฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับคนที่ต้องการจะสมัครงานและยังขาดทักษะ
            อย่างไรก็ตาม การจัดฝึกอบรม เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานนี้ ส่วนใหญ่จะจัดทำในเมืองมากกว่าชนบท ในระยะเริ่มแรก ของการฝึกอบรม ในชนบท หน่วยงานต่างๆ มักมุ่งเน้นการฝึกฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มพูนด้านเศรษฐกิจ และบุคลากรของหน่วยฝึกอบรมมักมีประสบการณ์อาชีพที่มีหน่วยรองรับในเมือง จึงทำให้พบปัญหาว่า กระบวนการฝึกอบรม ตลอดจนทักษะอาชีพที่จัดฝึกอบรม ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม และเศรษฐกิจของท้องถิ่น เป็นเหตุให้ผู้รับการฝึกอบรม เข้าสู่ตัวเมืองกันมาก ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ตระหนักในปัญหาดังกล่าว นอกจากจะพยายามจัดการอบรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคม และเศรษฐกิจของท้องถิ่นแล้ว ยังมุ่งเน้นพัฒนากระบวนการจัดการทางอาชีพในท้องถิ่นอีกด้วย