การพัฒนาอุปกรณ์การผลิตด้านเกษตรกรรม ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเกษตรกร และมีการศึกษาระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่า การพัฒนาอุปกรณ์การผลิต ควรเริ่มจากการพัฒนาอุปกรณ์การผลิต เพื่อการเกษตร และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป อุปกรณ์การผลิตทางด้านการเกษตร จำเป็นต้องพัฒนา ให้สอดคล้องกับสภาพอาชีพ ความรู้ ฝีมือแรงงาน เศรษฐกิจ และประการสำคัญ ต้องคำนึงถึงการมีงานทำของประชากรในท้องถิ่นนั้นด้วย ฉะนั้นอุปกรณ์การผลิตในภาคเกษตรกรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ๑. ใช้เงินทุนน้อย เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจของเกษตรกรค่อนข้างต่ำ อุปกรณ์การผลิตที่จะช่วยเพิ่มผลิตผล หรือแปรสภาพผลิตผลไปสู่ตลาด ต้องมีราคาถูก อยู่ในฐานะที่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรจะร่วมกันลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้ มีอุปกรณ์การผลิตด้านเกษตร ที่คนไทยพัฒนาขึ้นใช้ในท้องถิ่น เป็นที่รู้จักกันดีแล้วได้แก่ ควายเหล็ก เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก และรถเกษตร หรือรถอีแต๋น | |
รถเกษตรหรือรถอีแต๋น รถที่เหมาะกับการใช้งานในไร่นาของเกษตรกร | |
๒. ใช้วัสดุในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรทั่วไป สามารถพัฒนาอุปกรณ์นั้นๆ ขึ้นใช้ได้ในท้องถิ่น และจะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตอุปกรณ์นั้นๆ ต่ำลงด้วย | |
ลักษณะส่วนหน้าของรถเกษตร | |
๓. ใช้แรงงาน และฝีมือของคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการเสริมสร้าง และสนับสนุนเศรษฐกิจของประชากรในท้องถิ่น ๔. ไม่ใช้ทฤษฎีที่ยุ่งยาก สามารถให้คนในท้องถิ่น ซึ่งมีการศึกษาค่อนข้างต่ำ สามารถควบคุมการทำงานได้ และนอกจากนั้น อาจทำให้สามารถซ่อมแซม และบำรุงรักษาได้ง่ายอีกด้วย | |
ควายเหล็ก เครื่องมือที่ใช้ไถนาแทนแรงโค-กระบือ | ๕. ใช้พลังงานธรรมชาติให้มากที่สุด การใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น พลังน้ำ พลังลม จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ทำให้ต้นทุนผลิตผลต่ำลง และเป็นการประหยัดทรัพยากรของประเทศด้วย |
๖. ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ขนาดของอุปกรณ์ทางการเกษตร มีผลต่อการใช้งาน และการลงทุน ตลอดจนการเคลื่อนย้าย เนื่องจาก เกษตรกรไทยแต่ละราย มีพื้นที่ทำกินไม่มากนัก ผลิตผลที่ได้มีจำนวนไม่มาก เหมาะสำหรับใช้อุปกรณ์การผลิตขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายไป ใช้งานในท้องถิ่นต่างๆ ได้โดยง่าย ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเครื่องผ่อนแรง ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ๗. เสริมสร้างความร่วมมือในท้องถิ่น ซึ่งไม่ขัดกับวัฒนธรรมอันดีงาม |