เล่มที่ 14
ประติมากรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ประติมากรรมเป็นผลงานศิลปกรรมที่เป็น รูปทรง ๓ มิติ ประกอบจากความสูง ความกว้าง และความนูน หรือความลึก รูปทรงนี้มีปริมาตรที่จับต้องได้ และกินระวางเนื้อที่ในอากาศ ต่างจากรูปทรงปริมาตรทางจิตรกรรม ที่แสดงบนพื้นเรียบ เป็นปริมาตรที่ลวงตา ประติมากรรมเกิดขึ้นจากกรรมวิธีการสร้างสรรค์แบบต่างๆ เช่น การปั้นและหล่อ การแกะสลัก การฉลุหรือดุน ประติมากรรมทั่วไปมี ๓ แบบคือ ประติมากรรมแบบลอยตัว สามารถดูได้โดยรอบ ประติมากรรมนูน มีพื้นรองรับ สามารถดูได้เฉพาะด้านหน้าและด้านเฉียงเท่านั้น และประติมากรรมแบบเจาะลึกลงไปในพื้น

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประติมากรรมนูนต่ำ แกะสลักปูนปลาสเตอร์ขนาด ๔๓x๓๒ เซนติเมตร อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

            ประติมากรรมไทยเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ โดยประติมากรของไทยที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อรับใช้สังคม ตอบสนองความเชื่อ สร้างความภูมิใจ ความพึงพอใจ และค่านิยมแห่งชาติภูมิของไทย ประติมากรรมไทยส่วนใหญ่ เน้นเนื้อหาทางศาสนา มักปรากฏอยู่ตามวัดและวัง มีขนาดตั้งแต่เล็กที่สุด เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง จนถึงขนาดใหญ่ที่สุด เช่น พระอัจนะ หรือพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแปลง มีทั้งประติมากรรมตกแต่ง ซึ่งตกแต่งศิลปวัตถุ ศิลปสถาน เพื่อเสริมคุณค่าแก่ศิลปวัตถุ หรือสถานที่นั้น จนถึงประติมากรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่า และคุณสมบัติเฉพาะสมบูรณ์ด้วยตัวของประติมากรรมเอง เมื่อพิจารณาภาพรวมของประติมากรรมไทย อาจแบ่งประติมากรรมออกเป็น ๓ ประเภทคือ ประติมากรรมรูปเคารพ ประติมากรรมตกแต่ง และประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย