เล่มที่ 14
ประติมากรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประติมากรรมตกแต่ง

            ประติมากรรมตกแต่ง เป็นงานประติมากรรม ซึ่งแฝงอยู่กับศิลปกรรมอื่นๆ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม จนถึงประณีตศิลป์ ที่เป็นเครื่องประดับตกแต่งศิลปสถาน และศิลปวัตถุ ให้เกิดคุณค่าความงาม ความโอ่อ่า อลังการ ส่งเสริมให้ศิลปสถาน และศิลปวัตถุเหล่านั้น แสดงเอกลักษณ์ และความเป็นไทยมากขึ้น ประติมากรรมตกแต่งเหล่านี้ แบ่งออกตามลักษณะหน้าที่ และประโยชน์ใช้สอยได้ ๓ ประเภทคือ ประติมากรรมลวดลาย ประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อ และประติมากรรมเล่าเรื่อง

ลายปูนปั้นฐานบัวองค์ปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะสมัยอยุธยา

ประติมากรรมลวดลาย

            ช่างไทยโบราณ นิยมใช้ลวดลายต่างๆ ประดับลงบนสิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ หรือศิลปสถานต่างๆ เกือบทุกชนิด ศิลปกรรมของไทยโบราณ จึงมีความละเอียดวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นตู้ โต๊ะ เตียง ตั่ง คันฉ่อง เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ สิ่งก่อสร้าง ทั้งวัดและวัง เช่น โบสถ์ วิหาร พระปรางค์ เจดีย์ พระที่นั่ง หรือปราสาทราชมณเฑียร ศิลปกรรมเหล่านี้ต่างประดับลวดลายไว้เกือบทุกส่วน เพิ่มความสวยงาม ละเอียด ประณีต ซึ่งเป็นส่วนที่เชิดชู ผลักดันศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้น ให้แสดงเอกลักษณ์ และอุดมคติแบบไทยออกมาอย่างชัดเจน

            บานประตูสลักไม้ลงรักปิดทองของวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร จำลองจากของเดิม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔และถูกไฟไหม้เสียหาย

            ศิลปกรรมทุกชนิดของไทยมีความละเอียด ประณีต วิจิตรบรรจง เป็นศิลปะแบบอุดมคติ มีความรู้สึกทางความงามเหนือธรรมชาติ ช่างไทยโบราณมีฝีมือ ความคิด และความชำนาญเป็น พิเศษ โดยเฉพาะความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการกำหนดส่วนสัด ช่องไฟ การตกแต่งลวดลายลงไปในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่มีกฎเกณฑ์การตกแต่งลวดลายที่บังคับตายตัวเกินไป นอกจากกำหนดระบบแบบแผนไว้กว้างๆ เช่น การแบ่งเนื้อที่ การเขียนกระจัง กนก การออกลาย การแบ่งลาย การห้ามลาย การแยกลาย และการต่อลาย ทั้งการต่อลายแบบขึ้นลง การต่อลายแบบซ้ายขวา การต่อลายดอกลอย และลายผนัง กฎเกณฑ์การเขียนลวดลายเหล่านี้ สามารถนำไปประยุกต์พัฒนาปรับปรุงแก้ไข ให้เข้ากับปัญหาของพื้นที่ที่จะกำหนด ลวดลายลงไป
คันทวยศาลาลงสรง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
คันทวยศาลาลงสรง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
            หากลองพิจารณาดูสถาปัตยกรรมไทยสักหลังหนึ่ง เช่น พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเห็นลวดลายตกแต่งประเภทต่างๆ ทำงานร่วมกัน ในส่วนสัดที่เหมาะสม มีชั้นเชิงล้อรับสอดประสานสัมพันธ์กัน ทั้งในส่วนของหลังคา หน้าบัน คันทวย ผนัง เสา ฐาน การย่อมุม ตลอดจนเครื่องตกแต่งบานประตูหน้าต่าง ที่มีการตกแต่งลวดลายทุกส่วนอย่างละเอียด แม้ศิลปะไทยโดยทั่วไป มีลักษณะออกจะฟุ่มเฟือยในการตกแต่ง ตามสายตาของคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าลองพินิจพิจารณาดูอย่างละเอียดโดยตั้งใจแล้ว จะเห็นว่า ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกินความจำเป็น หรือขัดสายตาแม้แต่น้อย
            ประติมากรรมลวดลายของไทย แสดงให้เห็นเจตนาอันบริสุทธิ์ ความคิดริเริ่มที่มีแบบอย่างเป็นของตนเอง ลวดลายทั้งหลาย จะแสดงคุณค่าความรู้สึกในเชื้อชาติ และเอกลักษณ์ไทยอย่างชัดแจ้ง ลวดลายมีเส้นสลับซับซ้อน ตัวลาย ทรง ลาย ช่อลาย หรือถ้ามีเถาลายจะมีความคดโค้ง อ่อนช้อยสัมพันธ์กัน สร้างอารมณ์อ่อนไหวละมุนละไม ที่สำคัญคือ การสะบัดปลายเรียวแหลม ของยอดกนกแต่ละตัว จะไม่แข็งกระด้าง ด้วนกุด และดูไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวพลิกพลิ้ว การสร้างลวดลายกนกทุกเส้น ทุกตัว ทุกทรง และทุกช่อ ประสานสัมพันธ์กันทั้งในส่วนละเอียด ส่วนย่อย และส่วนใหญ่ ไม่มีการหักงอ หรือแข็งกระด้าง ไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม ลวดลายส่วนใหญ่ของไทยได้รับความบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม จากธรรมชาติ ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งอื่นๆ และมีการสร้างสรรค์มานาน ก่อนสมัยทวารวดี ลวดลายสมัยแรกๆ เลียนแบบอย่างจากธรรมชาติ เช่น ลายใบไม้ ลาย ดอกไม้ ลายพรรณพฤกษาต่างๆ ต่อมา ได้คลี่คลายมาเป็นลวดลายที่เป็นแบบประดิษฐ์ มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยเฉพาะตอนปลายสมัยอยุธยา และต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ลวดลายจึงมีหลายประเภท และมีชื่อเรียก ที่ยังแสดงให้เห็นถึงที่มา จากความบันดาลใจเหล่านั้น เช่น ลายเครือเถา ลายก้านขด ลายตาอ้อย ลายก้ามปู และลายกาบพรหมศร เป็นต้น

ลายพรรณพฤกษาปูนปั้นผนังวิหารวัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ศิลปะสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นรายละเอียดของลาย
            ลวดลายเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก จนจัดเป็นศาสตร์ที่ได้รับการกำหนดเป็นแบบแผน ช่างไทยทั้งหลายต้องศึกษา จนเข้าใจชีวิต ของลวดลายเหล่านี้ จนสามารถพัฒนาประยุกต์การใช้ลวดลายให้เหมาะสม เพราะประเภทของประติมากรรมไทย จะมีทั้งขุดแกะด้วยไม้ ปั้นหล่อด้วยโลหะ ปั้นด้วยปูน ประดับด้วยการลงสี ลงรักปิดทอง ประดับมุก ประดับกระเบื้อง ประดับกระจกหุง หรือสลักดุนนูนด้วยโลหะ การสร้างลายหรือนำลายมาใช้ จึงต้องสัมพันธ์กับตัววัสดุ กลวิธี และเทคนิควิธีการสร้างงานประติมากรรม รวมทั้งพื้นที่ และวัตถุประสงค์ในการแสดงออกของศิลปกรรมเหล่านั้นด้วย
            การออกแบบลวดลาย เพื่อใช้ในงานประติมากรรมของช่างไทยจะออกแบบต่างๆ กันตามวัสดุที่นำมาสร้างลายกล่าวคือ ถ้าวัสดุที่ใช้ทำลวดลายเป็นหิน ปูน หรือดินเผา การออกแบบลายก็จะมีเส้นหยาบ ทึบ ป้อม มิให้ลวดลายชูยอดไปจากพื้นมากนัก เพราะต้องช่วยรับน้ำหนักตัวเอง มิฉะนั้นจะแตกหักง่าย แต่ถ้าเป็นการปั้นดิน เพื่อนำไปหล่อโลหะ การออกแบบลายจะละเอียดกว่า การปั้นดิน และนำไปเผาธรรมดา และถ้าวัสดุที่สร้างศิลปกรรมนั้นเป็นไม้ ลวดลายจะเริ่มมีความละเอียดอ่อน เพราะไม้เป็นวัสดุเนื้ออ่อน จำหลักง่าย น้ำหนักเบา ตัวลายยื่นออกมาจากพื้นได้มาก อีกทั้งยังสามารถสร้างลายซ้อนกันได้หลายชั้น
ประติมากรรมลวดลายประดับฐานเสา พระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
            ช่างไทยมีความชำนาญในการใช้วัสดุต่างๆ ซึ่งมีอยู่อุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นของไทย และสามารถเข้าใจธรรมชาติของวัสดุเหล่านี้ เป็นอันดี จนเข้าใจการเลือกกลวิธี และเทคนิควิธีใช้วัสดุเหล่านั้น เพื่อผสมผสานส่งเสริมศิลปกรรม ให้แสดงอารมณ์คุณค่าความรู้สึก ตามที่ช่างไทยปรารถนา การมีวัสดุใช้ในการสร้างงานศิลปกรรมอย่างอุดมสมบูรณ์ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวงถึงความไม่พอ หรือประหยัดจนเกินการ จึงทำให้ลวดลายของไทยมีความละเอียดประณีต วิจิตรอลังการ แสดงความอุดมสมบูรณ์ในการใช้ลวดลายประดับในทุกส่วนของศิลปกรรม และศิลปสถานของไทย

ประติมากรรมนูนต่ำลายก้ามปูฐานปัทม์ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

ประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อ

            เป็นงานประติมากรรมตกแต่งระดับศิลปสถาน หรือศิลปวัตถุ มีทั้งขนาดเล็กที่ประดับตามฐานเชิงชั้นต่างๆ และขนาดใหญ่ ที่ประดับบริเวณพุทธสถาน โบสถ์ วิหาร มณฑป เจดีย์ พระปรางค์ บุษบก ธรรมาสน์ ในพุทธศาสนา และปราสาทราชมณเฑียร พระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ประติมากรรมเหล่านั้น แม้เป็นเพียงประติมากรรมตกแต่ง แต่ก็แสดงความหมาย ให้แนวคิดสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่ยึดถือคติไตรภูมิ เป็นหลัก เปรียบเป็นการจำลองรูปจักรวาลทางพุทธศาสนา โดยถือสถานที่ หรือศิลปะนั้น เป็นเขาพระสุเมรุ แกนกลางของจักรวาล ตกแต่งประดับฐานของศิลปสถาน หรือศิลปกรรมนั้น ด้วยประติมากรรมเป็นภาพหรือภาพประกอบลวดลาย หรือลวดลาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ แทนความหมายเชิงชั้นต่างๆ ในคติไตรภูมิของพุทธศาสนา ลดหลั่นสูงต่ำตามความสำคัญของฐานะแห่งชั้นเหล่านั้น คือ

ธรรมาสน์ศาลาการเปรียญ วัดราชสิทธาราม เปรียบเป็นการจำลองจักรวาล ทางพุทธศาสนา โดยถือเอาธรรมาสน์เป็นเขาพระสุเมรุ แกนกลางของจักรวาล ศิลปะสมัยอู่ทอง

            ๑. พื้นที่ที่รองรับศิลปะวัตถุ หรือศิลปสถานนั้น ตั้งอยู่เปรียบเสมือนเป็นมนุษยภูมิ โดยเฉพาะชมพูทวีป อันเป็นที่อยู่อาศัย ของมนุษย์ทั้งหลายนี้

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มีประติมากรรมขนาดเล็กตกแต่ง สะท้อนความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องไตรภูมิ ประดับอยู่ตามชั้นต่างๆ ของฐานองค์ปรางค์

            ๒. ฐานชั้นล่างสุดของศิลปวัตถุ หรือศิลปสถาน มักเป็นหน้ากระดานสลักลวดลายรองรับฐานสิงห์ บัวหลังสิงห์ อันแปลงมาจากสิงห์ล้อม ถ้าเป็นฐานศิลปกรรมประเภทบุษบก หรือฐานอาคารสำคัญของชาติ บางทีจะจำหลักเป็นรูปสิงห์แบกล้อมรอบฐาน ณ ตำแหน่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ แทนแดนหิมพานต์ แม้จะยังอยู่ในแดนมนุษย์ในชมพูทวีป แต่คติทางศาสนายังถือว่าเป็นแดนมนุษย์ ที่สงัด สงบ เบาจากกิเลสตัณหา เป็นที่อยู่ของสัตว์ในวรรณคดี และมนุษย์ที่อยู่ในเพศอันบริสุทธิ์ ได้แก่ ฤาษี นักบวช หรือมนุษย์ เช่น พวกนักสิทธิ์ วิทยาธร

ฤาษีดัดตน หล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุก ตั้งอยู่ตามเขาบริเวณศาลาราย ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

            ๓. สูงจากฐานสิงห์เหนือบัวหลังสิงห์มักจะเป็นฐานเชิงบาตร ๒ ชั้น คือ

            ๓.๑ ฐานเชิงบาตรชั้นล่าง ถ้าเป็นฐานศิลปกรรม หรือศิลปสถานที่สำคัญของชาติ เช่น พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ทอดเหนือพระราชบังลังก์ หรือพระแท่นพระราชบัลลังก์ มหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน หรือฐานพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะใส่ประติมากรรมรูปครุฑยุดนาคเต็มตัว ตั้งรายรอบศิลปกรรมเหล่านั้น ถ้าเป็นศิลปกรรมที่มีความสำคัญรองลงมา หรือฐานโบสถ์ วิหารวัดสามัญ ฐานเชิงบาตรชั้นล่างจะเป็นเส้นกลมเล็กๆ รัดท้องไม้ แล่นไปตลอดศิลปกรรม หรือศิลปสถาน ถ้ามนกลมเรียกว่า "รัดอกลูกแก้ว" ถ้าสันแหลม เรียกว่า "รัดเอวอกไก่" และมักใส่ลวดลายรักร้อยไปโดยตลอด การใช้ครุฑ หรือรัดอกลูกแก้ว หรือรัดเอวอกไก่นี้ เป็นสัญลักษณ์แทนแดนครุฑ ที่มีที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เพราะตามตำนานกล่าวไว้ว่า ครุฑมีที่อยู่ที่ป่างิ้วในสระชื่อสิมพลี หรือฉิมพลี สระสระนี้อยู่โคนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลตามคติไตรภูมิ

(บนขวา) เทพนมที่เชิงชั้นต่างๆ ของฐานพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(ล่างขวา) ครุฑพนมและอสูรพนม ประดับฐานพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

            ๓.๒ ฐานเชิงบาตรชั้นบน ถ้าเป็นฐานศิลปกรรม หรือศิลปสถานที่สำคัญของชาติ มักจะใส่ประติมากรรมรูปเทวดานั่งคุกเข่าพนมมือ ติดตั้งรายรอบศิลปกรรมเหล่านั้น เช่นกัน หากเป็นศิลปกรรมที่มีความสำคัญรองลงมา ช่างจะประยุกต์รูปแบบเทวดาให้คล้อยตามไปกับส่วนประกอบอื่นๆ ของศิลปวัตถุ โดยทำเป็นรูปกระจังเจิม หรือกระจังปฏิญาณ ตรงกลางลายเป็นรูปเทพนม หรือถ้าเป็นโบสถ์หรือธรรมาสน์วัดสามัญ ก็จะประดับด้วยกระจังธรรมดา รูปเทวดาที่นั่งพนมมือ กระจังปฏิญาณ กระจังเจิม หรือกระจังธรรมดาที่ติดเหนือฐานชั้นนี้ เป็นรูปสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายถึง เทวดาในสวรรค์ชั้นแรก คือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเหนือยอดเขายุคนธร เป็นเขาที่ตั้งล้อมเขาพระสุเมรุเป็นชั้นแรก เทวดาในชั้นนี้คือ ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พร้อมบริวารที่ปกปักรักษาทิศต่างๆ ของจักรวาลตามคติไตรภูมิ

รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ชนิดต่างๆ : อสุรปักษี
๔.เหนือจากชั้นฐานเชิงบาตรชั้นบนขึ้น ไป ถ้าเป็นโบสถ์วิหาร จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ถ้าเป็นบุษบกบัลลังก์ หรือพระที่นั่ง จะเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นพระเจดีย์ หรือพระปรางค์เหนือขึ้นไปจากฐานดังกล่าว จะเป็นเรือนธาตุ หรือองค์ระฆัง ที่บรรจุพระธาตุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนยอดเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของพระอินทร์ ที่ประดิษฐานเจดีย์จุฬามณี อันบรรจุพระเกศมาลา พระธาตุเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ ยอดเขาพระสุเมรุนี้ เป็นแกนกลางของจักรวาล
            จากคติของการสร้างประติมากรรมตกแต่ง สะท้อนความเชื่อดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ศิลปวัตถุ หรือศิลปสถานเหล่านี้ ใช้สำหรับเป็นที่รองรับ เพื่อสำแดงเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ และความเชื่อถือศรัทธาต่อพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ของคนไทย ที่ดำเนินมาโดยตลอด แต่โบราณจนปัจจุบัน ตลอดจนแสดงความหมายถึงความเป็นศิริมงคล
และความเจริญรุ่งเรืองด้วย

รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ชนิดต่างๆ : เทพนรสิงห์
            นอกจากประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อขนาดเล็ก ประดับติดอาคารศิลปกรรม หรือศิลปวัตถุตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่ ตกแต่งบริเวณ ภายในอาณาเขตพุทธสถาน โดยยึดถืออุดมคติ สะท้อนความเชื่อทางพุทธศาสนา เรื่องไตรภูมิเช่นเดียวกัน โดยใช้ภาพประติมากรรมทั้งหลายจำลองออกมาเป็นรูปธรรม ที่สร้างถวายสำหรับพระศาสนา เป็นการสืบทอด และเผยแพร่พระศาสนาอีกทางหนึ่ง ประติมากรรมเหล่านั้น มักจะพบอยู่ตามวัดที่สำคัญ เช่น รูปหล่อโลหะสัตว์หิมพานต์ ขนาดเท่าคนจริงบนพื้นชานชาลาไพที (การยกพื้นสูงขึ้นมาจากพื้นดิน) ตอนบนรอบปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือรูปนกทัณฑิมา หน้าบันไดทางขึ้นทิศตะวันออก ของพระวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และหน้าบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือรูปสางแปลงสำริด ตั้งอยู่ปากประตูกำแพงแก้ว พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ภาพสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ ล้วนถ่ายทอดคติทางพุทธศาสนา เรื่องไตรภูมิออกมาเป็นรูปธรรมทางศิลปกรรม คือ การจำลองบริเวณพุทธสถานเป็นแดนป่าหิมพานต์ แวดล้อมด้วยสัตว์หิมพานทั้งหลาย เมื่อบุคคลใดเข้าไปในสถานที่ หรือบริเวณเหล่านั้นแล้ว ประหนึ่งก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ต่างไปจากชีวิตปัจจุบันธรรมดา
ประติมากรรมเล่าเรื่อง

            เป็นประติมากรรมประกอบศิลปสถาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างขึ้นมา เพื่อสะท้อนคติความเชื่อทางศาสนา ด้วยการพรรณนา หรือเล่าเรื่องด้วยภาพประติมากรรมทางเทคนิคปั้นปูน หรือแกะสลัก ลักษณะของภาพประติมากรรมเป็นภาพนูนสูง และภาพนูนต่ำ มีพื้นหลังรองรับเรื่องที่นำมาแสดง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ หรือทศชาติ ซึ่งมักเลือกแสดงเหตุการณ์ตอนที่สำคัญ หรือน่าพิศวง กล่าวคือ ภาพแต่ละกลุ่มสร้างขึ้น ด้วยตัวเอก ที่มีพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ในพระชาตินั้นๆ เป็นประธาน หรือเป็นหลักขององค์ประกอบ และมีตัวประกอบที่สำคัญตามแนวเรื่องที่ต้องการเพียงไม่กี่ตัว รวมทั้งแทรกสิ่งของเครื่องใช้ ส่วนของอาคารเป็นฉากหลังเท่าที่จำเป็น เพื่อทำให้ผู้ดูได้ทราบเรื่องราวตอนนั้นอย่างสมบูรณ์ เช่น ภาพปูนปั้นปางเสด็จจากดาวดึงส์ ในซุ้มทิศใต้ ของพระมณฑปวัดตระพังทองหลาง สุโขทัย มีลักษณะเป็นภาพปูนปั้นรูปพระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์ ลักษณะของพระพุทธรูปเป็นภาพนูนสูง ปางลีลา มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยงดงามมาก เคลื่อนองค์อยู่บนรัตนโสปานะ (บันไดแก้ว) แวดล้อมด้วยพระอินทร์ พระพรหม ที่มีขนาดรูปร่างเล็กกว่า ภาพนูนต่ำกว่า ภาพทศชาติปั้นปูน หน้าพระอุโบสถวัดไลย์ ลพบุรี ภาพเรื่องปฐมสมโพธิกถา ปั้นด้วยปูนที่เมรุทิศ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และประติมากรรมผนังเรื่อง พุทธประวัติ รอบพระวิหารพุทธบาท วัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีภาพประติมากรรมเล่าเรื่องวรรณคดี เช่น ประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนนูนต่ำเรื่องรามเกียรติ์ ประดับผนังระเบียงพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๕๔ ภาพ เป็นต้น ประติมากรรมเหล่านี้นอกจากจะแสดงคุณค่าทางเรื่องราว คุณค่าทางฝีมือ และการแสดงออกของประติมากรรมเองแล้ว ยังมีส่วนช่วยตกแต่งสถาปัตยกรรมนั้นให้อลังการ และทรงคุณค่ามากขึ้นอีกด้วย

            ประติมากรรมนูนต่ำ ประดับผนังพระวิหารพระพุทธบาท วัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์