ประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย
ประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้น เพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในสังคมไทย ได้แก่ ประติมากรรมในสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องมหรสพ เครื่องเล่น และเครื่องตกแต่งชั่วคราว ประติมากรรมประเภทนี้ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ ประติมากรรมตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ ประติมากรรมเครื่องมหรสพ ประติมากรรมเครื่องเล่น และประติมากรรมเครื่องตกแต่งชั่วคราว
ประติมากรรมตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้
เป็นประติมากรรมที่ตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ให้เกิดความสวยงามน่าใช้น่าจับต้อง เช่น การสลักดุนภาชนะเครื่องใช้ขนาดเล็ก ด้วยลวดลายไทยต่างๆ ทั้งขันน้ำ พานรอง คนโท หม้อน้ำ และทัพพี เป็นต้น หรือการจำหลักไม้ลงบนเครื่องใช้ขนาดใหญ่จำพวกเครื่องเรือน เช่น ตู้ ตั่ง คันฉ่อง และอัฒจันทร์พระ เป็นต้น เครื่องเรือนเหล่านี้ มักทำจากไม้สัก ซึ่งเป็นไม้เนื้อไม่แข็งจนเกินไป ช่างสามารถใช้เครื่องมือจำหลักให้อ่อนไหว พลิกพลิ้วตามมือและใจปรารถนาของตนได้ งานสลักสิ่งของเครื่องใช้ต้องใช้ความประณีตสูง เพราะเป็นงานระดับตาใกล้ชิด ลวดลายต้องมีความละเอียดสวยงาม
พระฉายทองคำลงยา เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
การเชิดหนังใหญ่
ตอนพระรามเดินดง
ประติมากรรมเครื่องมหรสพ
เป็นประติมากรรม เพื่อการบันเทิง คนไทยมีความเชี่ยวชาญในการเลือกใช้วัสดุ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาสร้างงานประติมากรรมประเภทนี้ เช่น การนำหนังสัตว์ ได้แก่ หนังวัว หนังควาย มาแกะสลักเป็นภาพฉลุ เรื่องรามเกียรติ์ ใช้เล่นหนังตะลุง หนังใหญ่ ซึ่งเป็นแผ่นภาพแบน ใช้ทาบกับจอผ้าขาว สุมไฟ สว่างด้านหลังจอ เพื่อดูเงาของภาพหนัง นอกจากนี้ยังมีการนำกระดาษฟาง และกระดาษสา มาสร้างหัวโขน การนำปูนมาปั้น หรือนำไม้มาแกะสลักทำหุ่นเล็ก หุ่นกระบอก หรือหุ่นหลวง แล้วตกแต่งลวดลาย ด้วยเทคนิคต่างๆ เป็นต้น
ประติมากรรมเครื่องเล่น
เป็นประติมากรรมพื้นบ้าน เป็นงานปั้นคนหรือสัตว์ขนาดเล็ก ทำเป็นตุ๊กตาต่างๆ เช่น ตุ๊กตาชาววัง ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ตุ๊กตาเด็กหัวจุก และตุ๊กตาแม่อุ้มลูก เป็นต้น และทำเครื่องเล่น เครื่องบันเทิงต่างๆ เช่น การแกะสลักสะบ้า ตัวหมากรุก เป็นต้น ตุ๊กตาเล็กๆ เหล่านี้ บางครั้งคนไทยยังใช้เป็นเครื่องบวงสรวง สะเดาะเคราะห์ หรือทำขึ้น เพื่อรับเคราะห์แทนตน เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล
หุ่นหลวงเล็ก ตัวละครในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ฝีมือช่างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๕
ประติมากรรมเครื่องตกแต่งชั่วคราว
เป็น ประติมากรรมที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ในงานพิธีกรรม หรือกิจกรรมบางอย่าง ใช้ระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้พิธีกรรม หรือกิจกรรมนั้นสมบูรณ์ วัสดุที่นำมาสร้างประติมากรรมประเภทนี้ มักเป็นวัสดุไม่คงทน มีอายุการใช้งานสั้น เช่น หยวกกล้วย เทียน กระดาษ ผักและผลไม้ จะเห็นได้จากงานสลักแทงหยวกเป็นลวดลาย ใช้ประดับตกแต่งเบญจา เชิงตะกอนในพิธีงานศพ การตกแต่งบายศรีในพิธีบวช และพิธีโกนจุก การแกะสลักเทียนพรรษา และปราสาทผึ้ง การสลักผลไม้เนื้ออ่อน จำพวกฟักทอง มะละกอ หัวเผือกหรือมัน เป็นภาชนะบรรจุของกินเวลาถวายพระ หรือสลักผลไม้ดังกล่าว เป็นลวดลาย และรูปภาพ ตกแต่งในที่ต่างๆ เวลามีพิธีกรรม รวมทั้งการแกะสลัก เพื่อความสวยงามในการปรุงอาหารไทย ล้วนเป็นการแสดงออก ซึ่งฝีมือประติมากรรมของคนไทยแทบทั้งสิ้น