เล่มที่ 14
ประติมากรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ช่วงศิลปะ ในเชิงประวัติศาสตร์

ทั้งประติมากรรมรูปเคารพ ประติมากรรมตกแต่ง และประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย ผูกพันกับความเปลี่ยนแปลง ของสังคมไทยตลอดมา นอกจากจะแสดงคุณค่าทางทัศนศิลป์แล้ว ยังสะท้อนวัฒนธรรมอันดีงามของชาติในแต่ละยุคแต่ละสมัย ออกมาด้วย ยุคสมัยของไทยนั้น อาจแบ่งช่วงศิลปะในเชิงประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานทางโบราณวัตถุสถานได้เป็น๒ ช่วงคือ

๑. ช่วงศิลปะก่อนไทย

หมายถึง ช่วงก่อนที่คนไทยจะรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น ยังไม่มีราชธานีของตนเองที่แน่นอน แบ่งออกเป็น ๓ สมัยคือ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยลพบุรี

๒. ช่วงศิลปะไทย

            หมายถึง ช่วงที่คนไทยรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีราชธานีที่แน่นอนแล้ว แบ่งออกเป็น ๕ สมัยคือ สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ประติมากรรมสมัยต่างๆ ของไทยเหล่านี้ ผ่านการหล่อหลอมและผสมผสาน ของวัฒนธรรม โดยดั้งเดิมมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมอินเดีย ต่อมาผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน และชาติทางตะวันตก แต่เป็นการผสมผสาน ด้วยความชาญฉลาดของช่างไทย ประติมากรรมของไทยจึงยังคงรักษารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ได้ อย่างเด่นชัด สามารถถ่ายทอดลักษณะความงดงาม ความประณีตวิจิตรบรรจง และลักษณะของความเป็นชาติไทย ที่รุ่งเรืองมาแต่โบราณ ให้โลกประจักษ์ได้

สิงห์สังคโลก เครื่องตกแต่งประดับพุทธสถาน พบที่จังหวัดพิษณุโลก ศิลปะสมัยสุโขทัยสิงห์สังคโลก เครื่องตกแต่งประดับพุทธสถาน พบที่จังหวัดพิษณุโลก ศิลปะสมัยสุโขทัย