เล่มที่ 14
ประติมากรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์

            เริ่มตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน มากกว่ายุคสมัยในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากอิทธิพลของความเจริญทางเทคโนโลยี อารยธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว และมากมาย การติดต่อกับนานาประเทศทั่วโลก เป็นไปอย่างกว้างขวาง มีการสื่อสารที่ฉับพลัน ล้วนมีส่วนอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และการสร้างงานประติมากรรม กล่าวโดยสรุป ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะ คือ ประติมากรรมแบบดั้งเดิม ประติมากรรมระยะปรับตัว และประติมากรรมร่วมสมัย

ประติมากรรมแบบดั้งเดิม

อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ การสร้างประติมากรรม ดำเนินรอยตามแบบประเพณีนิยม ที่ทำกันมาแต่อดีตของไทย

            สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นยุคที่เริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างบ้านเมืองใหม่ จึงมีการสร้างพระพุทธรูปน้อยมาก พระประธานที่สร้างในสมัยนี้ที่สำคัญคือ พระประธานที่พระอุโบสถ และพระวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ฝีมือพระยาเทวารังสรรค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ จนดูเกือบคับอาคาร มีฐานชุกชีเตี้ย เป็นผลในการแสดงอำนาจราชศักดิ์ พระพุทธรูปส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจากสุโขทัย และจังหวัดทางภาคกลาง ที่องค์พระพุทธรูปเหล่านี้ถูกทอดทิ้งอยู่ ตามโบราณสถานที่ปรักหักพัง ต้องกรำแดดกรำฝน นำมาบูรณะใหม่กว่า ๑,๒๐๐ องค์ และส่งไปเป็นประธานตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่เหลือนำมาประดิษฐานไว้ ณ ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามพันกว่าองค์ ทั้งชั้นนอก และชั้นใน ประติมากรรมอื่นๆ ที่สำคัญคือ หัวนาค และเศียรนาคจำแลง และยักษ์ทวารสำริดปิดทอง ประจำประตูทางเข้า พระมณฑป หอพระไตรปิฎก

ยักษ์บนฐานปลายพลสิงห์ เหนือบันไดทางขึ้นพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หล่อด้วยโหละปิดทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

หลังปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดารามฝีมือครูดำช่างปั้นเอกสมัยรัชกาลที่ ๑

            สมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้บูรณะศิลปสถาน และงานศิลปะอื่นๆ โดยเฉพาะด้านประติมากรรมเป็นพิเศษ เช่น ทรงปั้นหุ่นพระยารักใหญ่รักน้อย และรูปพระลักษมณ์พระราม ซึ่งเป็นหุ่นหลวงที่สวยงามมาก ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ พระพุทธประธาน ๒ องค์ คือ พระพุทธจุฬารักษ์ พระประธานพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม และพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม งานชิ้นที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ ทรงร่วมสลักบานประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม รูปพรรณพฤกษาซ้อน ๓ ชั้น มีภาพสัตว์ประเภทนกและกระต่ายประกอบ

พระยารักใหญ่ พระยารักน้อยฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ ๒ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

            สมัยรัชกาลที่ ๓ ในรัชกาลนี้มีการสร้างหล่อพระประธานขนาดใหญ่ ตามวัดที่สร้างใหม่ เช่น "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" พระประธานพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และ "พระพุทธเสฏฐมุนี" พระประธานในศาลาการเปรียญวัดสุทัศนเทพวราราม "พระเสฏฐตมมุนี" พระประธานพระอุโบสถวัดราชนัดดา และ "พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา" พระประธานพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ นอกจากนี้ยังทรง สร้างพระพุทธไสยาสน์ยาว ๙๐ ศอกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระพุทธรูปยืนทรง เครื่องกษัตริยาธิราชเจ้า ๒ องค์ เพื่อเป็นราชอนุสรณ์แด่พระอัยกา และพระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นพระหล่อสัมฤทธิ์หุ้มทองคำ ประดับด้วยอัญมณีมีค่า ถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" และ "พระพุทธเลิศหล้านภาลัย" ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสร้างพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามญาติขนาดใหญ่นี้ นิยมสร้างไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานพระอุโบสถ วัดเฉลิมพระเกียรติ พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์

ประติมากรรมระยะปรับตัว

            สมัยรัชกาล ที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคสมัยของการปรับตัว เปิดประเทศ ยอมรับอิทธิพลตะวันตก ยอมรับความคิดใหม่มาเปลี่ยนแปลงสังคม ระเบียบประเพณี เพื่อประคองให้ประเทศรอดพ้นจากภัยสงคราม หรือจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งหลายประเทศในซีกโลกเอเชียยุคนั้นประสบอยู่ การสร้างงานศิลปกรรมทุกสาขา รวมทั้งประติมากรรม ก็ถูกกระแสการเมืองนี้ด้วย

            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริปั้นรูปเหมือนแบบตะวันตกขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพรจนา (พลับ) ซึ่งต่อมาเป็นพระยาจินดารังสรรค์ปั้นถวาย โดยปั้นจากพระองค์จริง และเลียนแบบรูปปั้นของพระองค์ ที่ฝรั่งปั้นจากรูปพระฉายที่ส่งมาถวาย แต่ไม่เหมือน เมื่อทอดพระเนตรเห็นพระรูปที่หลวงเทพรจนาปั้นขึ้นใหม่ ก็ทรงโปรด ต่อมานำพระรูปองค์นี้ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทในพระนครคีรีที่เพชรบุรี ปัจจุบันมีการหล่อไว้หลายองค์ ประดิษฐานที่พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ และหอพระจอม วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพฯ จากพระรูปองค์นี้ นับเป็นการเปลี่ยนศักราชประติมากรรมไทย ที่เดิมปั้นรูปราชานุสรณ์ โดยใช้การสร้างพระพุทธรูป หรือเทวรูปแทน มาสู่การปั้นรูปราชานุสรณ์เหมือนรูปคนจริงขึ้น และจากจุดนี้เอง ส่งผลให้มีการปรับตัวทางประติมากรรมไปสู่ประติมากรรมสมัยใหม่ การปั้นหล่อพระพุทธรูปในยุคนี้ ไม่ใหญ่โตเท่าสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพุทธลักษณะที่เป็นแบบฉบับของตนเอง มีลักษณะโดยส่วนรวมใกล้ความเป็นมนุษย์ มีการปั้นจีวร เป็นริ้ว บนพระเศียร ไม่มีต่อมพระเมาลี พระพุทธรูปที่สำคัญเหล่านี้คือ พระสัมพุทธพรรณี พระนิรันตราย และพระพุทธสิหังคปฏิมา พระประธาน ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ ในรัชสมัยนี้ มีการสร้างพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติเช่นกัน แต่จีวรพระสมัยนี้เป็นริ้วใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ประติมากรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ "พระสยามเทวาธิราช" เป็นเทวรูปขนาดเล็กหล่อด้วยทองคำทั้งองค์สูง ๘ นิ้วฟุต ลักษณะงดงามมาก เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

พระสยามเทวาธิราช เทวรูปขนาดเล็ก หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ในพระพิมาน ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

            สมัยรัชกาลที่ ๕ ระยะต้นรัชกาล อายุกรุงรัตนโกสินทร์จะครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงศิลปะแบบดั้งเดิมอย่างมาก มีการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ปราสาทราชมณเฑียร โดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เกิดงานประติมากรรมตกแต่งที่สวยงาม ในศาสนสถานแห่งนี้มากที่สุด งานประติมากรรมส่วนใหญ่เป็นฝีพระหัตถ์ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการทั้งสิ้น เช่น รูปสัตว์หิมพานต์ ๗ คู่ บนชานชาลาไพที รอบปราสาทพระเทพบิดร รูปพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลที่ ๑, ๒ และ ๓ เป็นรูปบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกร บนพานแว่นฟ้า พร้อมช้างเผือกและฉัตร ตรงมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทพระเทพบิดร ปั้นหล่อพระบรมรูป ๓ รัชกาลคือ รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ รวมทั้งปั้นแก้ไขรัชกาลที่ ๔ ที่พระยาจินดารังสรรค์ปั้นไว้ พระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร เป็นรูปเหมือนที่แปลกไปจากภาพเหมือนโดยทั่วไป เพราะเป็นศิลปะระยะปรับตัว เป็นการผสมระหว่างความต้องการที่จะให้รูปปั้น เหมือนรัชกาลนั้นๆ กับการสร้างรูปให้มีความงามแบบพระหรือเทวรูป ที่ต้องการความเกลี้ยงเกลากลมกลึงของรูปทรง เป็นคุณค่าความงาม รูปเหมือนจึงแสดงความเหมือนบุคคลออกมา พร้อมกับให้อารมณ์ความรู้สึกแบบไทยด้วย

พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส
พระพุทธรูปกะไหล่ทอง ปางสมาธิ
            ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการสร้างพระพุทธรูป ขึ้นใหม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือ พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส พระประธานวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน อยุธยา ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นอกจากนี้ ยังมีการปั้นหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ครั้งเดียวในรัชกาลนี้ สร้างใน ระหว่างพ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๔ ในคราวนั้นโกลาหลมาก เนื่องจาก ไม่มีการปั้นพระขนาดใหญ่มานาน แต่ก็สำเร็จลงด้วยดี พระพุทธรูปองค์นี้คือ พระพุทธชินราชจำลอง ปั้นหล่อขึ้น เพื่อนำมาประดิษฐาน เป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตร ต้องลงไปปั้นหล่อที่พิษณุโลก ผู้ปั้นหล่อจำลองคือ หลวงประสิทธิปฏิมา
ประติมากรรมร่วมสมัย

            อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน เป็นศิลปะที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเจริญแบบตะวันตก ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ ในการสร้างสรรค์ศิลปะ เพื่อสาธารณะประโยชน์ นอกเหนือจากการสร้าง เพื่อศาสนาอย่างเดียว

"มนุษย์กับความปราถนา" ประติมากรรมร่วมสมัยหรือสมัยใหม่ ปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ เข็มรัตน์ กองสุข เป็นผู้ปั้นพระพุทธนฤมลธรรมโมภาสพระพุทธรูปกะไหล่ทอง ปางสมาธิ

            สมัยรัชกาลที่ ๖ ศิลปะตะวันตกเข้ามาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และกำลังฝังรากลึกลงไปในสังคม และวัฒนธรรมไทย การตกแต่งวังเจ้านาย อาคารราชการ อาคารพาณิชย์ สวนสาธารณะ และอาคารบ้านเรือนของคนสามัญ เริ่มตกแต่งงานจิตรกรรม และงานประติมากรรมภาพเหมือนมากขึ้น งานประติมากรรมไทยที่ทำขึ้น เพื่อศาสนา เช่น การสร้างศาสนสถาน ปั้นพระพุทธรูป ที่เคยกระทำกันมาก็ถึงจุดเสื่อมโทรมลง แม้จะมีการทำกันอยู่ก็เป็นระดับพื้นบ้าน ที่พยายามลอกเลียนสิ่งดีงามในยุคเก่าๆ ที่ตนนิยม ขาดอารมณ์ความรู้สึกทางการสร้างสรรค์ และไม่มีรูปลักษณะที่เป็นแบบแผนเฉพาะยุคสมัย

            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหันมาส่งเสริมศิลปะการช่างสมัยใหม่ โดยตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ จัดสอน ศิลปะการช่างทั้งแบบตะวันตก และแบบไทย การสร้างงานศิลปะระดับชาติ ได้จ้างฝรั่งมาออกแบบ ตกแต่งพระบรมมหาราชวัง หรือพระที่นั่ง ทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องใช้ช่างทำรูปปั้นต่างๆ เช่น เหรียญตรา และอนุสาวรีย์ ซึ่งช่างไทยยังไม่ชำนาญงานภาพเหมือนขนาดใหญ่ จึงสั่งช่างปั้นมาจากประเทศอิตาลี ผู้ได้รับเลือกคือ ศาสตราจารย์ คอราโด เฟโรจี เข้ารับราชการเป็นประติมากร กรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์เฟโรจี เข้าไปปั้นพระบรมรูปของพระองค์โดยใกล้ชิด เป็นพระบรมรูปเท่าพระองค์จริง ปัจจุบันประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร นับเป็นงานภาพเหมือนที่สำคัญในรัชกาลนี้ ต่อมาศาสตราจารย์เฟโรจี ได้โอนสัญชาติ และเปลี่ยนชื่อเป็นไทยว่า ศิลป พีระศรี ท่านผู้นี้ ต่อมามีความสำคัญต่อวงการศิลปกรรมไทยสมัยใหม่ทุกสาขาอย่างที่สุด

            รัชกาลที่ ๗ - รัชกาลปัจจุบัน ระยะแรกศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นช่างปั้นที่สำคัญแต่ผู้เดียวในยุคนั้น ได้ดำเนินการปั้นรูปอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์เป็นภาพเหมือนขนาดใหญ่ ๓ เท่าคนจริงเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ส่งไปหล่อทองแดงที่ประเทศอิตาลี เสร็จทันมาติดตั้ง ที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า เพื่อเปิดสะพาน และฉลองกรุงครบ ๑๕๐ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

            หลังจากการฉลองกรุงไม่กี่วันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในประเทศไทย โดยคณะทหารและพลเรือน อำนาจการปกครอง และการบริหารประเทศ จึงไม่ตกอยู่กับพระมหากษัตริย์อีกต่อไป การสร้างงานศิลปกรรม ซึ่งแต่เดิมอยู่ในความดูแลของราชสำนัก ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงส่งเสริม ก็สิ้นสุดลง วิถีการดำเนินชีวิต ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป คณะรัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศ ทางด้านวัตถุมากกว่าการพัฒนาด้านจิตใจ โดยเฉพาะทางศิลปะ การสร้างงานศิลปกรรมยุคต่อมา ล้วนต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในวงแคบๆ แต่กระนั้นการต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าในงานศิลปะ ยังดำเนินต่อไป โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้นำ เพื่อทำให้ผู้นำประเทศ และคนทั่วไปเห็นคุณค่า ท่านต้องทำงานอย่างหนัก กล่าวคือ นอกจากงานปั้นอนุสาวรีย์ที่สำคัญแล้ว ท่านยังได้วางแนวทางการศึกษาศิลปะ โดยหาทางจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งต่อมาขยายตัวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดให้มีการเรียนการสอน ทั้งด้านจิตรกรรม และประติมากรรม ซึ่งการศึกษา และการสร้างงานประติมากรรม ต่อมาเปลี่ยนไปตามการพัฒนาวัฒนธรรมของสังคม ที่ต้องการพึ่งพาพลังงานใหม่ๆ ภายใต้อิทธิพลทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ซึ่งเป็นการก้าวหน้าแห่งยุค โดยเฉพาะในรัชกาลปัจจุบัน การสื่อสาร และการคมนาคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงเกือบทุกมุมโลก มีลัทธิทางศิลปะเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และได้แพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยด้วย ประติมากรรมจึงเข้าสู่รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย เป็นการแสดงออกทางด้านการสร้างสรรค์ ที่มีอิสระ ทั้งความคิด เนื้อหาสาระ และเทคนิคการสร้างงาน สุดแต่ศิลปินจะใฝ่หา งานศิลปะที่แสดงออกมานั้น จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ใหม่ ของวัฒนธรรมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง