เล่มที่ 15
ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ร่องรอย แหล่งชุมชนโบราณ

            เรื่องราวความเป็นมาของประเทศชาติ สามารถเรียนรู้ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ จนถึงปัจจุบัน โบราณสถาน และโบราณวัตถุ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่คนในชาติ จักต้องช่วยกันรักษาไว้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน ไว้ว่า "โบราณ สถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว มีค่าควรที่เราจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทย ก็ไม่มีความหมาย"

โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขุดพบที่บริเวณโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนประมาณไม่น้อยกว่า ๓-๔ พันปี
            บริเวณที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยรวมกัน ของคนในอดีตเราเรียกว่า "แหล่ง ชุมชนโบราณ" ซึ่งอาจมีอาณาบริเวณขนาดเล็ก และขนาดใหญ่แตกต่างกันไปตามความสำคัญและจำนวนผู้คนที่อาศัยรวมกันอยู่ในบริเวณนั้น เรารู้ได้ว่า บริเวณใดเป็นแหล่งชุมชนโบราณ ก็โดยอาศัยหลักฐาน ที่คนในอดีตได้สร้างขึ้นและหลงเหลืออยู่ในบริเวณนั้น หลักฐานเหล่านี้อาจเป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นร่องรอยของสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ศาสนสถานหรืออาจเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ที่สะสมรวมกันอยู่ในบริเวณนั้น โบราณสถานที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างหรือโบราณวัตถุ และสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ เมื่อถูกทอดทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ก็อาจผุพังเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรืออาจถูกทับถมจมดินไป จนกว่าจะมีผู้คนค้นพบในภายหลัง หรืออาจจะสูญหายไม่มีร่องรอยให้ผู้ใดพบเห็นได้อีกเลย

เตาทุเรียง พบในบริเวณชุมชนโบราณที่บ้านเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัยจ.สุโขทัย
            ในบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณ นอกเหนือจากหลักฐานประเภทอาคารสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ อาจพบร่องรอยอย่างอื่น ที่คนในอดีตช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่น บางแห่งมีการสร้างถนน บางแห่งขุดสระน้ำ เขื่อน คูคลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน หรือเพื่อการเกษตร การชลประทาน บางแห่งขุดคูคันดินกักเก็บน้ำล้อมรอบ เพื่อใช้เป็นที่กำหนดขอบเขตบริเวณชุมชน บางแห่งขุดคูคันดิน เพื่อกักเก็บน้ำ และสร้างกำแพงภายใน ใช้สำหรับการป้องกันศัตรู และบางแห่งขุดคูคันดิน เพื่อให้สะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับภายนอก ร่องรอยหลักฐานที่เป็นสระน้ำ และเขื่อนคูคันดินเหล่านี้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ คันดินที่สูงก็จะถูกชะทลายให้ต่ำลง ในขณะที่สระน้ำและคู ซึ่งเป็นที่ต่ำ จะมีตะกอนมาทับถมให้ตื้นเขิน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังคงร่องรอยปรากฎในภูมิประเทศ มีลักษณะบ่งบอกให้เราทราบได้ว่า เป็นสิ่งที่คนทำขึ้น แตกต่างไปจากลักษณะภูมิประเทศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้ว ร่องรอยที่เป็นสระน้ำ เขื่อน คูคลอง และคูคันดินล้อมรอบชุมชนโบราณเหล่านี้ มักมีขนาดใหญ่เพียงพอ ที่ปรากฏให้เห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศ และใช้เป็นหลักฐานยืนยันให้เราทราบ ถึงแหล่งที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยรวมกัน ซึ่งอาจเป็นเพียงแหล่งชุมชนเล็กๆ หรืออาจมีขนาดใหญ่เป็นบ้านเป็นเมือง ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์ให้คงไว้ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมคู่ชาติบ้านเมืองสืบต่อไป