ชุมชน โบราณบริเวณรอบอ่าวไทย บริเวณรอบอ่าวไทย ได้พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แสดงให้เห็นว่า มีผู้คนอยู่อาศัยสร้างเป็นบ้านเมืองมาช้านาน และมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป ได้แก่ ชุมชนตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น จีน เขมร เวียดนามอินโดนีเซีย และชุมชนในมหาสมุทรอินเดีย เช่น ลังกา อินเดีย พม่า และบริเวณตะวันออกกลาง เป็นต้น ชุมชนที่มีคูคันดินล้อมรอบ ที่พบรอบอ่าวไทยอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเล มีเส้นทางคมนาคม หรือขุดคูคลอง ให้ติดต่อออกสู่ทะเลได้ ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่ราบเจ้าพระยาซึ่งในอดีตชายฝั่งทะเลได้อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มากกว่าปัจจุบัน | |
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงแนวคูคลองขุดล้อมรอบเมืองนครปฐมและเชื่อมต่อกับแม่น้ำใช้ ประโยชน์ในการคมนาคมได้สะดวก | |
แผนที่บริเวณที่ราบเจ้าพระยาแสดงแนวชาย ฝั่งทะเลเดิม และตำแหน่งชุมชนโบราณ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ในบริเวณที่ราบเจ้าพระยา ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก จังหวัดเพชรบุรี อ้อมไปทางทิศตะวันตก จังหวัดชลบุรี มีเมืองต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี คูบัว ราชบุรี นครปฐม กำแพงแสน อู่ทอง สุพรรณบุรี อู่ตะเภา ดงละคร และเมืองพระรถ เป็นต้น ในบริเวณจังหวัดภาคใต้พบชุมชนโบราณ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และบริเวณลุ่มน้ำปัตตานี เป็นต้น ชุมชนโบราณตามแนวชายฝั่งทะเลทุกแห่ง ที่พบในบริเวณรอบอ่าวไทยนี้ จะมีเส้นทางติดต่อเข้าออกถึงทะเล บางแห่งขุดคลองเชื่อม เพื่อให้เรือเข้าถึงตัวเมืองได้สะดวก เมืองเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับภายนอกโดยทาง เรือได้อย่างดี ร่องรอยคูคลอง ที่ขุดเชื่อมระหว่างตัวเมือง และแนวชายฝั่งทะเล เป็นหลักฐานให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่ง เมือง และแนวชายฝั่งทะเลในสมัยนั้น | |
เมืองสุพรรณบุรีตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนติดต่อถึงทะเลได้สะดวกเกิดเป็น เมืองภายหลังที่เมืองอู่ทองลดความสำคัญลง | |
เมืองโบราณ ที่ตัวจังหวัดนครปฐม เป็น ตัวอย่างการสร้างเมือง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และมีร่องรอยการขุดคลองออกสู่ทะเล และต่อมาภายหลังที่มีฝั่งทะเลถอยร่นไป การออกสู่ทะเลตามแนวคลองเก่าไม่สะดวก ได้ขุดแนวคลองใหม่ เชื่อมต่อกับแม่น้ำออกสู่ทะเล ร่องรอยแนวคลองนี้ ปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศได้ชัดเจน และยังมีหลักฐานที่สามารถสำรวจเห็นได้ในภูมิประเทศจริง แนวคลองเก่าขุดจากตัวเมืองไปทางใต้ สามารถติดต่อกับทะเลได้ที่บริเวณบ้านดอนยายหอม ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางใต้ประมาณ ๙ กิโลเมตร ต่อมาเมื่อทะเลถอยร่นไกลออกไป ไม่สะดวกที่จะใช้เป็นทางเข้าออกทะเล ได้ขุดคลองใหม่จากกลางเมืองไปทางตะวันออก เชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน ที่นครชัยศรี ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งต่อมาเจริญ เป็นเมืองบนฝั่งแม่น้ำ และสันนิษฐานว่า ชื่อเมืองนครชัยศรี คงเป็นชื่อเดิมของเมืองโบราณ ที่นครปฐม และคลองที่เชื่อมระหว่างตัวเมืองโบราณ ที่นครปฐม และแม่น้ำท่าจีนนี้ ต่อมาภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกนอกเมืองโบราณที่นครปฐม ได้ขุดลอกคลองโบราณตลอดแนว จากแม่น้ำท่าจีน ต่อเชื่อมกับแนวคูเมืองทางด้านเหนือ และขุดคลองใหม่ต่อออกไปจนถึงพระปฐมเจดีย์ มีชื่อเรียกในปัจจุบันว่า "คลองเจดีย์ บูชา" | |
เมืองราชบุรีโบราณ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเจริญขึ้นมาแทนที่เมืองคูบัว ภายหลังฝั่งทะเลถอยห่างออกไป | |
เมืองโบราณที่อู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน ซึ่งเป็นทางน้ำ มีร่องรอยต่อเชื่อมกับทะเลเดิม ที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน มีหลักฐานขุดพบโครงกระดูก และโบราณวัตถุ ในสมัยที่ยังใช้เครื่องมือหิน และลูกปัดแก้ว ซึ่งมีที่มาจากแถบตะวันออกกลาง แสดงว่า บริเวณนี้ได้มีการติดต่อกับทะเลมานาน หลักฐานปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นคูคันดินรอบเมืองโบราณ และมีร่องรอยการขุดคลองลัด เป็นแนวตรงถึงปากแม่น้ำจระเข้สามพัน ซึ่งติดต่อกับทะเล ภายหลังที่ทะเลถอยร่นห่างออกไป ปรากฏร่องรอยแสดงให้เห็นผลกระทบกับเมืองโบราณอู่ทองที่สำคัญสองประการ ประการที่หนึ่ง คือ พบร่องรอยของแนวคลองขุดเชื่อมต่อกับแนวคลองเก่ามาทางด้านใต้ ซึ่งแสดงว่า เมื่อแนวเก่าไม่สะดวกต่อการออกสู่ทะเล จึงได้มีการขุดแนวคลองใหม่ ประการที่สอง พบร่องรอยของการที่แม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินลงสู่ทะเลในแนว ใหม่ ก่อนถึงตัวเมืองโบราณที่อู่ทอง ทำให้ต้องขาดแคลนน้ำ และได้พบร่องรอยการขุดพนัง ซึ่งเป็นคันดินสูง ปิดทางน้ำ และบังคับให้น้ำไหลไปตามแม่น้ำจระเข้สามพัน ผ่านตัวเมืองอีกดังเดิม นับเป็นหลักฐานที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของคนในอดีต ที่พยายามต่อสู้ เพื่อความอยู่รอด กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แต่ในที่สุด เมื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่ทะเลกลับอยู่ห่างไกลออกไป ไม่สะดวกในการติดต่อกับทะเล ทำให้เมืองดังกล่าวหมดความสำคัญลง และในที่สุด เมืองที่สร้างขึ้นมาบนแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ เมืองโบราณ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสะดวกในการติดต่อกับทะเล ก็เจริญขึ้นมาแทนที่ในที่สุด บริเวณที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง เริ่มตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมา แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มไหลแยกออกเป็นแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา จนออกอ่าวไทย มีหลักฐานทางธรณีวิทยาแสดงว่า เคยเป็นทะเลมาก่อน มีการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลขึ้นลงมาหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่มีการสร้างบ้านเมือง ขุดคูคันดินล้อมรอบ ประมาณในช่วงสมัยทวารวดี หรือก่อนเวลานั้น คิดเป็นเวลาคงไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ทะเลจะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับเมืองโบราณ เช่น ที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองนครชัยศรีโบราณ ที่ตั้งเมืองจังหวัดนครปฐม เมืองอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และเมืองพระรถ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ตำแหน่งเมืองโบราณดังกล่าว อยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเล แต่ละเมืองได้พบร่องรอยขุดคลอง หรือทางน้ำ ต่อเชื่อมถึงทะเล แสดงให้เห็นถึงการใช้เป็นเส้นทางเข้าออกสู่ทะเลในช่วงเวลานั้น ต่อมาฝั่งทะเลได้ถอยร่นห่างออกไป ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เป็นผลทำให้ต้องโยกย้ายที่ตั้งเมืองใหม่ หรือเกิดเมืองใหม่ขึ้นมาแทนที่บนฝั่งแม่น้ำที่ออกสู่ทะเลได้สะดวกกว่า เช่น เมืองโบราณ ที่บ้านเตาอิฐ ที่ตั้งเมืองจังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง และเมืองโบราณบนฝั่งตะวันตก แม่น้ำท่าจีน ที่ตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองเมืองมีคูคันดินล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกัน สันนิษฐานได้ว่า ทั้งสองเมืองสร้างขึ้นมาในสมัยเดียวกัน ภายหลังที่ฝั่งทะเลได้ถอยร่นห่างออกไป ทำให้การติดต่อออกสู่ทะเลไม่สะดวก เมืองโบราณ ที่สุพรรณบุรี จึงเจริญขึ้นมาแทนที่เมืองอู่ทอง และเมืองราชบุรี ก็เจริญขึ้นมาแทนที่เมืองคูบัว |