เล่มที่ 15
ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้

            บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางในลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ประมาณ ๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำมูลเป็นขอบเขตทางด้านใต้ เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า ในฤดูฝนพื้นที่จะมีน้ำท่วมขัง และภายหลังจากนั้น พื้นที่จะ แห้งแล้ง ประสบปัญหาขาดแลนน้ำ เนื่องจากมีน้ำและดินเค็มอยู่ทั่วไป มีผู้คนอยู่อาศัยไม่มาก ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ตามสภาพธรณีวิทยา บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นที่ลุ่มต่ำ คล้ายท้องกระทะของบริเวณที่ราบสูงโคราช และรองรับด้วยชั้นหินที่มีเกลือ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะไหลมารวมกันในบริเวณลุ่มน้ำมูล แล้วจึงไหลลงสู่แม่น้ำโขง น้ำจะเอ่อท่วมบริเวณทุ่งกุลาร้องไหชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าน้ำในแม่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงจนหมด และเนื่องจากบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้รองรับด้วยชั้นหินที่มีเกลือ บางแห่งชั้นหินเกลืออยู่ไม่ห่างจากพื้นผิวดิน น้ำใต้ดินส่วนใหญ่ได้ละลายเกลือและเป็นน้ำเค็มอยู่ใกล้พื้นดินมาก น้ำเค็มจะเคลื่อนตัวขึ้นมาบนพื้นดินด้วยแรงตึงผิว และจะระเหยไปทิ้งไว้แต่ตะกอนเกลือที่พื้นดิน ทำให้ดินและน้ำมีความเค็มโดยทั่วไป

แผนที่แสดงตำแหน่งชุมชนโบราณและแนวคลองในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้
แผนที่แสดงตำแหน่งชุมชนโบราณและแนวคลองในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้

            อย่างไรก็ตามในบางบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงกว่าบริเวณรอบข้าง และมีสภาพอำนวยให้เกลือถูกละลายลงสู่เบื้องล่าง และในฤดูฝนก็สามารถรับน้ำจืด ที่ซึมลงไป และกักเก็บไว้ในบริเวณนั้น น้ำจืดซึ่งเบากว่าน้ำเค็ม จะลอยตัวอยู่บนน้ำเค็มที่ระดับหนึ่ง โดยไม่กลายเป็นน้ำเค็มในทันที สภาพภูมิประเทศดังกล่าว จึงเป็นแหล่งที่สามารถขุดกักหาน้ำจืดได้ และในการศึกษาชุมชนโบราณในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ได้พบว่า ชุมชนโบราณจะเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศ ที่สามารถกักเก็บน้ำจืดได้ สร้างคูคันดินกักเก็บน้ำ และตั้งชุมชนอยู่บนเนินเหล่านั้น ในการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณ ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ได้พบชุมชนโบราณทั้งหมด ๙๒ แห่ง และนอกจากนี้ยังได้พบคูคลองชลประทานจำนวนทั้งหมด ๖๕ สาย ขุดต่อเชื่อมกันในลักษะของการระบายน้ำ จากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก รวมความยาวประมาณ ๕๔๓ กิโลเมตร และนอกจากนี้ยังได้พบแนวเขื่อนกั้น เพื่อปิดกักยกระดับน้ำ ๒ แห่งยาว ๔.๕ กิโลเมตร และ ๓.๕ กิโลเมตร

แผนที่บริเวณบ้านเมืองเสือแสดงคูคันดินล้อมรอบและแนวคลองเชื่อมต่อกับแหล่งชุมชนอื่น
แผนที่บริเวณบ้านเมืองเสือแสดงคูคันดินล้อมรอบและแนวคลองเชื่อมต่อกับแหล่งชุมชนอื่น

            ลักษณะการกระจายตัวของชุมชนโบราณในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้นี้ การเลือกสถานที่อยู่อาศัย จะเลือกอยู่บนที่เนิน หรือลานตะพักแม่น้ำ (river terrace) สูงจากระดับน้ำท่วม และส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ห่างไกลจากลำน้ำธรรมชาติ ที่ไหลผ่านบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ ลำพลับพลา และลำเสียวใหญ่ โดยลำน้ำธรรมชาติดังกล่าว ทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างดีในบริเวณชุมชนโบราณเหล่านี้ เราได้พบร่องรอยของการขุดคูต่อเชื่อมกันโดยตลอด มีลักษณะการระบายน้ำ ให้ไหลไปตามระดับที่ลาดต่ำลงตามธรรมชาติ จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก คูคลองที่สำรวจพบด้วยภาพถ่ายทางอากาศทั้งหมด ยังไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดทั้งบริเวณ แต่จากข้อมูลที่ศึกษาได้ในขั้นต้นจากภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นลักษณะการกระจายตัว และการเชื่อมโยงของทางน้ำ กับชุมชนโบราณ แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์คูคลองในลักษณะของการชลประทาน โดยนำน้ำจืดจากทางด้านทิศตะวันตกมากักเก็บไว้ตามบริเวณ ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ และระบายออกสู่คูคลองธรรมชาติ ซึ่งจะไหลไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำมูลต่อไป

            การสำรวจพบแหล่งชุมชนโบราณ ตลอดจนคูคลองดังกล่าว ทำให้เข้าใจได้ว่า คนในอดีต ที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้นี้ มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดีแล้ว ในการที่จะเลือกหาแหล่งที่อยู่อาศัย ตั้งเป็นชุมชน สามารถกักเก็บน้ำจืดได้ตามธรรมชาติ และรู้จักการเอาชนะธรรมชาติ ด้วยการขุดคลองจำนวนมาก เชื่อมโยงชุมชนต่างๆ เพื่อแก้ไขการขาดแคลนน้ำ และอาจใช้ เพื่อการคมนาคมได้ในเวลาเดียวกัน

            ตัวอย่างการกักเก็บน้ำจืดตามชุมชนโบราณดังกล่าว จะเห็นได้จากชุมชนโบราณในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้หลายแห่ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนในปัจจุบัน และได้ขุดลอกคูคันดิน เพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ได้ตลอดปี เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ ชุมชนโบราณที่บ้านหลุบโมก อำเภอภาษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ คูคันดิน โบราณนี้ตื้นเขิน และภาพในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ มีการขุดลอกกักเก็บน้ำจืดใช้ประโยชน์สำหรับชุมชนในปัจจุบัน