ชุมชนโบราณที่ห้วยเวียงหวาย อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นคูคันดินที่ขุดล้อมรอบเนิน กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบอิสระ กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบวงรี กลุ่มรูปแบบคูคันดินที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ :รูปแบบมุมเหลี่ยม บ้านแสลงโทน ต.แสลงโทน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นคูคันดินล้อมรอบชุมชนโบราณ | รูปแบบคูคันดินรอบชุมชนโบราณ ชุมชนโบราณในประเทศไทย จากหลักฐานในภาพถ่ายทางอากาศ เท่าที่ได้มีผู้รวบรวมไว้ มีจำนวน ๑,๒๐๘ แห่ง ในจำนวนนี้ประมาณ ๙๕๔ แห่ง จัดเป็นแหล่งชุมชนที่มีคูคันดินล้อมรอบ โดยทั่วๆ ไปแล้ว เป็นที่เข้าใจว่า การขุดคูคันดินล้อมรอบแหล่งชุมชน มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายๆ อย่างรวมกัน ได้แก่ ๑) เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตบริเวณแหล่งชุมชน หรือบริเวณที่มีความสำคัญโดยเฉพาะ ๒) เพื่อเป็นการป้องกันศัตรูจากภายนอก ๓) เพื่อความสะดวกในการคมนาคมเชื่อมโยงกับทางน้ำ หรือเส้นทางออกสู่ทะเล ๔) เพื่อกักเก็บน้ำใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน ลักษณะการใช้ประโยชน์คูคันดินรอบชุมชนโบราณดังกล่าวนี้ สามารถพิจารณาได้จากลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ชุมชนนั้นตั้งอยู่ และลักษณะเฉพาะของคูคันดินเหล่านั้น เช่น รูปร่าง ขนาด และทิศทางของคูคันดิน เป็นต้น เราอาจจำแนกลักษณะของคูคันดินรอบชุมชนโบราณในประเทศไทยได้ ในลักษณะของ "กลุ่ม รูปแบบ" โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ ของรูปร่างคูคันดินกับลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ "กลุ่ม รูปแบบที่ไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" และ "กลุ่ม รูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ" ในแต่ละกลุ่มรูปแบบ ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็นรูปแบบประเภทต่างๆ โดยอาศัยรูปร่าง และลักษณะเฉพาะของชุมชนแต่ละแห่ง การจัดแบ่งกลุ่มและประเภทคูคันดินรอบชุมชนโบราณ ที่สำรวจพบในประเทศไทย นับเป็นหลักฐานที่น่าภาคภูมิใจสำหรับประเทศเรา ที่มีชุมชนโบราณ ที่ขุดคูคันดินล้อมรอบจำนวนมาก และมีรูปแบบหลากหลาย สามารถนำมาจัดเป็นระบบได้ จะเป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาอย่างมีระบบ โดยนำไปใช้เปรียบเทียบแหล่งชุมชนโบราณในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป ในรายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบคูคันดิน รอบชุมชนโบราณ พอจะอธิบายได้ดังนี้ ๑. กลุ่มรูปแบบที่ไม่ขึ้นกับลักษณะภูมิประเทศ รูปแบบคูคันดินในกลุ่มนี้ มีลักษณะรูปร่าง ที่ไม่สัมพันธ์กับภูมิประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ราบมีระดับไม่แตกต่างกัน มีการระบายน้ำมากักเก็บไว้ในคู และมีการเชื่อมโยงติดต่อกับทางน้ำภายนอก อาจเป็นทางน้ำตามธรรมชาติ หรือคูคลองที่ขุดขึ้น คูคันดินในกลุ่มนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นรูปแบบประเภทต่างๆ โดยพิจารณาตามรูปร่างทางเรขาคณิต ได้แก่ ๑.๑ รูปแบบอิสระ คือ คูคันดินที่ไม่มีรูปร่าง แน่นอนในทางเรขาคณิต ๑.๒ รูปแบบวงกลม คูคันดินประเภทนี้ พบว่า มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก ส่วนใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า ๕๐๐ เมตร และมักพบว่า เป็นคูคันดินสร้างซ้อนอยู่ภายในคูคันดินรูปแบบอื่น ๑.๓ รูปแบบวงรี คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้มีรูปร่างคล้ายรูปไข่ หรือเป็นวงรี ขนาดของชุมชนโบราณจัดอยู่ในประเภท มีขนาดปานกลาง หรือขนาดใหญ่ ๑.๔ รูปแบบมุมมน คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้ มีรูปร่างเกือบเป็นเส้นตรงคล้ายรูปสี่เหลี่ยม โดยตามมุมต่างๆ จะมีลักษณะมนโค้ง ๑.๕ รูปแบบมุมเหลี่ยม คูคันดินรอบชุมชนโบราณประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีด้านต่างๆ เป็นเส้นตรงตัดกันเป็นมุม ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เป็นต้น ๒. กลุ่มรูปแบบที่ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ คูคันดินที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มีรูปร่างเป็นไปตามภูมิประเทศที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ มีลักษณะเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่รอบข้าง คูคันดินในกลุ่มนี้ สามารถจัดแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ ๒.๑ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมรอบตีนเนิน ชุมชนโบราณที่จัดอยู่ในรูปแบบนี้ สำรวจพบแต่เฉพาะในที่ราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกกันว่า "อีสาน" เป็นบริเวณที่ราบสูง รองรับด้วยชั้นหินทราย และชั้นหินที่มีเกลือ ชั้นหินเกลือที่แทรกอยู่นี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริเวณอีสานในช่วงฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ และมีดินเค็มเกิดขึ้นเป็นแห่งๆ ทั่วไป แหล่งชุมชนโบราณที่สำรวจพบในบริเวณอีสาน จะเลือกสร้างอยู่ในบริเวณที่มีสภาพธรรมชาติ สามารถกักเก็บน้ำได้ โดยขุดคูคันดินล้อมรอบตีนเนิน เพื่อเก็บน้ำใช้สำหรับชุมชน ๒.๒ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมบนเนิน ลักษณะคูคันดินตามรูปแบบนี้ พบว่า คูคันดินขุดตามขอบสันเนิน ซึ่งสูงกว่าที่ราบโดยรอบ คูมีลักษณะแคบและสูงชัน มีคันดินอยู่ภายใน ทำให้ลำบากต่อการปีนป่ายเข้าไปในบริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ คูที่ขุดมีระดับแตกต่างกัน และไม่แสดงลักษณะของการกักเก็บน้ำ ตลอดจนไม่มีความสัมพันธ์กับทางน้ำธรรมชาติ หรือคลองชลประทานในบริเวณนั้น บริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบจะอยู่บนที่สูง ประมาณ ๒๐-๔๐ เมตร จากพื้นที่ราบโดยรอบ ที่ต่ำลงมา ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดเชิงเนิน อยู่ระหว่างคูคันดินกับที่ราบลุ่มทำนา บริเวณที่ลาดเชิงเนินนี้ ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับการตั้งถิ่นฐานในปัจจุบัน ส่วนบริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ ทำหน้าที่เสมือนป้อมป้องกันศัตรู ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเนิน เมื่อมีศัตรูก็จะเข้าไปอยู่ในบริเวณบนเนิน ที่มีคูคันดินขุดล้อมรอบ ใช้เป็นที่ป้องกันศัตรูจากภายนอก ชุมชนโบราณที่มีคูคันดินดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับเป็นเมืองป้อม และพบอยู่แต่เฉพาะบริเวณภาคเหนือของไทยที่เรียกว่า "ล้าน นา" เท่านั้น ลักษณะรูปแบบคูคันดินที่สำรวจพบ มีหลายรูปแบบ บางบริเวณขุดคูล้อมรอบบริเวณเนินอิสระต่อกัน บางแห่งจับเป็นกลุ่ม และบางแห่งขุดคูคันดินต่อเชื่อมกันคล้ายลูกโซ่ และบางแห่งมีขนาดใหญ่ ขุดคูคันดินเชื่อมต่อกันเป็นส่วนๆ แสดงให้เห็นวิวัฒนาการการขุดคูคันดินให้สอดคล้องกับขนาดของชุมชน ที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ๒.๓ ประเภทรูปแบบคูคันดินขุดล้อมรอบทั้งบนเนินและที่ราบ คูคันดินที่ขุดต่อเชื่อมกัน จะล้อมรอบบริเวณทั้งบนเนิน และที่ราบ คูในบริเวณที่ลุ่มจะมีน้ำขัง มีคันดินภายในสูงชัน และส่วนที่เป็นเนินเขา คูมีลักษณะแคบและชัน เปลี่ยนแปลงระดับไปตามลักษณะภูมิประเทศ ไม่สามารถใช้ในการกักเก็บน้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับคูคันดินขุดล้อมรอบบนเนิน ชุมชนโบราณที่มีคูคันดินล้อมรอบประเภทนี้ มักมีขนาดใหญ่ และพบอยู่แต่เฉพาะในภาคเหนือของไทยที่เรียกว่า "ล้าน นา" เท่านั้น ดังตัวอย่างชุมชนโบราณ ที่ตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย |