"ท่อปู่พระยาร่วง" คลองชลประทานสมัยสุโขทัย "ท่อปู่พระยาร่วง" เป็นคลองชลประทาน ปรากฏนามในจารึก พ.ศ.๒๐๕๓ บนฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองโบราณกำแพงเพชร ปัจจุบันเทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "...อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้นก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทองฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำไปเลี้ยงนาให้เป็นนาเหมืองนาฝายมิได้เป็นนาทาฟ้า อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์..." แนวคลองจากกำแพงเพชรถึงบางพานนั้น ตามที่ปรากฏในจารึก ยังมีร่องรอยปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายทางอากาศ และยังคงสภาพให้เห็นได้ในภูมิประเทศ และเป็นแนวเดียวกันกับแนวที่เชื่อกันมาในอดีตว่า เป็นถนน นั่นคือ "ถนนพระร่วง" ซึ่งเชื่อมโยงจากเมืองสุโขทัย ไปยังเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ และเมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้ บนฐานของเทวรูปพระอิศวรพบที่เมืองกำแพงเพชร มีจารึกครั้ง พ.ศ. ๒๐๕๓ กล่าวถึง "ท่อปู่พระยาร่วง" ซึ่งเป็นคลองชลประทาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จพระราชดำเนินตลอดแนว ตั้งแต่กำแพงเพชร ถึงศรีสัชนาลัย ด้วยพระองค์เอง และทรงห่วงใยเกรงว่า หลักฐานจะถูกทำลาย เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินตามแนวถนนในลักษณะต่างๆ และทรงมีข้อสงสัยในเรื่องของความเชื่อว่า เป็นถนน จึงได้ทรงแผนที่แนวถนน และพระราชทานข้อสังเกตไว้หลายประการ เพื่อเป็นแนวทางการศึกษารายละเอียดในภายหลัง ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" ความว่า "...ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ ที่จะยกหนังสือนี้ เป็นตำรับตำราอย่างใดเลย ประสงค์แต่จะตั้งโครงพอเป็นรูปขึ้นไว้ทีหนึ่ง เพื่อผู้ที่มีความรู้ และพอใจในการตรวจค้นโบราณคดีต่างๆ จะได้ตกแต่งแต้มเติมให้เป็นรูปอันงดงามดีขึ้น..." การศึกษา เพื่อสนองเจตนารมณ์แห่งพระองค์ท่าน ภาพถ่ายทางอากาศได้รับการนำมาใช้ศึกษาข้อมูล ตามที่ปรากฏในแผนที่จากกำแพงเพชร ถึงสุโขทัย และจากสุโขทัย ถึงศรีสัชนาลัย ตามที่ทรงไว้ในพระราชนิพนธ์ได้พบหลักฐานตลอดแนว เห็นได้ชัดเจนในภาพถ่ายทางอากาศ รวมเป็นระยะทางประมาณ ๑๒๓ กิโลเมตร ดังแสดงไว้ในแผนที่ บางช่วงคูคลองตื้นเขินคงเหลือแต่คันดิน เป็นแนวยาว บางช่วงยังคงปรากฏคูคลองชัดเจน มีคันดินด้านเดียวขนานไปกับแนวคลอง และบางแห่ง ซึ่งผ่านที่ลุ่ม จะเห็นคันดินสองข้างชัดเจน ตามแนวคลองบางแห่ง ยังพบสระน้ำขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ อีกทั้งยังคงร่องรอยการทำนา ที่ใช้ระบบชลประทาน การศึกษาจากร่องรอย ที่ยังคงปรากฏให้เห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศพบว่า คันดินที่เห็นบนพื้นดินเป็นแห่งๆ ตลอดแนว จากกำแพงเพชร ผ่านสุโขทัย จนถึงศรีสัชนาลัย และเคยเข้าใจว่า เป็นถนน ตามที่รู้จักกันในนามของถนนพระร่วงนั้น ปรากฏให้เห็นบนภาพถ่ายทางอากาศชัดเจนว่า เป็นแนวคลอง ที่ขุดต่อเนื่องกันโดยตลอด การศึกษาระดับแนวคลอง เปรียบเทียบกับลักษณะภูมิประเทศ และตำแหน่งการสร้างสระสี่เหลี่ยมกักเก็บน้ำ เพื่อยกระดับ ล้วนแล้วเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า เป็นแนวคลองขุด นำน้ำจากแม่น้ำปิง ที่เมืองกำแพงเพชรทางด้านใต้ มายังสุโขทัย และจากด้านตะวันตกของเมืองศรีสัชนาลัยทางด้านเหนือ มาเชื่อมต่อกับคลองทางด้านใต้ ตรงตำแหน่งที่มีระดับต่ำสุดที่ต้นคลองแม่รำพัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๔๓ เมตร ระดับความสูงที่แม่น้ำปิง ๗๙ เมตร และระดับความสูงที่ศรีสัชนาลัย ๖๘ เมตร น้ำจากลำคลอง ที่ไหลมาบรรจบกัน จะไหลตามคลองแม่รำพัน ลงสู่บริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ ในฤดูน้ำมีน้ำท่วมขังกว้างขวางเรียกว่า ทะเลหลวง แผนที่ยุทธศาสตร์ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แสดงแนวคลองจากกำแพงเพชรถึงสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) ซึ่งเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากภาพถ่ายทางอากาศ นอกจากหลักฐานบนภาพถ่ายทางอากาศ ดังกล่าวแล้ว ยังได้พบหลักฐานบนแผนที่ยุทธศาสตร์ ครั้งรัชสมัยเสด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง ที่เขียนเป็นแนวคลองจากกำแพงเพชร ไปจนถึงศรีสัชนาลัย และมีแนวคลองจากแนวคลองท่อปู่พระยาร่วง เชื่อมกับแม่น้ำยม ซึ่งปัจจุบันคือ คลองแม่รำพัน แนวคลองท่อปู่พระยาร่วงจากกำแพงเพชร จนถึงบางพาน ตามที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๐๕๓ ซึ่งกล่าวถึงการบูรณะขุดลอกนำน้ำไปเลี้ยงนาบริเวณเมืองบางพานให้เป็นนาเหมือง นาฝาย มิได้เป็นนาทางฟ้าเหมือนเมื่อสมัยเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น ตามแนวคลองและตำแหน่งเดียวกัน จากกำแพงเพชร จนถึงบางพานนี้ ปัจจุบันเป็นคลองชลประทาน "โครงการพระราชดำริคลองท่อทองแดง" นำน้ำไปยังเมืองบางพาน แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนา เช่นเดียวกับอดีต ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแผนที่เส้นทางคลองให้แก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๑ เพื่อขุดลอกนำน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนา ตามที่ราษฎรบริเวณนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ทรงทราบในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๑ แนวคลองดังกล่าว ได้สร้างแล้วเสร็จ ตามโครงการ (พ.ศ. ๒๕๒๔- ๒๕๒๘) สร้างความร่มเย็นแก่พสกนิกรในอาณาบริเวณนั้น ที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง พระมหากรุณาธิคุณ ที่พระราชทานความร่มเย็นแก่พสกนิกรดังกล่าว เป็นผลจากพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ ทรงใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และแผนที่ ศึกษาแนวคลอง และพระราชทานพระราชดำริ ให้สร้างคลองตามตำแหน่ง และวิธีการ เช่นเดียวกับอดีต ซึ่งเป็นการอนุรักษ์แนวคลองชลประทานโบราณสมัยสุโขทัยนี้ไว้ เป็นการเริ่มต้น และเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ และพัฒนาร่องรอยในอดีต ให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบต่อไป และช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ปวงประชาของพระองค์ได้ในเวลาเดียวกัน |