แหล่งชุมชนโบราณ บริเวณบ้านเมืองสรวง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด บารายใหญ่มีชุมชนส่วนใหญ่อยู่บนเนินด้านใต้ที่ บ.ใต้บ้านโคกขามอ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนกั้นน้ำห้วยตะแบก บ้านหนองไผ่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ | แหล่งชุมชนโบราณ ในภาพถ่ายทางอากาศ คูคันดินขุดล้อมรอบบริเวณ ตลอดจนสระน้ำ เป็นหลักฐานที่จะชี้บอกบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณได้อย่างดี และเป็นที่เข้าใจว่า ผู้คนสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ภายในบริเวณที่ขุดคูคันดินล้อมรอบ หรือขยายเขตออกมาภายนอกใกล้เคียงกับคูคันดินเหล่านั้น บางแห่งสร้างชุมชนอยู่ภายนอก และใช้บริเวณคูคันดินล้อมรอบ เพื่อป้องกันตัวจากภัยสงคราม ส่วนบริเวณที่เป็นสระน้ำใหญ่ เรียกว่า บาราย เป็นบริเวณกักเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ การตั้งถิ่นฐานจะเลือกสร้างบนภูมิประเทศที่มีลักษณะเหมาะสม ไม่ไกลไปจากแหล่งน้ำนี้ การสำรวจแหล่งชุมชนโบราณโดยภาพถ่ายทางอากาส ได้อาศัยศึกษาจากร่องรอยคูคันดิน และบาราย ชุมชนโบราณบางแห่งมีแต่เพียงคูคันดิน หรือมีเพียงบารายอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางแหล่งก็พบหลักฐานทั้งคูคันดินล้อมรอบ และบารายอยู่ด้วยกัน ร่องรอยที่เป็นคูคันดิน กำแพงเมืองล้อมรอบบริเวณ หรือร่องรอยที่เป็นสระน้ำ บาราย คลอง เขื่อน หรือร่องรอยที่เป็นถนน จะปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศ หรือในภาพจากดาวเทียม มีลักษณะเป็นภูมิประเทศแบบที่คนทำขึ้น แตกต่างไปจากสภาพเดิมตามธรรมชาติของบริเวณที่พบร่องรอยเหล่านั้น โดยที่ภูมิประเทศเดิมจะถูกเปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้ประโยชน์ ด้วยการขุดให้ลึกลงไป หรือถมให้สูงขึ้น เป็นรูปร่างต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ตามลักษณะของการใช้ประโยชน์นั้นๆ เช่น การขุดคูคลอง จะมีลักษณะเป็นร่องลึก ดินที่ขุดขึ้นมาจะถมไว้เป็นคันดินกั้นน้ำ บางแห่งมีคันดินด้านเดียว เพื่อเปิดรับน้ำเพียงด้านใดด้านหนึ่ง บางแห่งมีคันดินสองด้าน เพื่อบังคับน้ำให้อยู่ภายในแนวคูคลอง เป็นต้น การศึกษาการใช้ประโยชน์ร่องรอยภูมิประเทศที่คนทำขึ้น จึงต้องพิจารณาจากสภาพและรูปร่างที่เห็น ซึ่งจะศึกษาได้ ทั้งรูปร่างตามแผนผัง และรูปร่างที่เห็นเป็นภาพสามมิติ คือ จะเห็นรูปร่างทรวดทรงที่อยู่สูงขึ้นมา หรืออยู่ลึกลงไป และพิจารณาร่วมไปกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ระดับความสูง ดังเช่น การที่จะพิจารณารูปร่างว่า เป็นคลองที่ขุดขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาร่องรอยของแนวคลองให้รู้ถึงตำแหน่งที่มาของน้ำ และการนำน้ำไปใช้ ตลอดจนจะต้องศึกษาถึงระดับสูงต่ำ และลักษณะลาดเอียงตลอดแนวคลอง เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการไหลของน้ำ ที่สามารถจะไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งจะแตกต่างไปจากคันดิน ที่ขุดถมให้สูงขึ้นเป็นถนน ที่ไม่จำเป็นจะต้องรักษาระดับ เพราะตลอดแนวถนนจะสูงต่ำอย่างไรก็ได้ การขุดสระน้ำ หรือบาราย ก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างกันตามลักษณะของการกักเก็บน้ำ เช่น สระน้ำที่อาศัยแต่เฉพาะน้ำซึมจากใต้ดิน จะพบว่า มีคันดินขุดล้อมรอบ ไม่มีทางรับน้ำจากภายนอก สำหรับสระน้ำที่ใช้กักเก็บน้ำไหลบนพื้นดิน ซึ่งมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ พบว่า มีคันดินล้อมรอบ และมีช่องทางระบายน้ำเข้า และทางให้น้ำไหลออก บางแห่งขุดเป็นสระลึกตลอดทั้งบริเวณ บางแห่งจะขุดเป็นร่องเฉพาะขอบบริเวณ เพื่อนำดินขึ้นมาถมให้เป็นคันดินสูง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำ และรักษาระดับไว้ให้สูง สามารถปล่อยน้ำไปใช้ โดยให้ไหลไปเองตามธรรมชาติ แหล่งเก็บน้ำที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ และมีการกักเก็บน้ำ โดยอาศัยน้ำไหลบนพื้นดินนี้เรียกกันว่า "บา ราย" ร่องรอยที่เป็นคันดินสูงขึ้นมาจากสภาพ ภูมิประเทศทั่วไป และที่เป็นร่องหรือเป็นสระลึกลง ไป ภายหลังจากที่สร้างขึ้นแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ฝนที่ตกลงมา มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก ส่วนที่เป็นคันดินจะถูกน้ำกัดเซาะให้ต่ำลง บริเวณที่เป็นคูหรือสระน้ำ ก็จะมีตะกอนมาทับถมจนตื้นเขินในที่สุด อย่างไรก็ตามร่องรอยเหล่านี้จะยังคงสภาพให้เห็นเป็นหลักฐานใน ภูมิประเทศ และเห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศ แตกต่างไปจากสภาพภูมิประเทศที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ |