ผลกระทบของสารมลพิษที่มีต่อพืช
สิ่งมีชีวิตเช่นพืชก็ได้รับผลจากมลพิษทางอากาศได้ ๒ ลักษณะเช่นกันคือ เฉียบพลัน และเรื้อรัง ในลักษณะหลัง อาจจำแนกอาการของโรคพืชออกจากสาเหตุอื่นๆ ได้ยาก สารมลพิษเข้าสู่พืชทางรูใบ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้หายใจ อาการจะปรากฎอย่างเห็นได้ชัดที่ใบ และขึ้นอยู่ในอากาศมีสารมลพิษ เช่น ก๊าซโอโซน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์มาก ผลฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นคือ ใบยุบ และเกิดลายเหี่ยวแห้ง โดยเฉพาะส่วนขอบหรือยอด แต่ในชั้นแรกอาจจะบวมน้ำ หรือช้ำเสียก่อน เม็ดสีของพืชใบเขียวคือ คลอโรฟีลล์ เป็นอีกส่วน ซึ่งได้รับผล สีใบจึงซีดจางลง คล้ายคลึงกับอาการที่พืชขาดอาหาร และมีลักษณะแบบเดียวกับคนเป็นโรคโลหิตจาง เมื่อใบซีดลง อาจเกิดสีอื่นๆ ขึ้น ในระยะยาวพืชไม่เติบโต และการแตกตาชะงักงัน อาการนี้อาจปรากฏให้เห็นในรูปใบหรือก้านยาวขึ้น หรือใบงอและร่วง เป็นต้น
ภาพแสดงส่วนประกอบของพืชและภาพขยายส่วนต่าง ๆของพืช ถ้าสารมลพิษเข้าสู่พืชอาการจะปรากฏชัดที่ใบ
ฝุ่นละอองในอากาศจะตกลงจับเกรอะกรังบนส่วนต่างๆ ของพืชโดยเฉพาะใบ ดังนั้นพืชจึงหายใจได้อย่างจำกัด เป็นผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง แต่กลับสะสมความร้อนไว้ภายในมากขึ้น จึงมีส่วนเร่งรัด หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของพืชก็ได้ แล้วแต่กรณี หากฝุ่นนั้นมีสารพิษปะปนอยู่ เช่น โลหะหนัก หรือปูนซีเมนต์ พืชจะได้รับพิษเพิ่มจากสารต่างๆ นั้นอีกด้วย