แหล่งกำเนิด
จากการสำรวจแหล่งพันธุกรรมของข้าวสาลี และการขุดซากพืชจากชุมชนโบราณ ทำให้ทราบว่า แหล่งกำเนิดของข้าวสาลีอยู่ในเขตเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอิหร่าน อิรัก ตรุกี ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล และจอร์แดน ข้าวสาลีที่เป็นพันธุ์ป่านั้น มีลักษณะของเมล็ดและรวงที่สามารถแพร่พันธุ์ไปได้เอง คือเมล็ดมีเปลือกหุ้มและรวงเปราะ เมื่อข้าวสุกเต็มที่ ส่วนพันธุ์ปลูกที่เกิดจากการคัดเลือกของมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่มีลักษณะไม่ติดเปลือกและก้านรวงเหนียว ไม่หักออกจากกันเมื่อแก่
ข้าวสาลีที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น อาจแบ่งออกเป็นพวกๆ ได้ตามจำนวนโครโมโซมของพืช ได้แก่พวก
ก. ดิพพลอยด์ (diploid) มีโครโมโซม ๗ คู่ข. เตตราพลอยด์ (tetraploid) มีโครโมโซม ๑๔ คู่ค. เฮกศาพลอยด์ (hexaploid) มีโครโมโซม ๒๑ คู่ ข้าวสาลีพันธุ์ที่โบราณที่สุดเป็นพวกดิพพลอยด์ มนุษย์ใช้เป็นอาหาร เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยมีการค้นพบซากเมล็ดข้าวสาลีชนิดนี้ ในเขตซีเรียเหนือ ซึ่งเป็นพวกมีลักษณะรวงเปราะ และเมล็ดติดเปลือก มนุษย์คงเก็บข้าวสาลีพวกนี้จากที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ระยะต่อมา (ประมาณ ๙,๐๐๐ - ๙,๕๐๐ ปีมาแล้ว) ได้มีการปลูกข้าวสาลีดิพพลอยด์ที่มีลักษณะดีขึ้นกว่าเดิม คือ เมล็ดติดเปลือก และก้านรวงเหนียว ข้าวสาลีชนิดนี้ได้แพร่กระจายออกไปยังแหลมบอลข่าน ลุ่มแม่น้ำดานูบ และลุ่มแม่น้ำไรน์ ครั้งถึงยุดสัมฤทธิ์และยุคเหล็กตอนต้น ข้าวสาลีชนิดนี้ได้แพร่หลายไปในยุโรปและตะวันออกใกล้
ในยุคต่อมา ข้าวสาลีในธรรมชาติได้มีวิวัฒนาการไปเป็นพวกเตตาพลอยด์ โดยในขั้นแรกเป็นพวกเมล็ดติดเปลือก และรวงเปราะ แล้วกลายเป็นชนิดเมล็ดติดเปลือก แต่ก้านรวงเหนียว ข้าวสาลีชนิดนี้แพร่หลายไปกว้างขวางมากพบว่า มีปลูกในอิรัก เมื่อ ๘,๐๐๐ ปีก่อน และขยายไปสู่อียิปต์ ยุโรป เอเซียกลาง และอินเดีย เมื่อ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว และมีปลูกในเอธิโอเปียเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน ได้เกิดข้าวสาลีชนิด เตตราพลอยด์ ซึ่งเมล็ดไม่ติดเปลือก
ข้าวสาลีชนิดที่เกิดขึ้นล่าสุดในวิวัฒนาการนั้น เป็นพวกเฮกซาพลอยด์ ซึ่งได้มีการขุดค้นพบซากข้าวสาลีชนิดนี้ในซีเรีย เมื่อ ๙,๐๐๐ ปีมาแล้ว ข้าวสาลีชนิดนี้มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีกว่า พวกดิพพลอยด์และเตตราพลอยด์จึงมีการปลูกแพร่หลายในส่วนต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน