แหล่งปลูกและผลิตผล
ข้าวสาลีมีปลูกอยู่ทั่วโลก แต่เราอาจแบ่งแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญออกเป็นเขตได้ดังนี้คือ
๑. เขตประเทศรัสเชีย
๒. เขตประเทศในทวียุโรป
๓. เขตทวีปอเมริกาเหนือ
๔. เขตทวีปอเมริกาใต้
๕. เขตตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย
๖. เขตภาคเหนือและภาคกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน
๗. เขตภาคเหนือของประเทศปากีสถานและอินเดีย
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓-๓๔ พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวสาลีทั้งโลกมี ๑,๔๔๖ ล้านไร่ ได้ผลิตผลรวม ๕๘๗ ล้านตัน ผลิตผลเฉลี่ย ๔๐๖ กิโลกรัม/ไร่ ประเทศไทยปลูกข้าวสาลีประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ ได้ผลิตผลรวมประมาณ ๕๖๐ ตัน
ขั้นตอนการผลิตขนมปังในสมัยอียิปต์โบราณ ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
การบริโภคข้าวสาลี
ปริมาณการบริโภคอาหารของคนชาติใดชาติหนึ่งนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ดินฟ้าอากาศ การศึกษา จำนวนพลเมือง ความสามารถในการผลติ และวัฒนธรรม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักของคนไทย คือ ข้าว รองลงไป ได้แก่ ข้าวสาลี และข้าวโพด คนไทยแต่ละคนบริโภคข้าวประมาณปีละ ๑๖๓ กิโลกรัม ส่วนข้าวสาลีนั้นได้เพิ่มจากปีละ ๑.๒ กิโลกรัม ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นปีละ ๖.๐ กิโลกรัมใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ส่วนข้าวโพดนั้นบริโภคประมาณปีละ ๑ กิโลกรัม
ข้าวและข้าวโพดนั้น เราผลิตได้มากพอ จนถึงขนาดส่งเป็นสินค้าออกได้ ส่วนข้าวสาลีนั้น เรายังผลิตได้ไม่เพียงพอ และต้องสั่งซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ ปีละเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการนำเข้า ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ประเทศไทยนำเข้า ๑๕๗,๐๐๐ ตัน มูลค่า ๗๑๘ ล้านบาท ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๖,๐๐๐ ตัน มูลค่า ๑,๙๖๔ ล้านบาท