พฤกษศาสตร์ของข้าวสาลี
ข้าวสาลีเป็นธัญพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในตระกูลหญ้า (Family Gramineae) พืชในตระกูลนี้ มนุษย์นำมาปลูก เพื่อใช้เมล็ด สำหรับคนหรือสัตว์กินเป็นอาหาร การใช้เมล็ดเป็นอาหารสำหรับมนุษย์นี้ ก็ด้วยการนำเมล็ดมาทำให้สุกด้วยวิธีต่างๆ เช่น คั่ว อบ ทอด ต้ม นึ่ง หรือนำเมล็ด มาแปรรูปให้เป็นแป้งเสียก่อน แล้วจึงทำให้สุก ก่อนบริโภค ฟางธัญพืชใช้เลี้ยงสัตว์ หรือใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ธัญพืชเป็นพืชมีอายุจากปลูก จนถึงเก็บเกี่ยว ไม่เกินหนึ่งปี (พืชล้มลุก) ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอต ข้าวไรย์ และทริทิเคลี (triticale) คือ พืชลูกผสมระหว่างข้าวสาลีกับข้าวไรย์
ธัญพืชเมืองหนาว หมายถึง ธัญพืชที่สามารถปรับตัวได้ดีในภูมิประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรไปทางเหนือหรือใต้ มีอากาศหนาวเย็นกว่าประเทศในเขตร้อน ซึ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร
ข้าวบาร์เลย์
โครโมโซมของข้าวสาลีนั้น แบ่งออกได้เป็นชุด จำนวนโครโมโซมในหนึ่งชุดเท่ากับเจ็ด ข้าวสาลีที่เป็นดิพพลอยด์ มีจำนวนโครโมโซม ทั้งหมด ๑๔ แท่ง คือ ๒ ชุด หรือ ๗ คู่ ข้าวสาลีที่เป็นเตตราพลอยด์มีจำนวนโครโมโซม ทั้งหมด ๒๘ แท่ง คือ ๔ ชุด หรือ ๑๔ คู่ ส่วนข้าวสาลีที่เป็นเฮกซาพลอยด์มีจำนวนโครโมโซม ทั้งหมด ๔๒ แท่ง คือ ๖ ชุด หรือ ๒๑ คู่ ต้นตระกูลของข้าวสาลีที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นข้าวสาลีป่าชนิดดิพพลอยด์ ข้าวสาลีป่ามีอยู่หลายชนิด ข้าวสาลีป่าแต่ละชนิดมีชุดโครโมโซมไม่เหมือนกัน วิวัฒนาการของพืช ทำให้เราได้ข้าวสาลีพันธุ์ปลูกชนิดเตตราพลอยด์ และเฮกซาพลอยด์หลายชนิด ข้าวสาลีกลุ่มที่เป็นเตตราพลอยด์เกิดขึ้นมาได้ดังนี้ แรกทีเดียว เกิดการผสมพันธุ์กันระหว่างข้าวสาลีชนิดดิพพลอยด์ ที่มีโครโมโซมต่างชุดกัน เช่น AA ผสมกับ BB (ชุด A และชุด B มีโครโมโซมชุดละ ๗ แท่ง) ลูกของข้าวสาลีที่เกิดจากการผสมพันธุ์จะมีเลือด AB ซึ่งถ้าเกิดการเพิ่มโครโมโซมขึ้นมาอีกเท่าตัว โดยธรรมชาติจะได้ข้าวสาลีจำพวกเตตราพลอยด์ ซึ่งมีชุดโครโมโซมจำนวน ๔ ชุด คือ AABB
ข้าวสาลีดูรัมหรือข้าวสาลีมะกะโรนี
ส่วนข้าวสาลีชนิดเฮกซาพลอยด์นั้น เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง ข้าวสาลีชนิดเตตราพลอยด์กับข้าวสาลีชนิดดิพพลอยด์อีกชนิดหนึ่ง คือ AABB ผสมกับ DD ลูกของข้าวสาลีที่เกิดจากการผสมพันธุ์จะมีเลือด ABD ซึ่งถ้าเกิดการเพิ่มโครโมโซมขึ้นมาอีกเท่าตัวโดยธรรมชาติ จะได้ข้าวสาลีจำพวกเฮกซาพลอยด์ ซึ่งมีชุดโครโมโซมจำนวน ๖ ชุด คือ AABBDD
ข้าวสาลีดูรัม (รวงสั้น)
ข้าวสาลีขนมปัง (รวงยาว)
ธัญพืชเมืองหนาวในจำพวกข้าวสาลีที่นำมาปลูกในประเทศไทย มีดังนี้ คือ
๑) ข้าวสาลีดูรัม (durum wheat) หรือข้าวสาลีมะกะโรนี (macaroni wheat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Triticum durum มีจำนวนโครโมโซม ๔ ชุด
๒) ข้าวสาลีขนมปัง (bread wheat หรือ common wheat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Triticum aestivum มีจำนวนโครโมโซม ๖ ชุด
๓) ทริทิเคลี (triticale) เป็นธัญพืชลูกผสมระหว่างข้าวสาลี (Triticum aestivum) กับ ข้าวไรย์ (Secale cereale) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า X Triticosecale พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นพวกมีจำนวน โครโมโซม ๖ ชุด