การเลือกพื้นที่
สภาพดิน
ข้าวสาลีขึ้นได้ในดินร่วนเหนียวถึงร่วนทราย ที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ตั้งแต่ ๕.๕-๘.๕ เราอาจแบ่งระดับความเหมาะสมของดินที่ใช้ปลูกข้าวสาลีได้ดังนี้
ดินที่จัดการได้ง่าย
เนื้อดินเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว มีอินทรียวัตถุปานกลางถึงค่อนข้างสูงประมาณ ๑.๕-๒% การระบายน้ำดี ความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงค่อนข้างสูง ความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง ๖.๕-๗.๐ ส่วนมากจะเป็นดินที่อยู่ใกล้น้ำ ความชื้นค่อนข้างดี ดินมีการระบายน้ำดี ความลาดเทของพื้นที่ไม่มากนัก (๒-๓%)
ดินที่มีความเหมาะสมปานกลาง
เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว มีปริมาณอินทรียวัตถุในดินต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เป็นดินไร่ที่ใช้สำหรับปลูกพืชไร่ทั่วไป มีความสามารถในการอุ้มความชื้นได้ปานกลาง พื้นที่นี้มักพบปัญหาการขาดน้ำในช่วงปลายฤดูปลูก
ดินที่ต้องการจัดการมาก
เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง จนถึงดินเหนียวปนทรายแป้ง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีการระบายน้ำเลว หากจะนำมาใช้เพาะปลูกข้าวสาลี จะต้องยกแปลงทำร่องระบายน้ำ และใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตด้วย การลงทุนในพื้นที่นี้จะสูง
เมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีชนิดต่างๆ
การปรับความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน
ตรวจค่า pH ของดินก่อนปลูก ถ้าได้ต่ำกว่า ๕.๕ ต้องปรับสภาพของดินให้พ้นจากความเป็นกรด โดยเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
ก. ใช้ปูนเผา (burned limestone)
คือ ปูนเผาที่เพิ่งออกจากเตา อยู่ในสภาพแคลเซียมออกไซด์ (CaO) ทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ ใส่ใน อัตรา ๗๐-๑๐๐ กิโลกรัม/ไร่
ข. ใช้ปูนขาว (lime)
คือ ปูนขาวก่อสร้าง อยู่ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO(v3)) ใส่ในอัตรา ๑๐๐-๒๐๐ กิโลกรัม/ไร่
การบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ใช้ปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก (เช่น ปุ๋ย กทม. เบอร์ ๒) หว่าน ลงไปบนดิน หรือโรยลงบนร่องปลูก หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ในอัตรา ๑ ตัน/ไร่ นอกจากนี้ ยังอาจปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น โสน ปอเทือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วมะแฮะ เป็นพืชหมุนเวียน เพื่อบำรุงดินด้วย
หัวข้อก่อนหน้า