เล่มที่ 21
เครื่องถม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

เครื่องถมของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง

ซึ่งรัชกาลที่ ๖โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น

เครื่อง ถมไทยในปัจจุบัน

            อุตสาหกรรมเครื่อง ถมในกรุงเทพฯ นั้น แม้จะมีการส่งเสริมโดยให้มีการสอนที่โรงเรียนเพาะช่างอยู่ระยะหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏว่า ได้เป็นอุตสาหกรรมอันแพร่หลายไป ในท้องตลาดมากนัก ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะ เครื่องถมเป็นของที่มีค่า และมีราคาสูง จึงใช้กันอยู่แต่ภายในราชสำนัก และในวงผู้มีฐานะดีเท่านั้น ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีผู้ทำเครื่องถมอยู่ ๓-๔ ราย โดยใช้ช่างถมผู้มีฝีมือ ที่ไปจากนครศรีธรรมราช แหล่งช่างถมที่มีฝีมืออีก แห่งหนึ่งก็ได้แก่ โรงเรียนเพาะช่าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่าง ทำสิ่งของอันเป็นเครื่องถม สำหรับพระราชทานแก่พระมหากษัตริย์ และบุคคลสำคัญในต่างประเทศ

            ส่วนการค้าเครื่องถมกับต่างประเทศในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะการคมนาคมติดต่อกับต่างประเทศยังไม่กว้างขวาง ภายหลังที่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้ รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ในกรุงเทพฯ ได้มีผู้ที่เป็นนักธุรกิจและผู้ที่เป็น ช่างถมที่มีฝีมือ ล้วนแต่เป็นชาวนครศรีธรรมราช รวมกัน ๕-๖ คน เข้าทำกิจการอุตสาหกรรม เครื่องถมใช้ชื่อว่า "ไทย นคร" กิจการได้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โรงงานของไทยนครมีช่างฝีมือ ปฏิบัติการในการทำเครื่องเงิน เครื่องถมไทยนี้ปริมาณ ๑๐๐ คน ในปัจจุบัน

            อุตสาหกรรมเครื่องถมได้เจริญขึ้น และโดยที่การคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศสะดวก กว้างขวางขึ้น เครื่องถมไทยจึงเป็นศิลปหัตถกรรมอย่างหนึ่ง ที่เชิดหน้าชูตาศิลปะ และวัฒนธรรมของไทย ส่งออกไปขายต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวนิยมซื้อมากขึ้น

            การส่งเครื่องถมออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ต้องนับว่า ห้างไทยนครเป็นรายแรก ที่ทำการบุกเบิกตลาดเครื่องถม ในต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และนายสมจิตต์ เที่ยงธรรม เจ้าของร้านไทยนครเป็นผู้บุกเบิกใน การส่งเครื่องถมไปให้กรมวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ เพื่อทราบคุณภาพของเนื้อเงินก่อนที่ส่งออกไป จำหน่ายต่างประเทศ ต่อมาก็มีร้านสินค้าไทยซึ่ง มีชื่อเป็นภาษาจีน ๒-๓ ร้าน ร้านค้าของแขกร้าน หนึ่ง และร้านนารายณ์ภัณฑ์ ของกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็น ในเรื่องนี้ และด้วยความพยายามของสมาคม เครื่องเงินและเครื่องถมไทย ได้เคยขอร้องให้ทาง ราชการควบคุมมาตรฐานเครื่องเงินไทย ต่อมา ทางราชการโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศใช้ บังคับซึ่งมาตรฐานเครื่องเงินไทย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ราชการได้จัดตั้ง สำนักงานมาตรฐานตรวจสอบสินค้าเครื่อง เงินไทยขึ้น ทำการตรวจสอบมาตรฐานเครื่องเงิน ไทยและเครื่องถม ก่อนที่จะอนุญาตให้พ่อค้า ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นเหตุให้ เครื่องเงินไทยและเครื่องถมได้มาตรฐาน และได้ รับความนิยมจากต่างประเทศยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สถิติการส่งออกเครื่องเงินและเครื่องถมไป จำหน่ายยังต่างประเทศใน พ.ศ. ๒๕๑๓ มี น้ำหนัก ๓,๓๕๗ กิโลกรัม มูลค่าประมาณ ๑๐,๐๘๑,๓๐๑ บาท และเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ สถิติส่งออกสูงถึง ๙,๖๖๙ กิโลกรัม โดยมีมูลค่า ๓๒๖ ล้านบาทเศษ

            สถิติการส่งออก ข้อมูลจากกองตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเครื่องเงิน และเครื่องถม ได้มาเมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งได้แยกการส่งออกเฉพาะเครื่องถมไว้ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๒ -๒๕๓๖ ดังนี้ พ.ศ. ๒๕๓๒ เครื่องถมน้ำหนัก ๑๘.๕๖๕๔ กิโลกรัม มูลค่า ๒๐๙,๔๔๘ บาท พ.ศ. ๒๕๓๓ น้ำหนัก ๗๙๙.๙๐๓๒ กิโลกรัม มูลค่า ๑๕,๐๐๘,๖๑๘ บาท ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุด

            ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๗ กระทรวงพาณิชย์ประกาศยกเลิกใช้บังคับ ซึ่งมาตรฐานเครื่องเงิน และเครื่องถมไทย เพราะไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ และเพื่อส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้น โดยให้ผู้ผลิตเครื่องถมส่งออกได้ โดยเสรี

            เครื่องถมไทยปัจจุบันที่ผู้ผลิตรักษาคุณภาพของเนื้อเงิน เป็นศิลปอุตสาหกรรมส่งออก ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านกรรมวิธี และการผลิต และทางด้านสถิติการจำหน่าย

            วันดี หุตะสิงห หัวหน้าศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เขียนบทความเรื่อง "มา รักเครื่องถมไทยกันเถอะ" มีความเห็นสรุปว่า

            "ความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรม เครื่องถมไทยนั้น จะอยู่ในความนิยมของผู้ใช้เพียงใด ย่อมอยู่ที่ความสำคัญของผู้ผลิต โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบรูปทรง มีความคิดเห็นว่า ทางสมาคมเครื่องถม น่าจะมีอะไรๆ ที่ดูแปลก และดูใหม่ขึ้นอีก คือ หมายความว่า น่าจะริเริ่มทำเครื่องถมในแบบใหม่ดูบ้าง ซึ่งแบบเก่าก็ทำไป ตามเดิม แต่แบบใหม่ก็น่าจะลองทำขึ้นอีก เป็นต้น ว่า อาจจะลงถมแบบเกลี้ยงๆ โดยไม่ต้องมี ลวดลายดูบ้าง แต่ออกแบบรูปทรงให้ดูสมัย ใหม่ขึ้น ง่ายขึ้น หรืออาจจะใช้เครื่องถมที่มีอยู่ แล้วอย่างเช่นกระดิ่งเล็กๆ รูปกลมเล็กๆ ลงถมที่ มีลวดลาย หรือไม่มีลวดลายใส่ลงไปในก้อนแก้ว เช่นที่ทับกระดาษของญี่ปุ่นที่มีไข่มุกอยู่ข้างใน ซึ่งพอเรามองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นของญี่ปุ่น ดูจะเป็นของใหม่ขึ้น สำหรับชาวไทย และชาวต่างประเทศ ส่วนเรื่องลายไทยนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องใช้ลายไทยแท้ๆ เราอาจใช้แบบรูปทรงที่ดีๆ แล้วลงลวดลายไทย ที่ทำให้ดูสมัยใหม่ขึ้น ง่ายขึ้น แต่คงลักษณะไทยๆ ไว้ หรือคงลวดลายไทยแท้ๆ แต่ลงเพียงนิดหน่อย แล้วปล่อยเนื้อเงินทิ้งไว้ เกลี้ยงๆ หรือทำเทกสเจอร์ (พื้น) ให้ดูขรุขระ โดยไม่ต้องใส่กรอบที่เป็นเส้น หรือกรอบลาย ไทยอีกเลย"