เครื่องมือที่ใช้ขึ้นรูปในการทำถม | กรรมวิธีการทำเครื่องถมไทยในปัจจุบัน เครื่องถมเป็นงาน ช่างศิลปหัตถกรรม ในปัจจุบันมีกรรมวิธีทำสองวิธี คือ ๑. วิธีทำแบบโบราณ ทำด้วยมือล้วน ๒. วิธีทำแบบสมัยใหม่ใช้เครื่องมือทาง วิทยาศาสตร์ช่วย ขั้นตอนการผลิตเครื่องถมไทย ขั้นแรก การทำน้ำยาถม สำหรับน้ำยาถม มีวิธีทำคือ ขั้นแรกช่างถมจะต้องหลอมน้ำยา หรือที่ช่างถมเรียกกันว่า "กุม น้ำยา" ขึ้นก่อน ตัวยาถมมีส่วนผสมของโลหะ ๓ ชนิด คือ ทองแดงบริสุทธิ์ ๑ ตะกั่วอย่างดี ๑ และเงินแท้อีก ๑ นำโลหะทั้ง ๓ อย่างมาผสมกันตามส่วน ใส่ในเบ้าหม้อที่มีฝาปิด ใส่ในเตาสูบ หลอมจนเนื้อโลหะผสมเข้ากันดี คือ ละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ความร้อนประมาณ ๓ องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง อัตราส่วนผสม และเวลาที่หลอมของช่างแต่ละคน จะแตกต่างไปตามสูตรลับ ที่เป็นมรดกตกทอด หรือได้จากตำราโบราณที่จะต้องตีความหมายเอาเอง เช่น "วัว ๕ ม้า ๖ บริสุทธิ์ ๔ ผสมกันแล้วซัดด้วยกำมะถัน ได้ยาถมแล" เมื่อใช้เวลาหลอมพอสมควร แล้วเปิดฝาเบ้า ซัดด้วยน้ำกำมะถันเหลือง จนเห็นว่าน้ำยาขึ้นสีดำใส มีคุณสมบัติพิเศษ ไม่มีฟอง ไม่มีฝ้า แล้วจึงเทลงในเบ้าจาน ทิ้งไว้จนแห้ง รอการนำไปถมต่อไป ยาถมมีลักษณะแข็งสีดำเป็นนิลขึ้นเงามันเคลือบสีน้ำเงินอ่อนๆ เนื้อคล้ายโลหะชนิดหนึ่ง แต่ทุบบดให้ละเอียดเป็นผงได้ ทำเป็นแท่งๆ ไว้ ตามแท่งมีร่องยาวๆ ไม่ขาดตอน จึงนับว่าเป็นยาถมที่ดี มีจุดหลอมต่ำกว่าจุดหลอมตัวของเงินหรือทองแท่ง ยาถมนี้เมื่อเวลาจะใช้ต้องนำมาบดทุบให้ละเอียดก่อน แล้วคลุกด้วยน้ำประสานทอง จนเป็นน้ำยาถมสำหรับนำไปลงถม ขั้นที่ ๒ การทำรูปพรรณ การทำรูปพรรณ คือ การนำแผ่นเงินมาทำเป็นรูปร่างตามต้องการ อาจเป็นภาชนะ เช่น ขันน้ำ พานใส่ของ หรือเครื่องประดับ เช่น กำไล เข็มกลัด ทรวดทรงจะงดงามเพียงไร อยู่ที่ฝีมือของช่างผู้ออกแบบให้เป็นรูปร่างอย่างไร ขั้นที่ ๓ การแกะสลักลวดลาย ๓.๑ การแกะสลักลวดลาย เริ่มด้วยการใช้หมึกจีนเขียนลวดลายลงบนพื้นเงิน แล้วแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ให้อ่อนช้อยงดงาม ๓.๒ การทำถม ได้แก่ การลงยาถมลงไปบนพื้นที่เป็นร่องหรือราบต่ำ สีดำมันของยาถมที่ข้น ทำให้ลวดลายเด่นงามตระการตา มีรายละเอียดที่ช่างถมนครศรีธรรมราช ยึดถือปฏิบัติดังนี้ ขั้นที่ ๑ ขั้นผสมโลหะที่จะใช้เป็นพื้นภาชนะ ชั่งเงิน ๙๕ ส่วน ทองแดง ๕ ส่วน สำหรับหลอมเป็นโลหะผสมทำเครื่องถม ขั้นที่ ๒ ขั้นหลอมโลหะ ถ้าเป็นงานขนาดเล็กๆ จะใช้จอกหลอม ถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ ที่โลหะมีน้ำหนักตั้งแต่ ๒๐ บาทขึ้นไป จะใช้เบ้าหลอม ใช้เตาถ่าน หรือใช้เตาไฟฟ้าก็ได้ แต่เตาไฟฟ้าหลอมได้สะดวกกว่า การหลอมจะดีหรือใช้ได้เพียงใดนั้น ใช้วิธีการสังเกตสีของโลหะว่า ละลายผสมเข้ากันดีหรือไม่ ในการหลอมต้องใช้น้ำประสานทองใส่ผสมลงไปในขณะหลอมด้วย และใช้ถ่านไฟคนหรือกวน ถ้าโลหะผสมกันดีแล้ว จะเป็นสีม่วง และผิวเรียบเกลี้ยงเป็นเงามัน แล้วเทลงราง ออกรูปเป็นแผ่นเงิน ขั้นที่ ๓ ขั้นขึ้นรูป การทำโลหะให้เป็นแผ่น ใช้พะเนิน (ค้อนใหญ่) หรือค้อน ทุบแผ่ด้วยแรงคน แล้วนำแผ่นเงินมาดัดหรือตีแผ่ให้เป็นรูปภาชนะต่างๆ หรือรูปพรรณต่างๆ ตามที่ต้องการ ให้มีความหนาพอสมควร ในขั้นนี้ต้องใช้เวลานานมากกว่าขั้นอื่นๆ เพราะโลหะแข็งมาก และใช้มือทำตลอด เครื่องถมนครแท้ จะไม่ใช้เครื่องจักรช่วยเลย ขั้นที่ ๔ ขั้นเขียนลาย เมื่อสร้างรูปพรรณต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็เขียนลวดลายตามต้องการลงไปบนภาชนะ หรือรูปพรรณนั้นๆ (ด้วยหมึกพิเศษ หรือหมึกจีน) หลักการเขียนลวดลายนั้น ใช้วิธีแบ่งส่วนทั้งซ้ายและขวาให้เท่าๆ กัน โดยใช้วงเวียนแบ่งเส้น แบ่งช่วง และแบ่งครึ่ง เขียนไปเรื่อยๆ เช่น แบ่ง ๑ เป็น ๒, แบ่ง ๒ เป็น ๔, แบ่ง ๔ เป็น ๘ ฯลฯ จนได้ลวดลายละเอียดตามความเหมาะสม ขั้นที่ ๕ ขั้นแกะสลักลาย ก่อนแกะสลักลาย ช่างจะทำความสะอาด และแต่งผิวรูปพรรณให้เรียบ แล้วใช้สิ่วแบบต่างๆ สลักลวดลายด้วยมือ ตอกเป็นรอยลึกลงไปตามลวดลายที่เขียนไว้ โดยไม่ให้ผิวโลหะหลุดออกเป็นชิ้น และสลักให้มีรอยนูนดุนออกไปอีกด้านหนึ่ง ส่วนที่สลักลวดลายนี้ เป็นพื้นที่ที่จะถูกเคลือบด้วยยาถมต่อไปจนเต็ม ขั้นที่ ๖ ขั้นเก็บผิวรูปพรรณ ในขั้นสลัก รูปทรง และผิวรูปพรรณ อาจจะมีตำหนิบ้าง เมื่อสลักเสร็จจึงต้องแต่งผิวให้เรียบร้อย แต่งทรงรูปพรรณให้ได้ศูนย์หรือสมดุลเหมือนเดิม จากนั้นก็ทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง โดยขัดด้วยกรดอ่อนๆ ใช้กรดผสมกับน้ำ อัตราส่วน ๑:๔ ต้องขัดส่วนที่จะลงยาถมให้สะอาดเป็นพิเศษ ขัดจนขาวเป็นเงามัน ไม่มีคราบสีน้ำตาลเจือปนอยู่เลย ขั้นที่ ๗ ขั้นลงถม ต้องใช้น้ำยาถมที่เตรียมไว้แล้ว ละลายตัวด้วยความร้อนสูงพอสมควร โดยให้สังเกตว่าน้ำยาถมนั้น มีลักษณะเกือบแดง แล้วใช้น้ำยาถมที่ละลายแล้วนั้น แปะลงไปบนร่องลวดลายที่แกะสลักไว้ น้ำยาถมจะ "แล่น" (วิ่ง) หรือไหลไปตามร่องนั้น จนทั่ว โดยการใช้ไฟ "เป่า แล่น" การลงถมที่ดีนั้น ไม่ได้ลงครั้งเดียว ต้องลงถมถึง ๒-๔ ครั้ง ครั้งแรกลงแต่พอประมาณ ขั้นที่ ๘ ขั้น ตกแต่งถม เมื่อลงยาถมกระจายเต็มลวดลายทั่วทุกส่วนดีแล้ว ก็ทิ้งรูปพรรณนั้นให้เย็น แต่ห้ามนำไปแช่น้ำ เพราะโลหะจะหดตัว และอาจจะแตกได้ หรือถมหลุดออกเป็นชิ้นๆ ได้ เมื่อเย็นดีแล้ว ก็ใช้ตะไบถู หรือใช้เหล็กขูด แต่งยาถมที่ไหลเลอะบนส่วนที่ไม่ต้องการให้มียาถม ออกให้หมด แต่งผิวให้เรียบ ด้วยกระดาษทราย จนกระทั่งเห็นลวดลายหรือภาพปรากฏขึ้นชัดเจนดีหมดทุกส่วน และผิวของส่วนถมจะไม่มีรูพรุน หรือจุดที่เรียกว่า "ตา มด" ต้องมีถมอยู่เต็มสนิท ไม่มีช่องที่จะมองเห็นเนื้อโลหะพื้น ซึ่งเรียกว่า "พื้น ขึ้น" ขั้นที่ ๙ ขั้นปรับแต่งรูปทรง ในขณะที่ลงยาถมนั้น รูปพรรณ หรือภาชนะ ต้องถูกความร้อนสูงเผาอยู่เป็นเวลานานพอสมควร จนกว่าจะเสร็จจากการลงยาถมแต่ละครั้ง ดังนั้นรูปลักษณะของรูปพรรณอาจบิดเบี้ยว คดงอไปจากเดิมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้เมื่อเสร็จจากการลงยาถมแล้ว ต้องมีการปรับแต่งรูปใหม่ ให้มีรูปลักษณะคืนสภาพเดิม ขั้นที่ ๑๐ ขั้นขัดผิวและแกะแร เมื่อปรับแต่งรูปแล้ว พื้นผิวยังคงหยาบกร้านและด้าน ต้องขัดผิวด้วยกระดาษทรายละเอียด และถูด้วยถ่านไม้เนื้ออ่อน จนผิวเกลี้ยง ขัดผิวอีกครั้งด้วยฝ้ายและยาขัดโลหะ ถ่านไม้ที่ใช้ถูเป็นถ่านไม้สุก คล้ายถ่านหุงข้าว แต่เนื้ออ่อน ส่วนมากต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่ถ้าไม่มี ช่างจะใช้ถ่านไม้สนแทน เมื่อเกลี้ยงได้ที่แล้ว ก็ขัดผิวทั่วไปทั้งหมดด้วยเครื่องขัด และยาขัดโลหะอีกครั้งหนึ่ง แล้วล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง หลังจากนั้นถึงขั้นการแกะแรลวดลาย หรือการแรเงาตกแต่งลวดลายให้สวยงาม เพราะลวดลายที่ปรากฏในขั้นที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงภาพโครงสร้างภายนอกเท่านั้น เป็นภาพที่หยาบๆ ไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีรายละเอียดส่วนอื่นๆ ไม่มีเส้นตัดภายใน ให้เป็นลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม จึงต้องเป็นงานฝีมือของ "ช่าง แกะแร" ทำหน้าที่สลักหรือแกะแรส่วนละเอียดของภาพต่างๆ ให้ปรากฏชัดเจนขึ้น ลวดลายจะอ่อนช้อยงดงามหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ และความประณีตของช่างประเภทนี้โดยเฉพาะ ขั้นที่ ๑๑ ขั้นขัดเงา หลังจากแกะแรแล้ว จึงนำรูปพรรณถมเข้าเครื่องขัด ด้วยยาขัดอย่างละเอียด แล้วล้างให้สะอาดเช็ดด้วยผ้านุ่มๆ ทำความสะอาดให้เป็นเงางาม ด้วยฝ้ายขัดเครื่องถม ด้วยยาขัดเงา ขัดด้วยมือ ก็ถือว่าสำเร็จเรียบร้อย ทุกขั้นตอนต่างๆ ของการทำถม ล้วนแต่มีความสำคัญในตัวเองทั้งสิ้น หากช่างถมทำขั้นใดขั้นหนึ่งบกพร่องเสียแล้ว ถมนั้นก็ยากจะดีได้ ทุกขั้นตอนจึงต้องทำอย่างละเอียด ประณีต ใช้ฝีมือสูง เช่น การลงถม เป็นหัวใจของการทำถม พื้นถม ต้องเรียบเป็นเนื้อเดียวกับเงิน ไม่มีรูตามด และไม่โหว่จนพื้นขึ้น การขัดผิว ถูด้วยถ่านนั้น ก็ต้องใช้ถ่านชนิดพิเศษ ที่สั่งจากต่างประเทศ หรือถ้าไม่มี ก็ต้องใช้ถ่านไม้สน ส่วนการแกะแรนั้น เป็นศิลปะสุดยอดของถมไทย ที่ไม่มีที่ใดเหมือน ภาพจะมีชีวิต ลวดลายจะพลิ้วสวยงามยามเคลื่อนไหวหรือไม่ ย่อมอยู่ที่ความชำนาญ และประณีตบรรจงของบรรดาช่างประเภทนี้ เครื่องถมที่ดีเป็นที่นิยมสะสมกันทุกวันนี้ ต้องผลิตด้วยกระบวนการแบบเก่า อาจใช้เทคนิคสมัยใหม่บ้างเพียงเล็กน้อย แต่กรรมวิธีสมัยใหม่ เช่น การหล่อหรือพิมพ์รูป โดยใช้เครื่องปั๊มกด การใช้เครื่องรีดแทนใช้พะเนินหรือค้อนทุบเป็นแผ่น ถือว่า ไม่เป็นงานหัตถกรรม แต่จะนับเป็นอุตสาหกรรมศิลป์ ซึ่งจะผลิตให้ได้จำนวนมาก โดยมีรูปแบบ และลวดลายเดียวกัน เพื่อการจำหน่ายในตลาดที่กว้างกว่าสมัยโบราณ กรรมวิธีการทำเครื่องถมไทยดังกล่าวมานี้ ใช้สำหรับถมเงิน และถมทอง ถ้าเป็นถมเงิน รูปพรรณก็เป็นโลหะเงิน ถ้าเป็นถมทอง รูปพรรณก็เป็นโลหะทองคำ การใช้ทองคำนี้ จะทำให้เครื่องถมมีราคาแพงมาก ไม่ค่อยนิยมทำกัน จึงหาวิธีการทำถมทองด้วยวิธีอื่น คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ลวดลาย ซึ่งเป็นสีเงินนั้น เป็นสีทองได้ วิธีที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อนก็คือ ใช้วิธี เปียกทอง ทาทับลงไปบนเส้นเงิน เพื่อประหยัดเนื้อทองคำให้น้อยลง วิธีนี้การช่างถมเรียกว่า "ตะ ทอง" เครื่องถมที่ทำโดยวิธีที่เรียกว่า "ถม ตะทอง" มีวิธีทำดังนี้ ๑. การเตรียมวัตถุถมตะทอง ใช้วัตถุเงิน ซึ่งขัดไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่แกะแร เตรียมเฉพาะถึงขั้นตอนทำความสะอาดผิวตามกระบวนการของถมเงิน ๒. การเตรียมเนื้อทอง (ทองเปียก) ใช้ทองคำบริสุทธิ์อย่างน้อย ๙๙% กะจำนวนที่จะใช้แต่ละครั้งให้พอดี รีดหรือทุบให้บางที่สุด เท่าที่จะทำได้ หั่นให้เป็นฝอยละเอียด แล้วเอาเข้าเครื่องบดจนเกือบเป็นผงทราย ล้างให้สะอาด เทปรอทบริสุทธิ์ลงไปคลุกเคล้ากับผงทองนี้ในครกหินที่ได้เตรียมไว้ บดกวน จนผงทองกับปรอทละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าได้ที่ดีแล้ว จะมีลักษณะข้น และเหนียว ซึ่งเรียกว่า "ทอง เปียก" เก็บไว้ใช้ในขั้นต่อไป ๓. การทาทองหรือตะทอง นำผลิตภัณฑ์ถมเงินที่เตรียมไว้ในข้อ ๑ มาเช็ดถูให้สะอาด ด้วยน้ำมะกรูด หรือมะนาว ทั้งนี้เพื่อเป็นการขจัดไขมัน และไฝฝ้าต่างๆ บนผิวเงินให้หมดไป เพราะถ้ามีไขมัน หรือไฝฝ้าสกปรกแล้ว เนื้อทองและปรอทจะจับผิวเงินไม่สะดวก ต่อไปใช้สำลีชุบทองเปียกที่เตรียมไว้ ถูทาวัตถุถมเงินนั้น เฉพาะที่ตรงเป็นเส้นเงิน หรือภาพเงินให้ทั่ว แล้วนำวัตถุนั้น ไปตากแดด หรืออบความร้อนอ่อนๆ บนเตาผิง ทิ้งไว้ประมาณ ๖ ชั่วโมง ปรอทซึ่งละลายปนกับเนื้อทองนั้น เมื่อถูกความร้อน ก็ระเหยกลายเป็นไอไปทีละน้อย แล้วก็จะเหลือแต่เนื้อทองจับติดแผ่นบนผิวเงินนั้นอย่างเดียว ทำอยู่เช่นนี้ประมาณ ๓-๔ ครั้ง ครั้งสุดท้ายอบให้ได้ความร้อนสูงกว่าเดิม จนรูปพรรณถมนั้นร้อนจัด (ระวังอย่าให้ร้อนจนเนื้อถมละลาย) เมื่อปรอทระเหยออกหมด เหลือแต่เนื้อทองเคลือบติดแน่นกับเนื้อเงิน ก็เป็นอันเสร็จ ได้เป็นวัตถุถมตะทอง ทางช่างเรียกว่า "การ รมทอง" มองดูเหมือนกับทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ จากนั้นก็นำไปขัดเงา ฟอกผิวด้วยน้ำยาชักเงา เพื่อให้ผิวทองเกลี้ยงและสุกใสขึ้น ถ้าทาทองบนพื้น ที่เป็นเงินทั้งหมด เรียกว่า ถมทอง ถ้าแตะทองเพียงบางส่วนเรียกว่า ถมตะทอง ๔. การสลักหรือเพลาลอย วัตถุถมทอง หรือถมตะทองดังกล่าวมาแล้วนั้น ภาพหรือลวดลายต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ เพราะภาพหรือลวดลายต่างๆ ไม่มีลายเส้น ยังไม่ชัดเจนสวยงาม ช่างจึงต้องใช้ฝีมือสลักลวดลายเพิ่มเดิม ใช้สิ่วสลัก เพื่อให้ปรากฏลายเส้นเป็นส่วนประกอบต่างๆ ตามความเหมาะสมของภาพหรือลวดลายเหล่านั้น วิธีการนี้เรียกว่า "การ สลักหรือเพลาลาย" ก็ตรงกับ "แกะ แร" ในการทำถมเงินนั่นเอง เมื่อเสร็จจากการสลักหรือเพลาลายแล้ว จึงไปทำความสะอาด และชักเงาอีกครั้งหนึ่ง จึงเสร็จขั้นตอน สำหรับการประดิษฐ์เครื่องถมตะทอง โดยเรียบร้อยสมบูรณ์ ถมตะทองนี้ โดยทั่วไปส่วนมากก็เรียกกันว่า ถมทอง ที่จัดอยู่ในชั้นดีนั้น ต้องใช้เนื้อทองบริสุทธิ์ทาเคลือบผิวเงินมากพอสมควร ทั้งต้องใช้ความประณีตมากด้วย ฉะนั้นต้นทุนในการผลิตจึงสูง แต่ก็คุ้มค่า เพราะมีความทนทานมาก เนื้อทองจะเคลือบผิวเงินแน่นอยู่ตลอด ไม่จางหรือหลุดออก แม้จะใช้สอยนานนับร้อยปี ซึ่งต่างกับชุมทอง หรือที่เรียกว่า "กะไหล่" เป็นอันมาก อย่างที่เทียบกันไม่ได้เลย การตะทองดังกล่าวมานี้ เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความชำนาญอย่างมากของบรรดาช่างฝีมือ การสลักหรือเพลาลาย แน่งน้อย ปัญจพรรค์ อธิบายไว้ว่า "การ เพลาลาย คือ การตกแต่งส่วนละเอียดลงบนผิว ด้วยการใช้สิ่วเดินเส้นรูปนอกของลาย ภาษาช่างเรียกว่า เหยียบพื้นให้ยุบลงกว่าลายบนเล็กน้อย" การแกะแร เป็นขั้นเดียวกับการเพลาลาย แต่มีวิธีการต่างกันเล็กน้อย คือ ใช้มีดหรือสิ่วเล็กๆ แกะหรือแรเป็นลวดลาย เมื่อแกะแรได้ที่แล้ว จะมองเห็นร่องลายที่แกะแรไว้ เป็นเงาวิบวับ ในยามสะท้อนแสง หรือเคลื่อนไหว ทำให้ดูมีชีวิตชีวาเป็นอย่างยิ่ง "การเพลาลาย นิยมใช้กับถมทอง แกะแรใช้กับถมเงิน" อาจารย์มนตรี จันทพันธ์ อธิบายว่า "การรักษาเครื่องถม ๑. การล้างเครื่องถม ถ้าเครื่องถมไม่สกปรกมาก จะล้างประจำวัน (ทุกวัน) โดยใช้ลูกประคำดีควาย ขัดล้างด้วยแปรง (ถ้าไม่มีแปรงทอง ใช้แปรงสีฟันใช้แล้ว ที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม) ใช้ได้กับถมทั้ง ๒ ชนิด ถ้าไม่มีลูกประคำดีควาย ใช้น้ำยาล้างจาน ที่มีส่วนผสมของน้ำมะนาว แล้วล้างด้วยน้ำอุ่น เสร็จแล้วเช็ดให้สะอาด ๒. ถ้าเครื่องถมสกปรกมาก ให้ล้างโดยวิธีใช้กรด ๒.๑ ถมทอง ใช้ตะเกียงเป่ารมให้สุก เมื่อเย็นจึงนำไปล้างหัวกรด ปริมาณกรด ๘๐% น้ำ ๒๐% ๒.๒ ถมเงิน เมื่อถมเย็นตัวแล้ว แช่ใน กรดกำมะถันเจือจางประมาณ ๕ นาที แล้วนำมา ขัดด้วยแปรงทองเหลือง" |
บทความและภาพประกอบที่อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นี้ใช้สำหรับเพื่อสนับสนุนการผลิตหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
เป็นการเผยแพร่วิชาการให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยจะนำไปแจกจ่ายให้โรงเรียนทั่วประเทศ และจำนวนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาสมทบทุนในการจัดพิมพ์ต่อไป
ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งนี้มูลนิธิได้รับอนุญาตทั้งบทความและภาพประกอบจากผู้เขียนแล้ว หากมีประเด็นขัดข้องสงสัยในเรื่องลิขสิทธิ์อย่างใด ขอได้โปรดแจ้งให้
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ทราบเพื่อพิจารณาแก้ไขความขัดข้องสงสัยนั้นต่อไป จะเป็นพระคุณยิ่ง
ลิขสิทธิ์เป็นของมูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ห้ามนำข้อความและรูปภาพไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต