เล่มที่ 23
การทำงานใต้น้ำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อันตรายจากการดำน้ำ

            โดยธรรมชาติสรีรสภาพของมนุษย์ไม่สามารถอยู่ใต้น้ำได้ การดำน้ำ ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับแรงกดดัน และผลการเปลี่ยนแปลงทางสรีรสภาพที่ไม่เคยปรากฏในสภาพแวดล้อมปกติ แรงกดดันเหล่านี้สร้างข้อจำกัดที่แน่นอนและอาจเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่ ร้ายแรงได้

            ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอันตรายจากการดำน้ำ ได้แก่ ความลึก ชนิดของงานที่ทำ บริเวณที่ต้องปฏิบัติงาน ขอบเขตของการปฏิบัติงาน และสภาวะลมฟ้าอากาศ

            เมื่อพิจารณาจากระดับความลึกของการดำน้ำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสรีรสภาพ ในร่างกายมนุษย์ แบ่งการดำน้ำออกได้ ๒ ประเภท ได้แก่

            ประเภทน้ำตื้น คือ การดำน้ำที่มีระดับความลึกน้อยกว่า ๓๕ ฟุตน้ำทะเล

ประเภททะเลลึก คือ การดำน้ำที่มีระดับความลึกมากกว่า ๓๕ ฟุตน้ำทะเล

การดำน้ำประเภททะเลลึก

            อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำน้ำ สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

            อันตรายจากความกดดันใต้น้ำ

            ได้แก่ การบาดเจ็บจากความกดดันของอวัยวะต่างๆ หรือการบีบกด โรคเคซองหรือโรคน้ำหีบ หรือโรคน้ำหนีบ

            อันตรายจากการหายใจเอาก๊าซที่มีความดันสูงกว่า ๑ บรรยากาศ

            ได้แก่ ภาวะเมาไนโตรเจน ภาวะพร่องออกซิเจน การเป็นพิษของออกซิเจน ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ
            
            อันตรายจากสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำ

            ได้แก่ การจมน้ำ ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ การติดเชื้อ อันตรายจากพืชและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ

            นอกจากนี้ อาจเกิดอันตรายประเภทอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า การสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน เกิดตะคริว หมดแรง อันตรายจากการขาดการติดต่อกับผู้ควบคุม และ/หรือ ผู้ช่วยเหลือ

            ในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะอันตรายจากความกดดันใต้น้ำ และอันตรายจากการหายใจเอาก๊าซที่มีความดันสูงกว่า ๑ บรรยากาศ


สภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสรีรสภาพในร่างกายมนุษย์