โรคลดความกด หรือโรคเคซอง หรือโรคน้ำหีบ หรือโรคน้ำหนีบ
เป็นโรคที่เกิดจากการเกิดฟองก๊าซในเลือด หรือในเนื้อเยื่อ เมื่อมีการลดความกดดันไม่เพียงพอ หรือไม่ลดความกดดันเลย หลังการดำน้ำลึกมากกว่า ๓๐ ฟุตน้ำทะเล และดำเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ปริมาณของก๊าซเฉื่อย (ยกเว้นก๊าซฮีเลียม) ที่ละลายอยู่ในเนื้อเยื่อและในเลือด ขณะนั้นมีมากเกินกว่าปริมาณปกติ ทำให้เกิดการรวมตัวกันเป็นฟองอากาศกระจายไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะการดำน้ำที่ใช้อุปกรณ์การหายใจใต้น้ำและขวดอากาศที่มีก๊าซไนโตรเจน ผสมอยู่ด้วย เมื่อก๊าซไนโตรเจนมีปริมาณมากกว่าก๊าซชนิดอื่นในอากาศผสม จึงละลายในเลือดและเนื้อเยื่อร่างกายในปริมาณมาก ขณะดำน้ำขึ้นไนโตรเจนที่ละลายอยู่ในร่างกายจะถูกกำจัดออกมา ให้ได้สมดุลกับความกดดันที่ลดลงภายนอกโดยวิธีหายใจออกมาถ้ามีปริมาณเล็กน้อย ร่างกายสามารถกำจัดได้หมด แต่ถ้ามีการลอยตัวขึ้นเร็ว โดยไม่ได้หยุดลดความกดในน้ำเป็นระยะตามตารางลดความกด เพื่อให้ร่างกายมีเวลาขับไนโตรเจนออกมา หรือมีการขจัดก๊าซออกจากร่างกายช้าผิดปกติระหว่างการลดความกด จะทำให้ไม่สามารถขับไนโตรเจนที่ละลายอยู่ออกทางปอดได้ทัน จึงเหลือปริมาณของก๊าซไนโตรเจนอยู่ในภาวะเกินความอิ่มตัวเมื่อความดันอากาศ ลดลง ไนโตรเจน ส่วนนี้จะกลายสภาพเป็นฟองอากาศ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายทั้งส่วนที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เช่น เกิดฟองอากาศที่กล้ามเนื้อข้อต่อจะมีอาการปวด ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมองจะทำให้สลบ หรือเป็นอัมพาต
การเปลี่ยนแปลงปริมาณของก๊าซที่ละลายในเนื้อเยื่อ (ร่างกาย) เลือดและปอด (หายใจ) ขณะลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ
อาการและอาการแสดง
แบ่งเป็น ๒ ชนิด เพื่อสะดวกในการรักษา
ชนิดที่ ๑
อาการมักเริ่มภายใน ๑ ชม.หลังขึ้นจากน้ำ โดยรู้สึกเพลียกว่าปกติหลังจากดำน้ำ มีผื่นคันเป็นผื่นนูนตรงจุดกลางสีม่วงคล้ำปวดแสบปวดร้อน มีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และข้อต่อ เนื่องจากมีฟองอากาศแทรกตามเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เนื้อเยื่อเกิดความบอบช้ำ และฉีกขาด ลักษณะปวดลึกๆ และรบกวน ไม่ปวดมาก มีความรู้สึกวูบวาบ หรือมีอาการชาตามผิวหนัง ขา เท้า มีอาการมึนงง อาการที่พบมากที่สุด คือ อาการปวดข้อไหล่
ชนิดที่ ๒
อาการรุนแรงกว่าชนิดที่ ๑ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะนี้ มีการเกิดฟองอากาศจำนวนมากในอวัยวะสำคัญ ดังนี้
- ไขสันหลัง และเส้นเลือดรอบๆ ฟองไนโตรเจน จะอุดกั้นเส้นเลือดดำประมาณ ๘๐%
- อาการ เสียการรับรู้ อัมพาตครึ่งตัว ปัสสาวะไม่ออก
- สมอง พบได้น้อย เกิดจากปริมาณฟองอากาศมาก แล้วหลุดจากรอยรั่ว หรือรอยฉีกขาดของถุงลมและปอด เข้าสู่เนื้อเยื่อสมอง
- อาการ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปวดศีรษะข้างเดียว คล้ายไมเกรนหมดสติ อัมพาตครึ่งซีก
- ปอด พบน้อย เกิดเนื่องจากปริมาณฟองอากาศมากเกินไป จนปอดกรองไม่ไหว หรือฟองอากาศอุดเส้นเลือดเล็กๆ ที่ถุงลมปอด ทำให้ขัดขวางการแลกเปลี่ยนก๊าซ จึงเกิดอาการนี้ขึ้น มักเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล
- อาการ เจ็บหน้าอก ไอ เหนื่อย หายใจไม่ออก มีเสมหะปนเลือด ช็อก
- หูชั้นใน มีอาการหูหนวก มีเสียงดังหึ่งๆ ภายในหู เวียนศีรษะ ตากระตุก
- กล้ามเนื้อ และข้อต่อ มีอาการปวดแนวสันหลังหรือสะโพก ปวดร้าวกลางหลัง ทั้งสองข้างลำตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ระยะการเกิดอาการ
๕๐% เกิดอาการครึ่งชั่วโมง หลังขึ้นจากน้ำ ๘๕% เกิดอาการภายใน ๖๐ นาที ๙๕% เกิดอาการภายใน ๓ ชม. ๑% เกิดหลัง ๖ ชม. หลังขึ้นจากน้ำ
ปัจจัยเสริม
ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการนี้ง่ายขึ้น ได้แก่ เพศหญิง ความอ้วน อายุมาก ทำงานหนักเกินไป การดื่มเหล้า การอดนอน การบาดเจ็บในส่วนต่างๆ ของร่างกาย การขึ้นที่สูงหลังการดำน้ำลึก และการดำน้ำซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง
การป้องกันที่ดีที่สุด
คือ การปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว