การบาดเจ็บจากการกดดัน หรือการบีบกดของอวัยวะต่างๆ
การบาดเจ็บนี้ เกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถปรับความดันของอากาศภายในโพรงอากาศ หรือช่องอากาศปิดในร่างกายให้เท่ากับความกดดันของน้ำภายนอกได้ เนื่องจากขณะดำน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลงความดันตลอดเวลา จึงเกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจากมีการทำลายเนื้อเยื่อรอบโพรงอากาศ หรือช่องอากาศปิดภายในร่างกาย สาเหตุจากการหดตัว และขยายตัว เพื่อปรับความดัน ภายในช่อง หรือโพรงอากาศเหล่านี้กับภายนอก การบาดเจ็บนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งขณะดำลง และลอยตัวขึ้น โดยไม่ขึ้นกับความลึก ขณะดำน้ำลึกลงไป ควรเพิ่มปริมาณอากาศ ในโพรงอากาศให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับความดันของน้ำรอบๆ และเมื่อลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ต้องถ่ายเทอากาศจากโพรงอากาศเหล่านี้ ให้เท่ากับภายนอก ถ้าไม่สามารถปรับได้ จะทำให้เกิดการฉีกขาด และบอบช้ำของเนื้อเยื่อรอบโพรงอากาศ หรือช่องอากาศปิดเหล่านี้ อวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่เป็นช่องอากาศปิดภายในร่างกาย ได้แก่ หู ปอด ระบบทางเดินอาหาร จมูก ฟัน
อาการและอาการแสดงที่พบจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่เกิด ดังนี้
การบีบกดของหูชั้นกลาง
เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด แต่ไม่รุนแรงมาก
สาเหตุ
- ดำน้ำขณะที่ท่อยูสเตเชี่ยนภายในหูชั้นกลางถูกอุดตัน
- ไม่สามารถดันอากาศเข้าหูได้ขณะดำลง ทำให้หูชั้นกลางไม่สามารถปรับความดัน ให้สมดุลกับแรงดันจากหูชั้นนอก แรงกดดันภายนอกจึงดันเยื่อแก้วหูฉีกขาด
ปัจจัยเสริมให้หูชั้นกลางมีปัญหา
- ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ
- การแพ้อากาศ
- เนื้องอกของท่อยูสเตเชี่ยน
- การไม่ปรับความกดดันในหูชั้นกลางหรือป๊อบก่อน หรือดำลงเร็วเกินไป
- การสูบบุหรี่
อาการและอาการแสดง
- ปวดภายในหูขณะดำลง และหายปวดทันทีถ้าเยื่อแก้วหูขาด แต่จะมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนแทน
- เยื่อแก้วหูบวมและแดง
- มีเลือดออกเข้าไปในเยื่อแก้วหู หรือหูชั้นกลาง
- น้ำลายมีเลือด
- มีเลือดออกมาภายนอก ถ้าเยื่อแก้วหูฉีกขาด
การบีบกดของหูชั้นนอก
สาเหตุ
- การบีบกดของเครื่องแต่งกาย
- ใช้เครื่องอุดหู หรือมีวัสดุปิดหูชั้นนอก
- การแพ้อากาศ การเป็นหวัด
- ไม่ปรับความกดดันในหูชั้นกลางหรือป๊อบก่อน
อาการและอาการแสดง
- คล้ายการบีบกดของหูชั้นกลาง
- มักพบเห็นตุ่มพองมีเลือดบนเยื่อแก้วหู หรือรอบเยื่อแก้วหู หรือในช่องหู
- ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุอาการปวดจะหายไป มีอาการเวียนศีรษะ และทรงตัวไม่อยู่ชั่วขณะหนึ่ง
- หูอื้อ การได้ยินเสียงลดลง
- เยื่อแก้วหูอาจทะลุ
การบีบกดโพรงอากาศในกระดูก (ไซนัส)
มนุษย์มีโพรงกระดูก (ไซนัส) ที่มีช่องทางติดต่อกับโพรงจมูก แต่ภาวะบางอย่าง ทำให้ช่องทางติดต่อนี้อุดตัน เช่น หวัด การแพ้อากาศ ไซนัสอักเสบ จึงทำให้โพรงดังกล่าวไม่มีช่องทางติดต่อกับโพรงจมูก
สาเหตุ
เกิดจากภาวะถูกอุดกั้นของช่องเปิดจากจมูกไปสู่โพรงอากาศในกระดูก เมื่อดำน้ำลงไป ทำให้ความดัน ในโพรงจมูกมีมากกว่าความดันของอากาศในโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุ ให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อในโพรงอากาศ
อาการและอาการแสดง
- มีอาการปวดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะที่โหนกแก้ม และเหนือหัวคิ้วข้างเคียง หรือทั้งสองข้าง ระหว่างการดำน้ำลงไป
- มีน้ำมูกและเลือดออกจากจมูก เมื่อลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ
- กดเจ็บบริเวณเหนือโพรงอากาศในกระดูกเหล่านั้น
การบีบกดปอด/ภาวะปอดฉีก
เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความกดดัน ชนิดที่มีอันตรายรุนแรงมากสำหรับนักดำน้ำ
สาเหตุ
การบีบกดเกิดขึ้นเมื่อก๊าซในปอดถูกบีบอัดให้เล็กลงกว่าปริมาตรของปอดเกิดขึ้นในขณะที่
- มีการดำน้ำลงลึกเกินไประหว่างการดำน้ำตัวเปล่า
- กลั้นหายใจระหว่างการดำลงไป และขณะใช้เครื่องอุปกรณ์ดำน้ำ
- อุปกรณ์ดำน้ำชนิดถังติดตัวเสีย หรือการส่งอากาศขัดข้องขณะดำลง
- เกิดร่วมกับการบีบกดทั่วไปในชุดดำน้ำลึก และบางครั้งเกิดร่วมกับการบีบกดหน้ากากดำน้ำ เมื่อดำขึ้น มีการระบายของอากาศหรือก๊าซไม่เท่ากับการขยายของเนื้อเยื่อปอด อากาศในปอดขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยที่ปอดไม่ได้ขยายปริมาตรตาม จนถุงลมปอดฉีกขาด เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อปอด มีฟองอากาศหลุดเข้าเส้นเลือด ไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะสำคัญอื่นๆ เช่น สมอง นอกจากนี้ ฟองอากาศบางส่วน ไปอยู่ใต้ผิวหนัง เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น
ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดอาการ
การอุดตันของช่องทางเดินอากาศภายในร่างกาย โรคปอดต่างๆ เช่น หอบหืด ปอดอักเสบ เนื้องอกในปอด
อาการและอาการแสดง
- มีความรู้สึกว่า มีการบีบอัดทรวงอกระหว่างดำลง
- ปวดแน่นหน้าอก
- หายใจลำบาก ในขณะที่กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ
- เสมหะเป็นฟอง และมีเลือดปน
ภาวะฟองอากาศอุดหลอดเลือด
เป็นกระบวนการขยายตัวของอากาศที่อยู่ภายในปอด อาจเป็นอากาศที่หายใจ หรืออากาศที่เป็นก๊าซผสม ระหว่างการลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยการกลั้นหายใจ อากาศในปอดจะขยายตัวขณะที่ความดันภายนอกรอบๆ ตัวลดลง เมื่อขยายตัวมากจนเต็มปอด หรือจนเกินความสามารถของถุงลมปอดที่จะเก็บอากาศไว้โดยไม่มีการระบายออก แต่คนนั้นยังคงกลั้นหายใจอยู่ ความดันภายในถุงลมปอดจะสูงกว่าความดันที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ปอดมีการขยายตัวเกินกว่าปกติ เมื่อถึงจุดหนึ่งถุงลมปอดฉีกขาดและมีอากาศรั่วออกมา แล้วเข้าไปในหลอดเลือดรอบถุงลมปอด หรือเข้าไปในเนื้อเยื่อรอบๆ หรือทั้งสองอย่าง ถ้าปริมาณฟองอากาศมากพอภายใต้ความกดดันสูงจะแทรกผ่านเนื้อเยื่อไปที่คอเยื้อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มปอด และไปปรากฏเป็นฟองก๊าซใต้ผิวหนังส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งไปตามกระแสโลหิต ในที่สุดไปอุดตันหลอดเลือดเล็กๆ ของอวัยวะต่างๆ ถ้าเป็นอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นเลือดสมอง หรือเส้นเลือดหัวใจ แล้วไม่สามารถนำผู้ป่วยเข้าห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้ทันที อาการที่เกิดขึ้นมักเกิดตอนใกล้จะถึงผิวน้ำ หรือภายใน ๑๐ นาที ก่อนจะถึงผิวน้ำ
สาเหตุ
- การกลั้นหายใจ โดยตั้งใจ ขณะลอยตัวขึ้น เช่น นักดำน้ำสมัครเล่นขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยการกลั้นหายใจ
- โรคต่างๆ ของปอดที่มีโพรง หรือกระเปาะที่มีอากาศค้างอยู่ ทำให้จำกัดการไหลเวียนของอากาศจากบริเวณต่างๆ ภายในปอด เช่น ปอดบวม มีแผลเป็นในเนื้อเยื่อปอด
- ความดันที่เปลี่ยนแปลงในความลึกที่ตื้นมาก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยในการดำน้ำที่ความลึกน้อยกว่า ๓๖ ฟุต
อาการและอาการแสดง
- อ่อนเพลีย มึนงง เวียนศีรษะ
- ชา แขนขาอ่อนแรง
- รู้สึกแน่นในลำคอ เสียงมีการเปลี่ยนแปลง
- เจ็บในทรวงอก มีความรู้สึกปวดใต้กระดูกหน้าอกเหมือนถูกทุบ
- หายใจขัด มีน้ำลายเป็นฟองปนเลือด
- มีอาการเขียวของผิวหนัง ริมฝีปาก เล็บมือ
- เคลื่อนไหวผิดปกติ เดินโซเซ ทรงตัวลำบาก
- พูดไม่รู้เรื่อง มองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัด
- หมดสติทันทีเมื่อถึงผิวน้ำ อาจมีการชักและหยุดหายใจ
การรักษา
มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ นำกลับไปสู่ความกดดันอีกครั้ง โดยใช้ห้องปรับบรรยากาศ
ฟองอากาศอุดตันในหลอดเลือดแดง
ภาวะพร่องออกซิเจน
คือ ภาวะที่นักดำน้ำมีออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของเซลล์ ในร่างกาย
สาเหตุ
- ขาดการส่งอากาศจากพื้นดินลงไปให้ใต้น้ำ หรือมีอากาศไม่เพียงพอ
- ปริมาณออกซิเจนหมด โดยเฉพาะในถังอากาศที่มีก๊าซผสมโดยที่ไม่ได้ใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ หรือความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในก๊าซผสมที่ต่ำเกินไป
- หายใจไม่พอ เนื่องจากประหยัดอากาศ โดยการตั้งอัตราการไหลของก๊าซต่ำเกินไป หรือปริมาณออกซิเจนส่วนหนึ่งถูกดึงไปใช้ในปฏิกิริยาการเกิดสนิมของถังอัดอากาศแบบถังเหล็ก
- กลั้นหายใจดำน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มีไม่พอถึงจุดกระตุ้นให้เกิดการหายใจ นักดำน้ำจึงหมดสติก่อนโดยไม่มีอาการเตือนให้ดำขึ้น เป็นการหมดสติขณะดำน้ำขึ้น
อาการและอาการแสดง
- สูญเสียการคิด หรือการทำงานที่ละเอียดไป
- มีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสน เชื่องช้า งุ่มง่าม
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง ตัดสินใจผิดพลาด
- การยืน หรือเดินลำบาก แต่มักรู้สึกตัวดี ไม่หมดสติ
- มีอาการตัวเขียว
- หมดสติ หยุดหายใจ เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือทันที
อาการเมาไนโตรเจน
เกิดจากการได้รับก๊าซไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนผสมของอากาศที่ใช้หายใจจากอุปกรณ์ช่วยหายใจใต้น้ำ เมื่อบรรยากาศใต้น้ำมีความกดดันสูง จะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้ อาการที่เกิดขึ้นมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความลึก และความทนทานของแต่ละบุคคล อาการมักเริ่มที่ความลึกประมาณ ๑๐ เมตร (๓๓ ฟุต) อาการเมาไนโตรเจนเหมือนกับอาการเมาสุราเกือบทุกอย่าง ที่แตกต่างคือ ไม่มีอาการเมาค้างเมื่อลอยตัวกลับขึ้นมาสู่ที่ตื้น อาการเมาจะหายไป ไม่มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ และเมื่อระดับความลึกเพิ่มขึ้น จะมีฤทธิ์เหมือนยาสลบ ทำให้สติสัมปชัญญะของนักดำน้ำเสียไปความจำเสื่อมลง การตัดสินใจเชื่องช้า การตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า ประสาทหลอนและอาจหมดสติ
ต่อไปนี้เป็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามความลึกของการดำน้ำ
- ๓๓-๙๙ ฟุตน้ำทะเล มีอาการครึ้มอกครึ้มใจ
- ๙๙-๑๖๕ ฟุตน้ำทะเล รู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป การคำนวณผิดพลาด
- ๑๖๕ ฟุตน้ำทะเล ง่วงนอน ประสาทหลอน สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ
- ๑๖๕-๒๓๑ ฟุตน้ำทะเล พูดมาก พูดไม่หยุด หัวเราะคล้ายบ้าคลั่ง
- ๒๓๑-๒๙๗ ฟุตน้ำทะเล ตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้า ขาดความสนใจ จิตใจสับสน ความจำเสื่อม
- ๒๙๗ ฟุตน้ำทะเล ประสาทหลอน หมดสติ เสียชีวิต
การช่วยเหลือ
นำผู้ป่วยขึ้นสู่ผิวน้ำ อาการเมาจะหายไป
ข้อสังเกต
การดำน้ำ โดยใช้อากาศผสมที่มีก๊าซไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ต้องจำกัดไว้ที่ความลึกไม่เกิน ๒๐๐ ฟุต (๖๐ เมตร) เท่านั้น
ภาวะการเป็นพิษของก๊าซออกซิเจน
สาเหตุเหมือนภาวะเมาไนโตรเจน โดยมีการได้รับออกซิเจนบริสุทธิ์ที่ความดันสูงในระดับความลึกมากๆ หรือในคนที่มีปฏิกิริยาไวเกินปกติต่อการเป็นพิษของออกซิเจน
อาการและอาการแสดง
ขึ้นอยู่กับระดับความลึก ระยะเวลาในการดำ และความทนทานของแต่ละบุคคล โดยการเป็นพิษแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท
ประเภทที่ ๑ พิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีความผิดปกติในการมองเห็น ตาพร่า ลานสายตาแคบลง มีความผิดปกติของการได้ยิน รู้สึกคลื่นไส้ มีการกระตุกของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อใบหน้าและปาก หงุดหงิด ฉุนเฉียว โกรธง่าย มึนงง วิงเวียนศีรษะ สำหรับอาการที่เป็นอันตรายต่อนักดำน้ำที่สุด คือ การชักในน้ำ เป็นสาเหตุให้จมน้ำตายได้
ประเภทที่ ๒ พิษต่อปอด มักพบในนักดำน้ำที่หายใจเอาออกซิเจน ๑๐๐% ในระดับความลึกไม่มากนัก แต่ระยะเวลาในการดำนาน อาการที่พบได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก เป็นมากตอนหายใจเข้า อาการไอจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
การช่วยเหลือ
ป้องกันอันตรายจากการชัก นำเข้าห้องปรับบรรยากาศ ให้การปฐมพยาบาลและนำขึ้นสู่ผิวน้ำ
ภาวะคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป
สาเหตุ
- ขาดการส่งอากาศ หรือส่งอากาศไม่เพียงพอ
- ให้อากาศหายใจน้อยเกินไปในชุดประดาน้ำลึก
- มีความล้มเหลวในการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในถังอากาศชนิดติดตัวออก
- ออกกำลังมากเกินไป หรือความต้องการอากาศหายใจเพิ่มขึ้น
- มีการหายใจแบบควบคุมมากเกินไป คือ หายใจเข้า-ออกช้าลง
อาการและอาการแสดง
- หายใจเร็วและแรงแบบหิวอากาศ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้
- เหงื่อออกมากผิดปกติ ความคิดไม่แจ่มใส
- ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง สับสน งุ่มง่าม เชื่องช้า
การช่วยเหลือ
หยุดการเคลื่อนไหว ให้พัก ให้หายใจด้วยออกซิเจนที่ระดับน้ำทะเลปกติ
ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ
เมื่อดำน้ำลึกลงไป ความดันย่อยของคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มขึ้น และละลายในเลือดเพิ่มขึ้น มีการรวมตัวกับเฮโมโกลบินทำการแย่งที่ของออกซิเจน ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
สาเหตุ
มีการปนเปื้อนของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศที่ผู้ดำน้ำใช้หายใจ เนื่องจากมีน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปในเครื่องอัดอากาศ หรือท่อรับอากาศของเครื่องอัดอากาศอยู่ใกล้ท่อไอเสียมากไป
อาการและอาการแสดง
- รู้สึกตื้อบริเวณหน้าผาก ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย รู้สึกสับสน
- การเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตใจอย่างอื่นคล้ายภาวะพร่องออกซิเจน
- ริมฝีปาก เล็บ และผิวหนังมีสีแดงผิดปกติ
- หมดสติ
การช่วยเหลือ
- นำขึ้นสู่ผิวน้ำ ให้อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ให้ออกซิเจนถ้ามี
- ให้ออกซิเจนต่อเนื่องในห้องปรับบรรยากาศ