เล่มที่ 40
แร่เหล็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสำรวจแร่เหล็ก

การสำรวจแหล่งแร่และวัตถุดิบสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นตอน โดยเรียงตามลำดับดังนี้

๑. การสำรวจธรณีวิทยาระยะไกล

            วิธีการสำรวจธรณีวิทยาระยะไกล หมายถึง การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม โดยใช้การแปลความหมายของลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน บนภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม จัดทำเป็นแผนที่โครงสร้างทางธรณีวิทยา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ของขอบเขตการแผ่กระจายของแหล่งและวัตถุดิบ ในบริเวณที่ต้องการสำรวจ ทั้งนี้ จะเป็นส่วนช่วยในการวางแผนการสำรวจและตรวจสอบความเป็นไปได้ในภาคสนามต่อไป


การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากภาพถ่ายดาวเทียม เป็นวิธีการสำรวจธรณีวิทยาระยะไกล

๒. การสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิว

            วิธีการสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิว หมายถึง การตรวจสอบภาคสนาม โดยการศึกษาดินและหินที่โผล่ตามภูเขา ร่องห้วย บ่อน้ำ หรือพื้นผิว ที่มีการขุดเปิดหน้าดินออกไป เช่น ตัดถนน ขุดสระน้ำ ขุดไถที่ดินทำการเกษตร เก็บตัวอย่างดินและหิน เพื่อวิเคราะห์ และทดสอบสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ แล้วรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำเป็นแผนที่ธรณีวิทยาแสดงโครงสร้างทางธรณีวิทยา และขอบเขตการแผ่กระจายของชั้นดินและชั้นหิน รวมทั้งแหล่งแร่หรือแหล่งวัตถุดิบที่ต้องการ ทำให้สามารถคัดเลือกพื้นที่ศักยภาพ ที่มีโอกาสจะขุดพบแหล่งแร่หรือวัตถุดิบดังกล่าว และประเมินความเป็นไปได้เบื้องต้นสำหรับการเจาะตรวจสอบหรือขุดหลุมสำรวจ ในระดับความลึกจากผิวดิน เพื่อประเมินปริมาณสำรองและตรวจสอบคุณภาพในขั้นต่อไป


การศึกษาดินและหิน เพื่อเก็บตัวอย่าง เป็นวิธีการสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิว

๓. การสำรวจธรณีวิทยาใต้ดิน

            วิธีการสำรวจธรณีวิทยาใต้ดิน เป็นการสำรวจในขั้นรายละเอียดต่อเนื่องจากการสำรวจธรณีวิทยาพื้นผิว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ วิธีดังนี้


๑) การขุดหลุมสำรวจและขุดร่องสำรวจ ใช้สำหรับแหล่งแร่ที่อยู่ไม่ลึกจากผิวดิน โดยการขุดด้วยแรงงานคนหรือรถขุด ที่ระดับความลึกตั้งแต่ ๑-๑๐ เมตร