ความหมายและความเป็นมา
เมื่อกล่าวถึงการศึกษาของพระสงฆ์โดยทั่วๆ ไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล การศึกษาของผู้ที่เข้ามาบวช ในพระธรรมวินัยมีอยู่ ๒ ด้านด้วยกัน เรียกว่า "ธุระ" คือ

๑. คันถธุระ
หมายถึง การศึกษาพวกคัมภีร์ คือ พระพุทธพจน์ ต่อมาก็ศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา คัมภีร์ปกรณ์วิเสส รวมทั้งปกรณ์ทั่วๆ ไป ซึ่งต้องอาศัยการกำหนดจดจำเป็นอย่างมาก
หนังสือพระไตรปิฎก
๒. วิปัสสนาธุระ หมายถึง การปฏิบัติกรรมฐานทั้งด้านสมถะและวิปัสสนา เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส เหมาะสำหรับผู้ที่จะเข้ามาบวชเพื่อฝึกด้านปฏิบัติ การปฏิบัติด้าน "สมถะ" ก็เพื่อทำจิตใจให้สงบระงับจากกิเลสชั่วคราว ส่วนการปฏิบัติด้าน "วิปัสสนา" เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน บังคับควบคุมไม่ได้) ซึ่งเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง คือ บรรลุถึงนิพพาน อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
พระภิกษุปฏิบัติกรรมฐาน
ในประเทศไทยได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์บางพระองค์มีพระราชศรัทธาแรงกล้า ถึงกับทรงพระผนวชเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้ทรงศึกษาพระพุทธวจนะ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา จนทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญ ในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ สามารถทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเล่มแรก ของไทย นั่นคือ "เตภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิพระร่วง" ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงมีความรอบรู้พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม รวมทั้งเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ ที่ทรงมีความรอบรู้พระพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือที่โดยทั่วไปรู้จักกันในพระนามว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง" ผู้ทรงพระนิพนธ์วรรณคดี "นันโทปนันทสูตรคำหลวง"
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเป็นระยะเวลาหนึ่ง และเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ ได้บรรพชาอุปสมบทและศึกษาพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน จนทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
แม่ชีฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบ
ตามประเพณีไทยที่สืบทอดต่อกันมา เมื่อกุลบุตรมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว จะต้อง "บวช" เป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อย ๓ เดือน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยให้สมกับได้ชื่อว่าเป็น "ชาวพุทธ" หรือ "พุทธศาสนิกชน" การบวชอย่างนี้เรียกว่า "บวชเรียน" เพราะเมื่อมาบวชแล้วจะต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และที่กำหนดให้บวช ๓ เดือนนั้น ก็เพื่อให้ศึกษาเรื่อง "พระวินัย" ที่ภิกษุจำเป็นต้องรู้ เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในเดือนแรก เดือนที่ ๒ ให้ศึกษา "ธรรมะทั่วไป" ที่ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะต้องรู้ และในเดือนที่ ๓ ซึ่งเป็นเดือนสุดท้าย จะต้องศึกษา "คิหิปฏิบัติ" คือ ข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน เมื่อลาสิกขาออกไปมีครอบครัว จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็น "สามี" ที่ดีของภรรยา เป็น "บิดา" ที่ดี ของบุตรธิดา และจะได้มีความรู้มากพอที่จะอบรมสั่งสอนภรรยาและบุตรธิดา ให้เป็นคนดี มีศีลมีธรรม สำหรับจะดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต
ในสมัยอยุธยา ภิกษุที่บวชเรียนในวัยหนุ่มจะศึกษา "คันถธุระ" เพื่อนำความรู้นี้ไปเทศนาสั่งสอนประชาชนให้เข้าใจในหลักธรรม ของพระพุทธศาสนา ภิกษุประเภทนี้เรียกว่า "คามวาสี" คือ ผู้ที่พำนักตามวัดในเขตบ้าน เขตชุมนุมชน เพื่อสะดวกแก่การออกบิณฑบาต ส่วนภิกษุที่สนใจในภาคปฏิบัติ หรือบวชเมื่ออายุมากแล้ว จะศึกษาในเรื่องสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน แล้วจึงออกจาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อหาที่สงบเหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน หรือที่เราเรียกกันว่า "ออกธุดงค์" หรือ "ไปรุกขมูล" ซึ่งต้องไปอยู่ตามโคนต้นไม้และป่าเขาลำเนาไพร ภิกษุประเภทนี้เรียกว่า "อรัญวาสี" หรือ "วนวาสี" แปลว่า ผู้อยู่ป่า ปัจจุบันพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร จะมีกุฏิอยู่ ๒ แบบคือ แบบหนึ่งคล้ายตึกแถว สำหรับภิกษุสามเณรที่เรียนคันถธุระ และมี "หอฉัน" สำหรับใช้เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ร่วมกัน ตอนค่ำจะมีการท่องและทบทวนหนังสือ ที่ได้เล่าเรียนมา ส่วนกุฏิอีกแบบหนึ่งแยกเป็นหลังๆ อยู่ตามลำพัง มักเรียกว่า "คณะกุฏิ" สำหรับภิกษุที่เน้นหนักไปในทางเจริญกรรมฐาน จะได้มีที่สงบเพื่อการเจริญกรรมฐานโดยเฉพาะ